‘แก่’ หรือ ‘หนุ่ม' อยู่ที่ใจ | วรากรณ์ สามโกเศศ

‘แก่’ หรือ ‘หนุ่ม' อยู่ที่ใจ | วรากรณ์ สามโกเศศ

มีข้อเขียนหนึ่งที่แพร่หลายอยู่ในอินเตอร์เน็ตอย่างน่าสนใจยิ่งของผู้ใช้นามว่า “วัลลภ นักจิตบำบัด”    ผู้เขียนขออนุญาตนำมาสื่อสารต่อและค้นคว้าเพิ่มเติมสำหรับ“อาหารสมอง” วันนี้     ข้อเขียนนี้มีชื่อว่า “ผลวิจัยจากฮาร์วาร์ด  ส.ว.ลองย้อนวัย”

“คนแก่วัยเจ็ดสิบกว่ากลุ่มหนึ่งเดินทางย้อนเวลาไปในปี ค.ศ. 1959     พวกเขาใช้ชีวิตในอดีต ฟังเพลงจากวิทยุที่เป็นเพลงยุคนั้น   ดูโทรทัศน์ที่ฉายหนังเก่าของช่วงเวลานั้น     เมื่อหวนคืนสู่โลกปัจจุบัน กลับแข็งแรงกว่าเดิม 

   หากคิดว่านี่เป็นพล็อตหนังแฟนตาซีสักเรื่องก็ผิดแล้ว   นี่เป็นเรื่องจริง     ทว่ามันไม่ใช่การเดินทางย้อนเวลาจริง ๆ   มันเป็นการจัดฉาก    นี่คือการทดลองที่เรียก Counterclockwise เป็นแนวคิดของ Ellen Langer ศาสตราจารย์จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

การทดลองทำโดยให้คนแก่กลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตในสถานที่ซึ่งจำลองสิ่งแวดล้อมของปี 1959    เพลงที่ดังผ่านวิทยุเป็นเพลงเมื่อห้าสิบปีก่อน    โทรทัศน์ฉายเรื่องห้าสิบปีก่อน    ประหนึ่งพวกเขานั่งยานเวลาไปปรากฏตัวในโลกเมื่อห้าสิบปีก่อน     

ทุกคนที่เข้าไปในโลกนั้นต้องแต่งตัวตามยุคนั้น    พูดจาโดยใช้ภาษาของยุคนั้น      ห้ามพูดเรื่องที่เป็นเหตุการณ์หลังปี 1959      พูดง่าย ๆ คือ ‘สะกดจิต’ ตัวเองให้คืนอดีต   

เจตนามิได้ต้องการย้อนอดีตเพื่อรำลึกความหลัง     แต่ทดลองเพื่อดูผลทางกายภาพเมื่อสมองเชื่อว่าร่างกายกำลังอยู่ในสภาวะของเมื่อยังหนุ่มสาว

คนจำนวนมากชอบย้อนคิดถึงอดีตอันสุขสม    ถ้าเราสามารถย้อนความคิดความรู้สึกอารมณ์เรากลับไปได้    ทำไมเราไม่สามารถย้อนสภาวะทางกายภาพเราด้วย    อย่างน้อยในระดับหนึ่ง ?

หลังจากหนึ่งอาทิตย์ในโลกอดีตก็ถึงเวลาวัดผลสุขภาพ    ปรากฏว่าแทบทุกคนที่ร่วมการทดลองก้าวออกจากอดีตปี 1959 ด้วยสภาพร่างกายดีขึ้น  ความดันดีขึ้น    ประสาททุกส่วนทำงานดีขึ้น   ความจำดีขึ้น    การฟังและสายตาดีขึ้น   

คนที่เดินถือไม้เท้าเข้าไปในโลกอดีตกลับออกมาด้วยการเดินเองราวกับว่าการหลอกตัวเองว่าอยู่ในอดีต   ทำให้เซลล์ในร่างกายก็คืนอดีตด้วย

การทดลองนี้ชี้ว่า   บางทีเป็นไปได้ว่าจิตสามารถทำงานแบบ ‘ย้อนเวลา’ และทำให้ร่างกายหนุ่มขึ้น   หรือพูดง่าย ๆ คือพลังจิตสามารถคุมร่างกาย

และถ้าจิตสามารถทำเรื่องนี้ได้    ใครจะรู้ว่ามันสามารถมีพลังรักษาหรือทำเรื่องที่มากกว่านี้ได้หรือไม่     บางทีมันอาจสามารถรักษาโรคที่การแพทย์บอกว่ารักษาไม่ได้   

การทดลองยังบอกเป็นนัยว่า   ความแก่อาจเป็นผลจากความคิดว่าเราแก่ มากกว่าความเสื่อมจริง ๆ ทางกายภาพ   

มันอาจแปลว่าคนเราแก่เพราะเราคิดว่าตัวเองแก่     คนเราเมื่ออายุเพิ่ม   จำเป็นต้องแก่ตามอายุด้วยหรือไม่ ?     หรือว่าความแก่เป็นความรู้สึกทางใจ  มากกว่าทางกายภาพ ?   เป็นไปได้ไหมที่เราชะลอความแก่โดยคิดว่าเราไม่แก่ ?

คนจำนวนมากในโลกมีความสุขในวัยเด็ก  หรือมีความทรงจำบางตอนที่ดีมาก  เป็น ‘happy moment’ ที่ทุกครั้งเมื่อระลึกถึง จะมีรอยยิ้มที่ริมฝีปากเสมอ     

บางครั้งในการบำบัดจิตก็สะกดจิตตัวเองโดยระลึกภาพสวยงามเหล่านี้   ทำให้จิตนิ่งขึ้น  และผ่อนคลายเมื่อจิตดี    สุขภาพก็ดีขึ้นด้วย เราอาจไม่มีทางหยุดตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้นทุกวินาที แต่เราอาจหยุดความรู้สึกว่าแก่   

ไม่ว่าการทดลอง Counterclockwise จะใช้ได้กับทุกคนหรือสามารถขยายขอบเขตของมันไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้หรือไม่     มันทำให้เราต้องย้อนคิดใหม่ว่า   บางทีเราถูก ‘สะกดจิต’ ให้อยู่ในกรอบคิดว่าสูงวัยคือ ความแก่     

ตั้งแต่เด็กมาเรามองภาพคนแก่ทำกิจกรรมของคนหนุ่มสาวว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด     มองไปรอบตัวเรา    เราพบว่าคนสูงวัยบางคนแก่หง่อม     บางคนยังกระฉับกระเฉง    เป็นเพราะพันธุกรรมอย่างเดียวเช่นนั้นหรือ ?

  ในเรื่องอายุและความแก่    เรามักมีกรอบคิดเฉพาะอย่าง     เวลาคนสูงอายุลืมเรื่องบางเรื่อง   จะบอกว่า “ฉันแก่แล้ว   จึงขี้ลืม”     เราชอบโยงการขี้ลืมกับความแก่     มันทำให้สังคมเกิดภาพฝังหัวว่า   ถ้าอายุมากก็สมควรขี้ลืม    ซึ่งไม่ถูกเสมอไป   

การขี้ลืมอาจเป็นเพราะนอนไม่พอ หรือไม่สนใจในเรื่อง      นั้น ๆ ก็ได้     อาจไม่ใช่เพราะอายุ     คนสูงวัยจำนวนมากไม่ทำกิจกรรมหลายอย่าง    เพราะสะกดจิตตัวเองว่า “ฉันแก่เกินไป”      เมื่อปวดหลังก็บอกว่า “ฉันแก่   กระดูกจึงเสื่อม”    ความจริงที่ปวดหลังอาจเพราะเผลอยกของหนัก     

ดังนั้นการสร้างกรอบคิดอายุมากคือแก่ จึงอาจทำร้ายเราเอง หรือทำให้เสียโอกาสพบสิ่งดี ๆ ในชีวิต

อาการป่วยหลายอย่างเกิดจากใจป่วย   ใจบอกให้ป่วย    บอกว่าเราจะรู้สึกแย่   ร่างกายก็เชื่อฟัง    ในทำนองกลับกัน    หากเราเปลี่ยนพลังจิตเป็นบวกก็อาจทำให้โรคจริง ๆ ลดลงหรือความแก่หายไป   กล่าวคือ “จิตเป็นนาย   กายเป็นบ่าว”

        ผู้รู้จักคนที่อายุ 74 ยังวิ่งมาราธอน  คนแก่จำนวนไม่น้อย   อายุเลข 90 แล้ว ยังออกกำลังกาย   เต้นรำและทำกิจกรรมอื่น ๆ   

ผมเคยเห็นภาพหญิงชราเตะตะกร้ออย่างสนุกสนานเพราะอยากเตะตะกร้อ    ไม่ได้โยงการเตะตะกร้อกับอายุ    เมื่อไม่ได้คิดโยงว่าคนแก่เตะตะกร้อไม่ได้ก็สนุกกับกิจกรรมที่อยากทำ  คนแก่จึงมักแก่ที่ใจก่อน”

        Ellen Langer เป็นยักษ์ใหญ่ด้านจิตวิทยาของโลก    ปัจจุบันเธออายุ 76 ปี   เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด    ในปี 2009 เธอตีพิมพ์หนังสือชื่อ“Counterclockwise”   ซึ่งมาจากการวิจัยบุกเบิกที่มีชื่อเสียงมากในปี 1979

ดังที่กล่าวข้างต้นเพื่อตอบคำถามที่ว่า “ถ้าเราหมุนนาฬิกากลับได้ในเชิงจิตวิทยา    เราจะสามารถหมุนกลับได้ด้วยในเชิงร่างกายหรือไม่ ?”

          การศึกษาในเรื่องความสูงอายุนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า “กายและจิต” นั้นเชื่อมต่อถึงกันอย่างมากกว่าที่คิดซึ่งนำไปสู่การรักษาพยาบาลทางจิตพร้อมกับทางกายที่มากขึ้นในโลกปัจจุบัน อันแตกต่างกว่าการแพทย์ในสมัยก่อนที่เน้นแต่การรักษาด้านกาย

          คำถามที่กระตุ้นให้คิดข้างต้น เตือนให้นึกถึงข้อความตลกเกี่ยวกับความแก่ที่ว่า “Young at heart, slightly older in other places” (หัวใจยังหนุ่มแต่แก่บ้างเล็กน้อยในส่วนอื่น ๆ”)

      ผู้เขียนข้อความที่นำมาในวันนี้บอกว่ารายละเอียดอยู่ในหนังสือ "ความสุขเล็ก ๆ ก็คือความสุข" (ผู้เขียน วินทร์ เลียววาริณ).