'หมอธีระ' อัปเดต 'โควิด-19' ในอเมริกา สายพันธุ์ XBB.1.5 มีแนวโน้มลดลง

'หมอธีระ' อัปเดต 'โควิด-19' ในอเมริกา สายพันธุ์ XBB.1.5 มีแนวโน้มลดลง

"หมอธีระ" อัปเดตความรู้ "โควิด-19" ในอเมริกา สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ยังครองสัดส่วนระบาดหลัก มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วน XBB.1.16 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า อัปเดตความรู้โควิด-19

สายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดในอเมริกา

ข้อมูลจาก US CDC จนถึง 10 มิถุนายน 2566 ได้ประเมินว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ยังครองสัดส่วนระบาดหลักอยู่ที่ 39.9% โดยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ในขณะที่สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 เพิ่มขึ้นเป็น 18.2% โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

ส่วนรองลงมาคือ XBB.1.9.1 อยู่ที่ 12.5%

ตามมาด้วย XBB.1.16.1 และ XBB.1.9.2 ซึ่งพบในสัดส่วน 8.4% เท่ากัน

และ XBB.2.3 ซึ่งเป็น Variant under Monitoring (VUM) ที่องค์การอนามัยโลกจับตามองอีกสายพันธุ์ย่อยหนึ่ง ยังพบอยู่ที่ 6%

ลักษณะข้างต้น พอจะชี้ให้เห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ในอเมริกา ที่น่าจะมีความคล้ายคลึงกับภูมิภาค Australasia มากขึ้นในไตรมาสถัดไปจากนี้

ทั้งนี้มีนักวิทยาศาสตร์บางท่าน เช่น Weiland JP ได้ประเมินว่าน่าจะส่งผลให้มีการป่วยนอนโรงพยาบาลในอเมริกามากขึ้นได้เช่นกันจากการเพิ่มขึ้นของ 1.16.x, 1.9.x, 2.3

\'หมอธีระ\' อัปเดต \'โควิด-19\' ในอเมริกา สายพันธุ์ XBB.1.5 มีแนวโน้มลดลง

Metformin สำหรับรักษาโควิด-19 และป้องกัน Long COVID

จากงานวิจัยที่เคยเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อปีที่แล้วว่าช่วยลดเสี่ยงป่วยจนต้องไปรักษาที่แผนกฉุกเฉิน นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้ราว 42% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 6%-65%)

ล่าสุด งานวิจัยที่เผยแพร่ใน The Lancet Infectious Diseases เมื่อสองวันก่อน ได้ศึกษาการให้ยา Metformin เช่นกัน พบว่าช่วยลดปริมาณไวรัสในเลือดได้ และที่สำคัญคือ ลดเสี่ยง Long COVID ได้ราว 40% โดยอัตราการเกิดปัญหา Long COVID ณ 300 วันหลังติดเชื้อ ในกลุ่มที่ไม่ได้ยานั้นอยู่ที่ 10.4% ในขณะที่กลุ่มที่ได้ยาจะเหลือ 6.3%

หากคำนวน Number needed to treat ก็จะได้ราว 25 แปลว่า ถ้าใช้ยาไป 25 คนจะช่วยลดเสี่ยงเกิด Long COVID ได้ 1 คน

ทั้งนี้งานวิจัยข้างต้นศึกษาในกลุ่มประชากรวัย 30-85 ปี ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน มีดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป

ขนาดยาที่ใช้คือ Metformin (500 mg) 1 เม็ดในวันแรก, จากนั้นเพิ่มเป็น 1 เม็ด วันละสองครั้ง ตั้งแต่วันที่ 2-5, และต่อด้วย 1 เม็ดเช้า 2 เม็ดเย็นจนครบ 14 วัน โดยควรเริ่มยาภายใน 3 วันหลังจากที่มีอาการป่วย

 

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของผลการศึกษาข้างต้นคือ ยังไม่สามารถใช้กับกลุ่มประชากรอื่นที่อายุน้อยกว่า 30 ปี รวมถึงคนที่น้ำหนักตัวปกติ หรือมีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 25 ได้

ยา Metformin จึงเป็นที่สนใจของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกขณะนี้ เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยมาตรฐานที่พิสูจน์สรรพคุณอย่างเป็นขั้นตอน และราคาถูก แม้กลไกที่อธิบายสรรพคุณนั้นจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ข้อมูลในห้องปฏิบัติการชี้ให้เห็นว่ายามีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้คาดว่ากลไกนี้อาจมีส่วนในการลดเสี่ยงป่วยรุนแรง และลดเสี่ยง Long COVID ได้

 

อ้างอิง

1. Randomized Trial of Metformin, Ivermectin, and Fluvoxamine for Covid-19. NEJM. 18 August 2022.

2. Outpatient treatment of COVID-19 and incidence of post-COVID-19 condition over 10 months (COVID-OUT): a multicentre, randomised, quadruple-blind, parallel-group, phase 3 trial. The Lancet Infectious Diseases. 8 June 2023.

3. Covid-19: Metformin reduces the risk of developing long term symptoms by 40%, study finds. BMJ. 8 June 2023.