รู้จัก "ไทรอยด์เป็นพิษ" หนึ่งในโรคประจำตัว "ซันนี่ ยูโฟร์" เกิดจากอะไร?

รู้จัก "ไทรอยด์เป็นพิษ" หนึ่งในโรคประจำตัว "ซันนี่ ยูโฟร์" เกิดจากอะไร?

จากกรณี "ซันนี่ ยูโฟร์" ศิลปินยุค 90 เสียชีวิตจากโรคประจำตัว "ไทรอยด์เป็นพิษ" กำเริบ และยังป่วยเป็นโรคอื่นๆ รุมเร้า ชวนรู้ "ไทรอยด์เป็นพิษ" เกิดจากอะไร? ทำไมร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้?

สูญเสียบุคคลในวงการบันเทิงอีกครั้ง เมื่อ "ซันนี่ ยูโฟร์" ศิลปินยุค 90 เสียชีวิตจากโรคประจำตัวหลายๆ โรครุมเร้า และหนึ่งในนั้นคือ "ไทรอยด์เป็นพิษ" เบื้องต้นคนใกล้ชิดเล่าว่า เจ้าตัวป่วยไทรอยด์มานานแล้ว แต่ไม่ยอมไปรักษาตัวจนอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเกลี้ยกล่อมให้ไปรักษาและเจ้าตัวยอมไปในที่สุด แต่ก็ไม่ทันและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

จริงๆ แล้วโรคนี้สามารถควบคุมอาการได้หากเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และกินยาตามแพทย์สั่ง แล้วมีกรณีไหนบ้างที่ผู้ป่วยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงและเสียชีวิต

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปรู้จัก "โรคไทรอยด์เป็นพิษ" ให้มากขึ้น 

 

ต่อมไทรอยด์คืออะไร? ไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากอะไร?

มีข้อมูลจาก นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่เคยอธิบายในบทความวิชาการเอาไว้ว่า "ต่อมไทรอยด์" เป็นต่อมที่อยู่บริเวณลำคอด้านหน้าใต้ลูกกระเดือกและติดกับหลอดลม ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนในการทำงานของร่างกาย 

ส่วนคำว่า "ไทรอยด์เป็นพิษ" คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป เมื่อร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนมากเกินความต้องการ จะมีสภาวะเป็นพิษจนส่งผลเสียต่อร่างกายในด้านต่างๆ เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น ขี้ร้อนง่าย เหงื่อออกมาก หงุดหงิดหรือนอนไม่หลับ โรคไทรอยด์เป็นพิษมักพบได้บ่อยในผู้หญิง มากกว่าผู้ชายประมาณ 5-10 เท่า

 

ไทรอยด์เป็นพิษ มีทั้งแบบแสดงอาการ-ไม่แสดงอาการ

ไทรอยด์เป็นพิษแบบแสดงอาการ : ผู้ป่วยมักจะมีอาการที่สังเกตได้ คือ ร่างกายมีการเผาผลาญสูงกว่าปกติ ทำให้น้ำหนักตัวลดลงรวดเร็ว ซูบผอม ใจสั่น มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอโตขึ้น ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก หงุดหงิดง่าย ตาโปน ผมร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะแขนขา บางรายอาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยคล้ายท้องเสีย และอาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกพรุน 

ไทรอยด์เป็นพิษแบบไม่แสดงอาการ : ผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรง อาจไม่มีอาการแสดงใดๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ไม่ค่อยแสดงอาการอย่างชัดเจนมากนัก จึงต้องหมั่นสังเกตและตรวจเช็กอาการป่วยที่ตัวเองเป็น หากพบว่ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย 

ทำไม "ไทรอยด์เป็นพิษ" ทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี อธิบายว่า 

ในภาวะที่ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ ผู้ป่วยจะมีอาการ

  • หัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติ
  • มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ตัวและตาจะเหลือง
  • สับสนมึนงงอย่างรุนแรง
  • มีภาวะขาดน้ำและอาจช็อกได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจพบไประยะท้ายๆ อาจมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย สาเหตุมาจากหัวใจเต้นเร็วและเต้นผิดจังหวะ ดังนั้น เมื่อพบว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพบแพทย์ เพราะถ้าเป็นไทรอยด์เป็นพิษ แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทาให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต

โดยสรุปคือ ไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากฮอร์โมนร่างกายของเราเองที่ทำงานผิดปกติ ดังนั้นจึงไม่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

สำหรับผู้ป่วยที่รักษาอยู่แล้ว ปกติแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่ และยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่เดิม ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาเอง และไม่ควรหยุดยาเอง แต่ต้องไปปรึกษาแพทย์ หากอาการดีขึ้น ผลเลือดดีขึ้น แพทย์จึงจะค่อยๆ ลดยาลง ในบางรายอาจหยุดยาได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตามแพทย์ก็จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับกับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้

--------------------------------------------

อ้างอิง : กรมการแพทย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล