การเมืองเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ | นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์

การเมืองเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ | นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์

ประเด็นทางสุขภาพ ที่เป็นที่สนใจของพรรคการเมืองและสังคมในขณะนี้คือ บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และยังมีข้อถกเถียงว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่ อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 มีข่าวใหญ่จากประเทศอังกฤษว่า รัฐบาลจะแจกผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ฟรี ให้แก่ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ซิกาแรต 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ซึ่งมีระบบและรายชื่อของผู้ที่เข้ารับการรักษา ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อเลิกสูบบุหรี่มวน จะให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ฟรีแก่ผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เป็นจำนวน 1 ล้านราย

สหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบไปด้วย อังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ แต่อังกฤษเป็นประเทศเดียวที่มีนโยบายสนับสนุนการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ช่วยในการเลิกสูบบุหรี่มวน

ในขณะที่เวลส์ สก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ไม่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว

เนื่องจากหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทั่วโลกไม่สามารถยืนยันว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิผลในการช่วยเลิกสูบบุหรี่ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่นๆ ในการเลิกสูบบุหรี่มวน

การเมืองเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ | นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์

แต่อังกฤษกำลังเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่า “ความหายนะทางสาธารณสุข” เนื่องจากอัตราการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน มีเพิ่มมากขึ้น

เด็กและเยาวชนอังกฤษอายุ 11-17 ปี มีอัตราการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4 ในปี พ.ศ. 2563 เป็นร้อยละ 7 ในปี พ.ศ. 2565 และอัตราการ “เคยใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์” เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในปี พ.ศ. 2563 เป็นร้อยละ 16 ในปี พ.ศ. 2565 

ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่มวนในเด็กและเยาวชนลดลงจากร้อยละ 16 ในปี พ.ศ. 2563 เป็นร้อยละ 14 ในปี พ.ศ. 2565

แต่ผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ ก็ยังไม่สามารถอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์ของการที่ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การสูบบุหรี่มวนลดลงในกลุ่มเด็กและเยาวชนอังกฤษได้อย่างไร

ในขณะเดียวกัน มีการเสนอแนะว่า เนื่องจากอังกฤษดำเนินการตามแบบอย่างของออสเตรเลีย ในการอนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น (prescription)

จึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่ามาตรการดังกล่าวจะป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์โดยเด็กและเยาวชนได้หรือไม่ 

  ทั้งๆ ที่มีกฎหมายห้ามขายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เยาวชนอังกฤษอายุ 11-15 ปี มีอัตราการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 ในปี พ.ศ. 2561 เป็นร้อยละ 9 ในปี พ.ศ. 2565

การเมืองเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ | นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์

นอกจากนี้ ร้อยละ 13 ของเยาวชนที่ใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มวนมาก่อน ซึ่งหมายถึงว่าไม่ได้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเลิกการสูบบุหรี่มวน (Smoking, Drinking and Drug Use among Young People in England, 2021.)

นี่เป็นความกังวลที่ทุกฝ่ายต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยในการเลิกสูบบุหรี่สำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่

และ “ความหายนะทางสาธารณสุข” เมื่อเยาวชน คนรุ่นใหม่ กลายเป็นประชากรที่เสพติดนิโคตินในรูปแบบของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

สาเหตุสำคัญของการที่เยาวชนอังกฤษใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่อังกฤษห้ามขายแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะสีสันและรสชาติที่หลากหลายของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

โดยเฉพาะประเภทที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (disposable) ซึ่งมีราคาถูก และเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและเยาวชนอังกฤษ ส่งผลให้เพิ่มอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนจากร้อยละ 7.7 ในปี พ.ศ. 2564 เป็นร้อยละ 52 ในปี พ.ศ. 2565 (Use of e-cigarettes among young people in Great Britain. 2022.)

การเมืองเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ | นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์

กลุ่มผู้ที่สนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมายในประเทศไทย และพรรคการเมืองบางพรรค เรียกร้องให้ไทยดำเนินนโยบายตามประเทศอังกฤษ แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีบริบทที่แตกต่างไปจากอังกฤษ

ในขณะที่องค์การอนามัยโลกและประเทศอื่นๆ มีนโยบายที่ห้ามผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน

อังกฤษและไทยแตกต่างอย่างไรในการควบคุมยาสูบ

สิ่งหนึ่งที่อังกฤษแตกต่างจากประเทศไทยในการควบคุมยาสูบคือ อังกฤษให้สัตยาบัณพิธีสารว่าด้วย การขจัดการค้ายาสูบที่ผิดกฎหมาย (Protocol to Eliminate Illicit Trade in Tobacco Product) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559

ในขณะที่ประเทศไทยมีการแต่งตั้งคณะทำงาน เตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าร่วมเป็นภาคีต่อพิธีสารฯ ดังกล่าวเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้แทนจากกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร (กระทรวงการคลัง) สำนักอัยการสูงสุด กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมองค์การระหว่างประเทศ (กระทรวงการต่างประเทศ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทั้งนี้ รายงานของคณะกรรมาธิการด้านการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษายาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (กุมภาพันธ์ 2565) มีข้อเสนอแนะว่า

การเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารฯ จะช่วยประเทศไทยในการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล

สอดคล้องกับการประชุมของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (กันยายน 2565) ที่เสนอแนะว่าการเข้าร่วมในพิธีสารฯ จะช่วยแก้ไขปัญหาการค้าผิดกฎหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าได้ ประกอบกับการประชุมของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (พฤศจิกายน 2565) มีข้อสรุปในแนวทางเดียวกัน

มากไปกว่านั้น งบประมาณที่อังกฤษใช้ในการควบคุมยาสูบ คือหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีสำหรับการควบคุมยาสูบของประเทศไทย ซึ่งแตกต่างกันเกือบ 4 เท่า

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประสิทธิผลในการควบคุมยาสูบจะต้องใช้งบประมาณที่เพียงพอในการดำเนินการมาตรการที่หลากหลายในการควบคุมยาสูบ

การเมืองเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ | นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์

ประเทศอังกฤษเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากมีกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมือง ที่มารวมตัวกันเพื่อการควบคุมยาสูบและสุขภาพ (The All Party Parliamentary Group on Smoking and Health)

กลุ่มนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยมีวัตถุประสงค์ที่เป็นฉันทามติคือ เพื่อเฝ้าระวังและอภิปรายเกี่ยวกับสุขภาพและผลกระทบทางสังคมจากการสูบบุหรี่;

เพื่อทบทวนการเปลี่ยนแปลงในการลดความชุกของการสูบบุหรี่ จากนโยบายและกฎหมายที่มีอยู่; เพื่อประเมินเทคนิคใหม่ๆ ทางการแพทย์ ที่ช่วยในการเลิกสูบบุหรี่; และดำเนินการเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับสมาชิกในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่และสาธารณสุข เลขาธิการของกลุ่มคือ องค์กรรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (Action on Smoking and Health)

มีรายงานของกลุ่ม ซึ่งได้รับการค้นคว้าและสืบค้นข้อมูลโดยภาคีเครือข่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยสิบแห่งในสหราชอาณาจักร (SPECTRUM) และได้รับทุนสนับสนุนจากพันธมิตรในการวิจัยเพื่อการป้องกันแห่งสหราชอาณาจักร (UK Prevention Research Partnership)

เพื่อวิจัยด้านสุขภาพและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายในการป้องกันและควบคุม

รายงานฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยมีข้อเสนอสำหรับแผนการควบคุมยาสูบเพื่อมุ่งสู่ ‘อังกฤษปลอดบุหรี่ภายในปี ค.ศ. 2030’

การดำเนินการโดยรัฐบาลอังกฤษเพื่อยุติการสูบบุหรี่ เป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการ ในฐานะที่อังกฤษเป็นผู้นำระดับโลกด้านการควบคุมยาสูบ และเป็นภาคีที่สนับสนุนอย่างแข็งขันในการบังคับใช้สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านการควบคุมยาสูบคือ

การเมืองเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ | นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์

กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก รัฐบาลอังกฤษมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ของโลกที่จะยุติการแพร่ระบาดของยาสูบ

ถึงแม้ว่า โคโรนาไวรัส 2019 จะทำให้คนอังกฤษเสียชีวิตถึง 80,000 คน ในปี พ.ศ. 2563 ก่อนวัยอันควร แต่การสูบบุหรี่ทำให้ประชากรอังกฤษเสียชีวิตจำนวน 80,000 คนในแต่ละปี ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงมุ่งมั่นที่จะยุติการเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น ด้วยการยุติการสูบบุหรี่

การดำเนินการเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย ‘อังกฤษปลอดบุหรี่ ภายในปี ค.ศ. 2030’ จะไม่สามารถไปถึงเป้าได้ด้วยงบประมาณที่จำกัด

ดังนั้น จึงต้องมีการลงทุนด้วยงบประมาณหลายล้าน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายหลายพันล้านในการรักษาโรคที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ การสูญเสียผลิตภาพจากการพิการ หรือทุพพลภาพที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

แผนการเพื่อให้ถึงเป้าหมาย ‘อังกฤษปลอดบุหรี่ ภายในปี ค.ศ. 2030’ เริ่มการวางแผนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ด้วยแนวคิดในปี พ.ศ. 2562 คือ “ผู้ที่ก่อมลพิษ ต้องเป็นผู้จ่าย” โดยบังคับให้บริษัทยาสูบจ่ายค่างบประมาณในการดำเนินมาตรการต่างๆ ในการควบคุมยาสูบ

ดังรายละเอียดต่อไปนี้ การจัดเก็บภาษีรายปีจากบริษัทผู้ผลิตยาสูบ ตามจำนวนที่กำหนดสำหรับการดำเนินการตามแผนควบคุมยาสูบ (Tobacco Control Plan) และสนับสนุนการบริหารจัดการ

จัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนควบคุมยาสูบ ‘อังกฤษปลอดบุหรี่ ภายในปี ค.ศ. 2030’ ตามสัดส่วนของส่วนแบ่งทางการตลาดจากปริมาณยอดขายบุหรี่มวน

ควบคุมราคาเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทยาสูบจะไม่ผลักภาระไปให้แก่ผู้บริโภค แต่ผู้ผลิตเป็นผู้รับผิดชอบ

จัดพิมพ์รายงานเผยแพร่เกี่ยวกับรายได้ของกองทุนที่มาจากยอดขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ การตลาด และการวิจัย เพื่อให้สามารถประเมินผลและทบทวนการดำเนินการทางนโยบาย / มาตรการ และ

ดำเนินการตามแนวทางใบอนุญาตทางสาธารณสุข ซึ่งต่อยอดมาจากระบบติดตาม และแกะรอย (Track and Trace) ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว

นักการเมือง และว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ควรจะมีวิสัยทัศน์ และจรรยาบรรณแบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ที่รวมตัวกันจากทุกพรรคการเมือง เพื่อผลักดันนโยบาย บังคับให้อุตสาหกรรมยาสูบเป็นผู้จ่ายค่างบประมาณในการดำเนินมาตรการต่างๆ ในการควบคุมยาสูบ

เพราะ “ผู้ที่ก่อมลพิษ ต้องเป็นผู้จ่าย”  แทนที่จะทำตัวเป็น ‘กระบอกเสียง’ ให้อุตสาหกรรมยาสูบ ในการผลักดันให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย

การเมืองเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ | นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์

ผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ยอมรับผิดในการหลอกลวงผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 มีข่าวใหญ่จากสหรัฐอเมริกาว่า บริษัทผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ JUUL Labs ได้ตกลงยอมความและต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ 6 มลรัฐ ที่เป็นโจทก์ในการฟ้อง

เนื่องจากมุ่งเป้าการตลาดไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนอเมริกัน เงื่อนไขหนึ่งของการยอมความครั้งนี้ บริษัท JUUL Labs ต้องยุติการใช้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เป็นผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์ในการโฆษณาและการตลาด ซึ่งเป็นการมุ่งเป้าไปยังเยาวชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

การเมืองเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ | นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์

Letitia James อัยการแห่งมลรัฐ นิว ยอร์ค แถลงข่าวว่า “บริษัท Juul ใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับบริษัทยาสูบระดับโลก ในการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสูขภาพของผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

คือทำให้หลงเชื่อว่ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน และมีปริมาณนิโคตินน้อยกว่าบุหรี่มวน ซึ่งข้อเท็จจริงคือ หนึ่ง พอด (Pod) ของผลิตภัณฑ์ Juul มีปริมาณนิโคตินเท่ากับบุหรี่มวน 1 ซอง”

นอกจากนี้ อัยการ James กล่าวว่า “ตัวแทนของบริษัท Juul Labs กล่าวเท็จต่อนักเรียนมัธยมว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน” 

Rob Bonta อัยการแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “Juul ใช้วิธีการหลอกล่อให้เด็กและเยาวชนติดกับดัก ด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่มีสีสัน ดึงดูด เด็กและเยาวชน

แจกผลิตภัณฑ์ Juul ฟรีที่มีการจัดการแสดงดนตรี และเทศกาลต่างๆ อีกทั้งรูปลักษณ์ที่เพรียว ง่ายต่อการพกพาอย่างซ่อนเร้น และรสชาติหลากหลายที่ดึงดูดเยาวชน” 

เป็นเวลาหลายปีที่รัฐบาลสหรัฐพยายามลดอัตราการสูบบุหรี่มวนในกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่บริษัท Juul Labs กลับทำให้เกิดการแพร่ระบาดของการเสพติดสารนิโคตินในกลุ่มเด็กและเยาวชนอเมริกัน ในรูปแบบของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

การยอมความครั้งนี้เป็นการยอมความครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์สำหรับบริษัท Juul Labs ซึ่งตกลงที่จะชดใช้ความเสียหายเป็นเงินจำนวน 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่มลรัฐ เวอร์จิเนีย ตะวันตก ด้วยข้อหาเดียวกันคือทำการตลาดมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนอเมริกัน

ในเดือนมกราคม 2566 ศาลในนคร ซาน ฟรานซิสโก อนุมัติการยอมความและให้บริษัท Juul Labs ขดใช้เงินจำนวน 255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยข้อหาเดียวกัน

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ศาลของรัฐแคลิฟอร์เนีย อนุมัติการยอมความและการชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเงินระหว่าง 1 พัน 2 ร้อยล้าน ถึง 1 พัน 7 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ 5 พันคดีในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา บริษัท Juul Labs ตกลงยอมความด้วยการชดใช้เงินจำนวน 438.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่ 34 มลรัฐ หลังจากการสืบสวนเป็นเวลา 2 ปีเกี่ยวกับการทำการตลาด และการโฆษณาเพื่อมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน

เมื่อรวมคดีความต่างๆ ที่บริษัท Juul Labs ถูกฟ้อง และยินยอมยุติคดีด้วยการชดใช้ค่าเสียหาย ฐานหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อว่า ‘บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน’ รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท

จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติในอดีตที่ผ่านมา คือ ‘หลวกลวง’ ผู้บริโภคเกี่ยวกับอันตราย และผลกระทบต่อสุขภาพของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น นักการเมืองผู้ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ‘มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน’ สมควรที่จะได้รับการประนามจากสังคมว่าไร้จรรยาบรรณ และไม่สมควรที่จะได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   

เอกสารอ้างอิง
Smoking, Drinking and Drug Use among Young People in England, 2021.  NHS Digital UK.2022. 

Use of e-cigarettes among young people in Great Britain. 2022.  ASH action on smoking and health.