จับสัญญาณ 6 ภาวะโรคไทรอยด์ ‘ก่อนเป็นพิษ’ ช้าอาจเสี่ยง ‘หัวใจวาย’

จับสัญญาณ 6 ภาวะโรคไทรอยด์ ‘ก่อนเป็นพิษ’ ช้าอาจเสี่ยง ‘หัวใจวาย’

โรงพยาบาลพระรามเก้า ชวนทำความรู้จัก 6 โรคไทรอยด์ ที่พบบ่อย เพื่อสังเกตความผิดปกติของ 'ต่อมไทรอยด์' ป้องกันความเสี่ยงอันนำไปสู่ความเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ได้

หากเอ่ยถึง 'โรคไทรอยด์' นับว่าเป็นอีกโรคหนึ่ง ที่ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัว ซึ่งมีแนวโน้มพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แม้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยไว้จนรุนแรง อาจเสี่ยงถึงขั้น 'หัวใจวาย' ในที่สุด

 

นายแพทย์ธัญวัจน์ ศาสนเกียรติกุล ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดไทรอยด์ และการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ต่อมไทรอยด์ (thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีรูปร่างคล้ายปีกผีเสื้อ อยู่บริเวณกึ่งกลางของลำคอ ด้านหน้าหลอดลมต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย

 

ต่อมไทรอยด์มี 2 ข้าง น้ำหนักประมาณ 15 – 25 กรัม ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์และหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อควบคุมการเจริญเติบโต การเผาผลาญและใช้พลังงานของร่างกาย (เมตาบอลิซึมของร่างกาย) คือ thyroxine (T4) และ triiodothyronine (T3) และมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ ตลอดจนมีผลต่อพัฒนาการด้านสมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์

 

6 โรคไทรอยด์ที่พบบ่อย

 

(1) ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ ทำให้ฮอร์โมนเกิน

สาเหตุ 

  • โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน
  • การอักเสบของต่อมไทรอยด์ อาจพบได้ภายใน 1 ปีหลังคลอดบุตร

อาการ

  • หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
  • หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน กระสับกระส่าย เหงื่อออกง่าย
  • มีปัญหาการนอนหลับ
  • มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • น้ำหนักลด
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตา ระคายเคืองตา ไวต่อแสง
  • มองเห็นภาพไม่ชัด เนื้อเยื่อรอบดวงตาบวม ตาโปน

 

จับสัญญาณ 6 ภาวะโรคไทรอยด์ ‘ก่อนเป็นพิษ’ ช้าอาจเสี่ยง ‘หัวใจวาย’

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

(2) ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyroidism) เป็นภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ ภาวะนี้จะตรงข้ามกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

สาเหตุ 

  • ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากการที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายต่อมไทรอยด์ (Hashimoto’s disease) ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายลดลง
  • มีภาวะขาดสารไอโอดีน หรือผ่านการรักษาโรคที่ต้องมีการฉายรังสี

อาการ

  • แสดงไม่ชัดเจน บางรายช่วงแรกอาจมีเพียงเหนื่อยง่าย
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ต่อมาอาจมีอาการผมแห้ง ผมบาง ผิวแห้ง เสียงแหบ หน้าบวม
  • มีปัญหาเรื่องความจำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีภาวะซึมเศร้า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

 

(3) ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็ง (thyroid nodules)

สาเหตุ

  • มักเกิดจากมีการเจริญหรือแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ในต่อมไทรอยด์

อาการ

  • ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่จะเห็นเป็นก้อนที่คอ
  • หากก้อนมีขนาดใหญ่หรือมีหลายก้อนอาจทำให้กลืนอาหารลำบาก
  • แต่ในผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกชนิดที่มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ด้วยก็จะมีอาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย

 

(4) มะเร็งต่อมไทรอยด์ (thyroid cancer) พบได้หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือชนิด papillary thyroid cancer

สาเหตุ 

ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของมะเร็งไทรอยด์แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • การได้รับรังสีต่าง ๆ  ได้รับไอโอดีนจากอาหารไม่เพียงพอ
  • มียีนที่ผิดปกติ ไทรอยด์อักเสบ
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์หรือมะเร็งต่อมไทรอยด์ 

อาการ 

  • มีตั้งแต่ก้อนขนาดเล็ก ๆ ไปจนถึงก้อนขนาดใหญ่
  • หากก้อนมะเร็งใหญ่อาจสังเกตเห็นได้จากภายนอก
  • มีความรู้สึกแน่นที่คอ หายใจลำบากกลืนลำบาก หรือมีเสียงแหบ

 

จับสัญญาณ 6 ภาวะโรคไทรอยด์ ‘ก่อนเป็นพิษ’ ช้าอาจเสี่ยง ‘หัวใจวาย’

 

(5) ภาวะไทรอยด์อักเสบ (thyroiditis)  พบได้บ่อยจะเป็นแบบเรื้อรัง (chronic thyroiditis) หรือเรียกว่า Hashimoto disease และชนิดแบบกึ่งเฉียบพลัน (thyroiditis subacute)

สาเหตุ   

  • สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดมาจากโรคของระบบภูมิคุ้มกันหรือแพ้ภูมิตัวเอง

อาการ  

  • แบบเรื้อรัง : เหนื่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นช้า ปวดกล้ามเนื้อ ท้องผูก ตาและใบหน้าบวม ผิวแห้ง ผิวบาง ผมร่วง ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือมามาก ตั้งครรภ์ยาก มีปัญหาด้านความจำ สมาธิ มีภาวะซึมเศร้า
  • แบบกึ่งเฉียบพลัน : มักมีอาการไข้ ต่อมไทรอยด์โตขึ้น และคลำแล้วมักรู้สึกเจ็บ

 

(6) คอพอก(goiter) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นกว่าปกติ

สาเหตุ 

เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  • ภาวะขาดสารไอโอดีน
  • มีก้อนของต่อมไทรอยด์ทั้งชนิดที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง
  • มีการอักเสบของต่อมไทรอยด์ หรือจากการตั้งครรภ์ เป็นต้น

อาการ 

  • แน่นบริเวณคอ
  • มีเสียงแหบ ไอ หายใจลำบาก
  • หายใจมีเสียงดัง หรือกลืนลำบาก เป็นต้น

 

"ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ในร่างกายได้ ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจพบระยะท้าย ๆ อาจมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นเร็วและเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงภาวะที่นำมาสู่ ‘หัวใจวาย’ ได้ในที่สุด”

 

ลดความเสี่ยงโรคไทรอยด์

 

นายแพทย์ธัญวัจน์ แนะนำว่า แม้ว่าการป้องกันโรคไทรอยด์ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในปัจจุบัน เนื่องจากในบางโรคมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือการทำงานที่ผิดปกติของภูมิคุ้มกัน แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ คือ

  • บริโภคเกลือที่เสริมไอโอดีนหรือรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล เพื่อป้องกันภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปบางชนิด
  • รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ

 

“ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคไทรอยด์โดยที่ไม่รู้ตัวอยู่ในตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เรามักจะพบว่า คนไข้เพิ่งทราบว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ จากการตรวจสุขภาพประจำปีด้วยการเจาะเลือดและการทำอัลตราซาวด์คอ ดังนั้น จึงต้องหมั่นสังเกตและตรวจเช็คอาการป่วยที่ตัวเองเป็นเพื่อช่วยให้ทราบความผิดปกติของไทรอยด์ได้ตั้งแต่แรก ๆ หากพบว่ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคไทรอยด์ชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่กล่าวไปข้างต้น ควรรีบรักษาตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไทรอยด์ เพื่อการรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของโรค ช่วยลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้” นายแพทย์ธัญวัจน์ ทิ้งท้าย