โควิด-สังคมสูงวัย ดันเครื่องมือแพทย์ คาดปี 70 ไทยโตแสนล้านบาท

โควิด-สังคมสูงวัย ดันเครื่องมือแพทย์ คาดปี 70 ไทยโตแสนล้านบาท

ปี 2570 คาดว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกจะมีมูลค่าอยู่ที่ 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย คาดว่าจะมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท อีกทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

Key Point : 

  • จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้ตลาดเครื่องมือแพทย์มีแนวโน้มเติบโต 
  • ปี 2570 คาดว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลก จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ  ขณะที่ไทยคาดว่าจะมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท
  • อีกทั้ง ปี 2565-2566 คาดว่าความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs การใส่ใจสุขภาพ และนโยบาย Medical Hub เป็นต้น

 

วิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องชะลอการผ่าตัด และการก้าวสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้ความต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจาก สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย พบว่า ตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% คาดว่า ในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3.38 พันล้านเหรียญ หรือกว่าแสนล้านบาท ในปี 2570 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8.1% ต่อปี (ปี 2562-2570)

 

ขณะเดียวกัน วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) คาดว่า ปี 2565-2566 ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยได้อานิสงส์จาก

(1) อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

(2) จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566 หลังจากหดตัวถึง 97% ในปี 2564

(3) ผู้ประกอบการโรงพยาบาลมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

(4) กระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย

(5) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองประเภทถุงมือยาง หลอด/เข็มฉีดยา

(6) นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) สำหรับปัจจัยท้าทายทางธุรกิจที่สำคัญคือ การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการไทยมีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าหรือการผลิตจากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย

 

 

โควิด-สังคมสูงวัย ดันเครื่องมือแพทย์ คาดปี 70 ไทยโตแสนล้านบาท

 

 

นวัตกรรมการแพทย์ เพิ่มคุณภาพชีวิต

สไตรเกอร์ หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของโลก ดำเนินการในไทยมากกว่า 8 ปี และได้ทำการเปิดสำนักงานใหม่และขยายสาขาในกรุงเทพฯ สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานที่ขยายตัวมากขึ้นของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความต้องการมากขึ้น พร้อมกันนี้บริษัทได้เร่งนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมล่าสุดมาใช้ในระบบสถานพยาบาลเพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ในการยกระดับการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น

 

โดยทำงานร่วมกับแพทย์ แบ่งปันข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้เข้าใจผู้ป่วยและพัฒนานวัตกรรมให้เหมาะกับความต้องการ โดยผลิตภัณฑ์ของสไตรเกอร์ ครอบคลุมทั้งนวัตกรรมและบริการด้านการแพทย์และศัลยกรรม เทคโนโลยีประสาทวิทยา ศัลยกรรมกระดูกและกระดูกสันหลัง ที่ช่วยให้สุขภาพของผู้ป่วยดีขึ้น

 

โควิด-สังคมสูงวัย ดันเครื่องมือแพทย์ คาดปี 70 ไทยโตแสนล้านบาท

 

เวสลี แกรนท์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป Stryker East Asia กล่าวในงานสัมภาษณ์พิเศษ ว่า ในเอเชียตะวันออก อุปกรณ์การแพทย์เติบโตเร็วในช่วงโควิด-19 เพราะผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องรอในเรื่องของการผ่าตัด ขณะเดียวกัน ประชากรสูงอายุของไทยในทศวรรษหน้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ของประชากรทั้งประเทศ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงประชากรศาสตร์ที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ของไทย ส่งผลให้ความต้องการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และหลอดเลือดสมองของสไตรเกอร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

“การขยายสำนักงานและการดำเนินงานในประเทศไทยเป็นไปเพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น และเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงของบริษัทฯ ที่ได้คิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้สไตรเกอร์มีอุปกรณ์การแพทย์ที่มากพอสำหรับสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและตลาดประเทศแถบเอเชียตะวันออก”

 

หุ่นยนต์ผ่าตัด ผู้ช่วยแพทย์

 

สำหรับการลงทุนล่าสุด สไตรเกอร์ ได้ลงทุนกับนวัตกรรม Robotic assistance surgery หรือ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่กำลังนำเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเริ่มเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ศัลยแพทย์มีข้อมูลและช่วยการตัดสินใจได้ดีขึ้นในขณะที่ทำการผ่าตัด อีกทั้งยังมีนวัตกรรมอื่นๆ ได้แก่ กล้องและจอแสดงภาพ เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถระบุจุดสังเกตได้เร็วขึ้นและแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ ในแต่ละปี สไตรเกอร์ มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมากกว่า 130 ล้านคนทั่วโลกใน 75 ประเทศ และยังคงเป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดในโลกทั้งจากลิสต์ของ Fortune และ Great Place to Work ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พนักงานของสไตรเกอร์ในประเทศไทยเติบโตขึ้นเกือบ 20% อีกทั้ง ยังเดินหน้าทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งนำนวัตกรรมด้านการแพทย์มาใช้ส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าของระบบการรักษาพยาบาลของไทย

 

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วกว่า 150 รายการ ซึ่งมีทั้งด้านการแพทย์และศัลยกรรม เทคโนโลยีด้านประสาทวิทยา และศัลยกรรมกระดูก เป็นต้น ที่ผ่านมา บริษัทในเครือสไตรเกอร์ เอเชียตะวันออก ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม หรือ Operation Smile อย่างต่อเนื่อง ในช่วยเหลือการผ่าตัดแก่ผู้ที่มีปัญหา ปากแหว่ง เพดานโหว่ ในแต่ละปีมีผู้ได้รับการผ่าตัด ประมาณ 400 ราย ทั่วเอเชีย

 

ท้ายนี้ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป Stryker East Asia มองว่า ความท้าทายในอุตสาหกรรมดังกล่าว คือความต้องการที่แตกต่างของผู้ป่วยแต่ละประเทศ อีกทั้ง การทำงานร่วมกับภาครัฐ ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ไปยังผู้ป่วย ซึ่งแต่ละประเทศก็มีบริบทที่แตกต่างกัน