ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน ! เช็ก 5 สัญญาณเตือน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน ! เช็ก 5 สัญญาณเตือน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

เดือนพฤษภาคม ถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ สร้างความตระหนัก อาการปวดท้องน้อย 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' เตือนสตรีไทย ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน เพราะอาจเป็นอาการของ 'เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่'

Key Point :

  • การปวดท้องน้อย หลายคนอาจมองเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นอาการของ 'เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่'
  • กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้สูง มักมีความสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน นอกจากนี้ การมีบุตรยาก การดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟมากๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าวสูงขึ้นด้วย 
  • ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ที่ได้ผลแน่นอน ดังนั้น หากมีอาการโดยเฉพาะปวดประจำเดือนหรือปวดบริเวณท้องน้อย ควรรีบปรึกษาแพทย์

 

ผู้หญิงหลายคนเมื่อมีอาการปวดท้องน้อย อาจจะมองว่าไม่เป็นอะไร กินยาแล้วก็หาย ยิ่งในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน ก็อาจจะคิดว่าการปวดท้องน้อยเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นอาการของ 'เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่' โดยกลุ่มเสี่ยงมักมีความสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน เช่น เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนเพื่อนๆ เข้าสู่ภาวะวัยทองช้ากว่าปกติ ประจำเดือนออกมากและออกนานหลายวัน เป็นต้น

 

เนื่องในเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนแห่งการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอาการปวดท้องน้อย MAY is Pelvic Pain Awareness Month ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกมากระตุ้นเตือนสตรีไทยเพื่อให้เล็งเห็น ความสำคัญของอาการปวดท้องน้อยแล้วอย่าปล่อยผ่าน ผ่านแคมเปญ ปวดท้องน้อย พูดสิ พูดได้ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงต้องระวัง  'เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่'

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คืออะไร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวในงานเสวนา มาร่วมรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ถึงอาการปวดท้องน้อย สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงต้องระวัง ผ่านทาง Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ ภาวะที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปนอกโพรงมดลูก โดยอาจแทรกตัวอยู่ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ และผนังกระเพาะปัสสาวะ หรือบางครั้งอาจกระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด

 

"เมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ ทำให้มีเลือดสีแดงคล้ำหรือสีดำข้นคล้ายช็อกโกแลตขังอยู่ตามอวัยวะดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการผิดปกติต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการปวดท้องน้อยที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้ ตำแหน่งที่พบบ่อยส่วนใหญ่มักพบบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้องทางด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างของมดลูกรวมถึงอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่" 

 

นอกจากนี้ ยังพบได้ที่ท่อไต ลำไส้เล็ก ปอด สมองและบริเวณผิวหนัง หรือแผลผ่าตัด พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์และอาจสูงถึง 5 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอาการปวดประจำเดือน โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดประจำเดือนทำให้เราต้องทนทุกข์ทรมานจากการปวด ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางครั้งส่งผลทางด้านการงานและสังคม

 

“การปวดประจำเดือนของผู้หญิงเป็นภาวะปกติ หากคนไม่ปวดเลยก็ถือว่าโชคดี แต่ความผิดปกติการปวดประจำเดือนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ปวดนานขึ้น หรือ ปวดก่อนมีประจำเดือน แปลว่าอาจจะมีโรคอะไรบางอย่างที่ทำให้ปวดมากขึ้น”

 

 

 

กลุ่มไหนเสี่ยงเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้สูง มักมีความสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน เช่น

  • สตรีที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนเพื่อน ๆ
  • สตรีที่เข้าสู่ภาวะวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ช้ากว่าปกติ
  • สตรีที่มีประจำเดือนออกมากและออกนานหลายวัน
  • สตรีที่รอบเดือนมาถี่หรือระยะห่างระหว่างที่เป็นประจำเดือนแต่ละรอบสั้น
  • สตรีที่มีมารดา พี่สาวหรือน้องสาวเป็นโรคนี้
  • สตรีที่มีลูกคนแรกตอนอายุมาก ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟมากๆ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีทั้งแบบที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ โดยการแสดงอาการที่สงสัยว่าจะเป็นก็คืออาการปวดท้องน้อยในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่

  • อาการปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ โดยมักจะมีอาการปวดนำมาก่อน 2-3 วันก่อนที่ประจำเดือนมา ในช่วงที่กำลังมีประจำเดือนอาการปวดจะมากขึ้นและจะรุนแรงมากขึ้นในรอบเดือนถัด ๆ ไป
  • อาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยลักษณะอาการปวดจะปวดเจ็บลึก ๆ ในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน

นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงโรคยังครอบคลุมกลุ่มสตรีที่มีบุตรยาก คลำได้ก้อนที่ท้องน้อย เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ส่วนน้อยอาจมีอาการอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของโรค เช่น สตรีที่มีตัวโรคอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยขึ้นหรือปัสสาวะเป็นเลือดช่วงที่เป็นประจำเดือน ในสตรีที่มีตัวโรคที่ลำไล้ใหญ่ส่วนปลายอาจมีอาการถ่ายลำบาก ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายเป็นเลือด โดยเฉพาะช่วงที่เป็นประจำเดือน บางคนมีอาการไอเป็นเลือดในช่วงเป็นประจำเดือน เนื่องจากมีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่ปอด เป็นต้น

แนะควรรีบปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ แนะนำว่า ควรรีบเข้ามาปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรเก็บอาการปวดท้องน้อยที่เกิดขึ้นเงียบไว้คนเดียว เพราะการปวดท้องน้อยในกลุ่มผู้หญิง อาจจะไม่ใช่เรื่องปกติอย่างที่เราคิด แต่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นโรคที่ผู้หญิงหลายคนมักมองข้าม และอาการปวดท้องน้อย ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งสัญญาณเตือนให้ได้ระวังจากภัยร้ายที่อาจแสดงออกมาในรูปแบบของโรคร้ายชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย

 

"ผู้หญิงหลายคนมักมองข้าม ยิ่งในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน ก็อาจจะคิดว่าการปวดท้องน้อยเป็นเรื่องปกติ ซึ่งความจริงอาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างก็ได้ ฉะนั้นการปวดท้องน้อยควรเป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยผ่านอีกต่อไปครับ กิจกรรมรณรงค์นี้เราก็อยากเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญในการเป็นผู้รณรงค์ให้สาว ๆ ทุกคนตระหนัก และใส่ใจในโรคชนิดนี้ และโรคอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ให้มากขึ้น"

 

5 สัญญาณเตือน

1. ปวดท้องน้อยเรื้อรังมากกว่า 6 เดือน

2. ปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน และมีอาการรุนแรงมากขึ้นในรอบเดือนถัดไป

3. เจ็บอุ้งเชิงกราน ปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์

4. คลำเจอก้อนที่ท้องน้อย

5. มีภาวะ มีบุตรยาก

 

“อาการปวดท้องน้อย ปวดท้องประจำเดือนบางครั้งถูกละเลยไป แต่ความจริงโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การวินิจฉัยล่าช้าบางครั้ง 7 – 10 ปี เพราะไม่เคยตรวจภายใน แต่การที่ผู้หญิงปวดประจำเดือนมากในอายุประมาณ 20-21 ปี อาจจะเริ่มเป็นแล้วก็ได้ ดังนั้น จึงพยายามสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจว่าโรคนี้มีอยู่จริง”

 

 

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ กับ ภาวะมีบุตรยาก

 

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจทำให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากโรคนี้มักจะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน บางรายเป็นมากจนทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ทั้งสองข้างทำให้ไม่สามารถมีบุตรเองได้โดยวิธีธรรมชาติ อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด หรือต้องใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว

 

แพทย์หญิงกตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า สำหรับนิยามของคำว่า ผู้มีบุตรยาก คือ การที่คู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอในระยะเวลา 1 ปี โดยสตรีอายุน้อยกว่า 35 ปี และในสตรีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอในระยะเวลา 6 เดือน ถือว่ามีบุตรยาก กลุ่มดังกล่าว พบว่า เกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่า 50% เพราะจะมีผลทำให้โครงสร้างของอวัยวะสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีโรค ทำให้ท่อนำไข่ตันและทำให้คุณภาพรังไข่ลดลง เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ และยิ่งหากมีภาวะมีบุตรยากและปวดประจำเดือนร่วมด้วย ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว

 

แนวทางการรักษา

ทั้งนี้ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาดได้โดยธรรมชาติของโรค แต่จะดีขึ้นเองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเนื่องจากวัยหมดประจำเดือนไม่มีฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ในการกระตุ้นตัวโรคอีก ส่วนจุดประสงค์ของการรักษาในปัจจุบัน ก็เพื่อเป็นการบรรเทาอาการของโรคนี้ โดยเน้นการรักษาตามอาการ เป็นหลัก การรักษาแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่

1.การรักษาด้วยยาฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน สำหรับคนที่ยังไม่ต้องการมีลูก

2.การรักษาด้วยการผ่าตัด ในกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ คือ ถุงน้ำรังไข่ที่มาจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หากเกิน 4-5 เซนติเมตร แนะนำให้ผ่าตัด หรือ ในกลุ่มที่มีบุตรยากก็ต้องใช้วิธีการผ่าตัดช่วย

3.การรักษาร่วมกันระหว่างการให้ยาและการผ่าตัด

 

“ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ที่ได้ผลแน่นอน ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือนหรือปวดบริเวณท้องน้อย ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อการวางแผนในการดูแลรักษาในอนาคตต่อไป”

 

ปวดประจำเดือน กินยาแก้ปวดได้หรือไม่

 

ทั้งนี้ การปวดประจำเดือนสามารถทานยาแก้ปวดได้ เพราะที่ผ่านมา ผู้หญิงหลายคนทนไม่ทานยาเพราะกลัวทานยาเยอะจะมีผลต่อร่างกาย 'แพทย์หญิงกตัญญุตา' อธิบายว่า หากปวดประจำเดือนสามารถทานยาแก้ปวดได้ เพราะหากไม่ทานสมองจะมีการเรียนรู้ว่าปวด และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วรอยโรคเราเท่าเดิม แต่การทานยาแก้ปวดจะลดการรับรู้ของสมอง อาการปวดจะน้อยลงไปด้วย

 

“อย่างไรก็ตาม ยาแก้ปวดในยาบางชนิดหากทานนานๆ อาจจะมีผลต่อไต ดังนั้น ในคนที่เป็นโรคเยอะมาก ต้องทานยาทุกวัน หรือหลักๆ ของอาการปวดรบกวนคุณภาพชีวิต ต้องหยุดงาน หยุดเรียน อาจจะใช้ยากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ยาแก้ปวด ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และสาเหตุของการปวดท้องประจำเดือนในสตรีวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเยื่อบุโรงมดลูกเจริญผิดที่ เพราะฉะนั้น ยาที่จะมารักษาโดยตรงไม่ใช่ยาแก้ปวด แต่ยาฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นยาที่แก้ตรงจุด ไม่มีผลต่อตับและไต สามารถทานยาได้ต่อเนื่อง ในรายที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยา ควรจะเปลี่ยนไปใช้ยาที่ถูกต้อง แต่หากปวดเล็กน้อยสามารถทานยาแก้ปวดได้”

 

สำหรับ สตรีมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง แนะนำให้เข้ารับการปรึกษากับสูตินรีแพทย์และเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ สามารถนัดหมายเพื่อปรึกษาแพทย์กับทางศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ผ่านทาง

  • LINE Official @chulabhornhospital
  • เลือกเมนู ศูนย์การรักษา
  • เลือก สุขภาพสตรี

โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 20.00 น. และ เสาร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 16.00 น. รวมทั้งสามารถติดตามข่าวสารบทความกิจกรรมสุขภาพจากทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทางเว็บไซต์ www.chulabhornchannel.com