เช็กความดัน อาการแบบไหนถึงเป็น'โรคความดันโลหิตสูง'

เช็กความดัน อาการแบบไหนถึงเป็น'โรคความดันโลหิตสูง'

องค์การอนามัยโลก (WHO) ขนานนามโรคความดันโลหิตสูงว่า เป็น ‘ฆาตกรเงียบ หรือ Silence Killer’  ซึ่งสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันความดันโลหิตสูงโลก’ (World Hypertension Day)

Keypoint:

  • 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน และมากกว่า 7 ล้านคนที่ป่วยแต่ยังไม่เข้ารับการรักษา
  • โรคความดันโลหิตสูง สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ต้องปรับเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต งดทานอาหาร ออกกำลังกาย วัดความดันสม่ำเสมอ 
  • วิธีวัดความดันง่ายๆ เพียงนั่งเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนัก เพื่อไม่ให้หลังเกร็งเท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต

'วันโรคความดันโลหิตสูง' เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาตโดยเน้นให้ประชาชน รู้ค่าระดับความดันโลหิตและระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงของตนเอง

รวมถึงการปฏิบัติตนเพื่อดูแลรักษาระดับความดันโลหิต ระดับคลอเลสเตอรอลและน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ เป็นการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke)โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attacks) ไตวาย ตาบอด เป็นต้น

ทั้งนี้ โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่พบบ่อย บางรายอาจมีภาวะดังกล่าวนานหลายปีโดยไม่แสดงอาการ อย่างไรก็ตามแม้จะไม่แสดงอาการ แต่สร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งสามารถตรวจพบความเสียหายเหล่านี้ได้ ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่น ๆ เช่น หัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง  ภาวะความดันโลหิตสูงมักจะพัฒนาต่อเนื่องในช่วงหลายปีและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

แพทย์เผยวิธีห่างไกล'โรคความดันโลหิตสูง'

"ไขมันในเลือดสูง" ภัยร้ายสู่ "โรคหัวใจและหลอดเลือด" ที่ถูกมองข้าม

 

‘รู้เลข รู้เสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ’

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน และมากกว่า 7 ล้านคนที่ป่วยแต่ยังไม่เข้ารับการรักษา โรคความดันโลหิตสูงส่วนมากมักไม่แสดงอาการ หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น และอาจมีอาการต่างๆ ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น ตาพร่ามัว เป็นลมหมดสติ และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) โดยปี 2566 นี้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ ‘Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer. ความดันสูงเกินไป คุมให้ดี ยืดชีวีให้ยืนยาว’ มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างถูกต้องและทราบค่าความดันโลหิตของตนเอง สามารถแปลผลความดันโลหิตได้

เช็กความดัน อาการแบบไหนถึงเป็น\'โรคความดันโลหิตสูง\'

“โรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการ แต่อาจทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตเรื้อรัง และเสียชีวิตได้ จึงควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าเกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท คือ เริ่มสูงต้องเริ่มปรับพฤติกรรม ถ้าสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าป่วยเป็นความดันโลหิตสูงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และเข้ารับการรักษา ถ้าเกิน 160/100 มิลลิเมตรปรอท คือ สูงมากซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และถ้าเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท สูงถึงขีดอันตรายต้องรีบไปพบแพทย์ทันที” นพ.ธเรศ กล่าว

 

ควรวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการวินิจฉัย และการรักษาอย่างเหมาะสม จะส่งผลต่อหลอดเลือดแดงที่หัวใจ, ไต, ตา, และสมอง ทำให้เกิดภาวะหัวใจโต ไตวาย อัมพาต และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ โดยโรคความดันโลหิตสูงส่วนมากมักจะไม่มีอาการแสดง จนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดแดง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ หรือ หลอดเลือดสมองแตก

โรคความดันโลหิตสูงสามารถวินิจฉัยได้ง่าย เพียงใช้การวัดความดันโลหิตอย่างถูกวิธี ดังนั้น จึงควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านอยู่เสมอ หากท่านเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด รสเค็มจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำจิตใจให้แจ่มใสไม่เครียดจนเกินไป

เช็กความดัน อาการแบบไหนถึงเป็น\'โรคความดันโลหิตสูง\'

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดเสี่ยง

นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการแต่ต้องรักษาและป้องกัน สำหรับวิธีป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูงทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่

1) งดทานอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง โดยคนทั่วไปที่ไม่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรทานโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วไม่ควรเกิน 1500 มิลลิกรัมต่อวัน 

2) ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ 

3) ลดความอ้วน ให้ค่า BMI ไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่ถ้าคนที่ความดันสูงมากหรือคนที่ปรับพฤติกรรมแล้วแต่ความดันยังเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ต้องรับประทานยาร่วมด้วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะไม่มีอาการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากและทำให้เสียชีวิตได้

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566  กรมควบคุมโรคร่วมกับสมาคมความดันโลหิตสูงโลก จัดกิจกรรมการประกวดคลิปวิดีโอ (Clip VDO) โรคความดันโลหิตสูงในหัวข้อ ‘Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer. ความดันสูงเกินไป คุมให้ดี ยืดชีวีให้ยืนยาว’

 พร้อมทั้งจัดงานเสวนาวันความดันโลหิตสูงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง  โดยผู้ป่วยและแพทย์ผู้ดูแล มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างถูกต้องและทราบค่าความดันโลหิตของตนเองพร้อมทั้งสามารถแปลผลความดันโลหิตของตนเองได้

“ประชาชนควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เพื่อยืดชีวิตให้ยืนยาวขึ้น”นพ.กฤษฎา กล่าว

เช็กวิธีการวัดความดันโลหิตที่บ้าน

นพ.เคย์ เผ่าภูรี หน่วยโรคหัวใจ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการวัดความดันด้วยตนเองที่บ้านนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ ดังขั้นตอนต่อไปนี้ 

1.) ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายก่อนทำการวัด 30 นาที

2.) ก่อนทำการวัดควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย

3.) นั่งเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนัก เพื่อไม่ให้หลังเกร็งเท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต

4.) วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับหัวใจ

5.) ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุยหรือขยับตัว โดยความดันโลหิตที่เหมาะสมของคนอายุ 18 ปี ขึ้นไป สำหรับตัวบน อยู่ที่ 120-129 มิลลิเมตรปรอท และ สำหรับตัวล่าง อยู่ที่ 80-84 มิลลิเมตรปรอท และหากทราบว่าตนเองเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัย ตรวจภาวะหัวใจโต ตรวจภาวะไตเสื่อม และตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ รวมถึงตรวจหาโรคร่วมที่มาพร้อมกับความดันโลหิตสูง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

6.)สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

นอกจากนั้น ผู้ป่วยควรติดตามระดับความดันโลหิตของตนเองที่บ้าน เนื่องจากจะช่วยตรวจสอบว่าการรักษาได้ผลหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบว่าอาการของความดันโลหิตสูงแย่ลงหรือไม่ 

หากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตรวมถึงการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกาย ไม่สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ แพทย์จะสั่งจ่ายยาเพื่อลดความดันโลหิตต่อไป ทั้งนี้เป้าหมายของการรักษามุ่งเน้นที่การรักษาระดับความดันโลหิตให้น้อยกว่า 130/80 มม.

สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและมีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี แต่มีความเสี่ยงสูงกว่าร้อยละ 10 ที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดภายในสิบปี รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคไต เบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ

เช็กความดัน อาการแบบไหนถึงเป็น\'โรคความดันโลหิตสูง\'

‘ความดันโลหิตสูง’ เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์ 

ผู้ป่วยจะได้รับการวัดความดันโลหิต ซึ่งเป็นขั้นตอนตามปกติของการนัดพบแพทย์ทุกครั้ง ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะความดันโลหิตสูงหรือมีปัจจัยเสี่ยงบางประการในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมักได้รับคำแนะนำให้วัดค่าความดันโลหิตเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ สำหรับเด็กที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป จะได้รับการวัดความดันโลหิตในการตรวจสุขภาพประจำปี  

สาเหตุโรคความดันโลหิตสูง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • ความดันโลหิตสูงชนิด Primary Hypertension ความดันโลหิตสูงประเภทนี้ส่วนใหญ่จะพัฒนาขึ้นในช่วงหลายปี 
  • ความดันโลหิตสูงชนิด Secondary Hypertension ความดันโลหิตสูงประเภทนี้เกิดจากสภาวะสุขภาพพื้นฐานโดยจะปรากฏขึ้นอย่างกะทันหัน 

อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง อาจประกอบไปด้วยเงื่อนไขทางสุขภาพและยาดังต่อไปนี้ 

  • ปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น 
  • โรคไต 
  • เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต 
  • โรคต่อมไทรอยด์ 
  • ความผิดปกติของหลอดเลือด 
  • ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคไข้หวัด ยาลดความอ้วน ยาแก้ปวด และยาอื่นๆ 
  • การใช้สิ่งเสพติดที่ผิดกฎหมาย ตัวอย่างเช่น โคเคนและยาบ้า 

ต้องรู้ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง

  • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงจะสูงมากขึ้น ความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงในเพศชายมักเพิ่มขึ้นเมื่อมีอายุ 64 ปีขึ้นไป และ 65 ปี ในเพศหญิง
  • เชื้อชาติ ชาวแอฟริกัน – อเมริกัน มักจะมีความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมากขึ้นเมื่อเทียบกับคนผิวขาว ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง  หัวใจวายหรือไตวาย
  • ประวัติทางการแพทย์ของครอบครัว อีกหนึ่งสาเหตุหลักของโรคความดันโลหิตสูงมักเกิดการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นผ่านทางพันธุกรรม
  • โรคอ้วน ความดันโลหิตสูงมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เนื่องจากการมีน้ำหนักมากร่างกายก็ยิ่งต้องการเลือดไปเลี้ยงออกซิเจนและสารอาหารมากขึ้น
  • การใช้ชีวิตอยู่ประจำ ผู้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมักจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าหัวใจทำงานหนักมากขึ้นในการหดตัวแต่ละครั้ง
  • การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่เพิ่มความดันโลหิตชั่วคราวในทันที แต่สารเคมีที่พบในยาสูบสามารถทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสียหายได้ ซึ่งจะส่งผลให้หลอดเลือดแดงตีบ แคบและมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจ ควันบุหรี่มือสองจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากยิ่งขึ้น
  • อาหารที่มีเกลือสูง อาหารที่มีโซเดียมสูงอาจส่งผลให้เกิดการคั่งของของเหลวทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง
  • อาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ อาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำทำให้ร่างกายเก็บโซเดียมไว้ในเลือดมากเกินไป เนื่องจากโพแทสเซียมทำงานเพื่อปรับสมดุลของปริมาณโซเดียมในร่างกาย
  • การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปสามารถทำลายหัวใจได้เมื่อเวลาผ่านไปและอายุเพิ่มมากขึ้นการที่ผู้หญิงดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหนึ่งแก้วและผู้ชายดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าสองแก้วต่อวันอาจเป็นอีกสาเหตุหลักของโรคความดันโลหิตสูง
  • ความเครียด ระดับความเครียดสูงอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วคราว
  • โรคเรื้อรังบางชนิด โรคต่าง ๆ เช่น โรคไตเบาหวาน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจเพิ่มความดันโลหิตสูง
  • การตั้งครรภ์ บางครั้งการตั้งครรภ์อาจเป็นอีกสาเหตุโรคความดันโลหิตสูงได้

โรคความดันโลหิตสูงมักพบในผู้ใหญ่ แต่ก็สามารถเกิดในเด็กได้เช่นกัน สำหรับเด็กสาเหตุของความดันโลหิตสูงอาจก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไตหรือหัวใจ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดี โรคอ้วนและการออกกำลังกายน้อยลง

เช็กความดัน อาการแบบไหนถึงเป็น\'โรคความดันโลหิตสูง\'

ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องเฝ้าระวัง

ระดับความดันโลหิตสูงและอาการความดันสูงเฉียบพลันขึ้นมักก่อให้เกิดความเสียหายที่มากขึ้นตามไปด้วย ภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างเกิดจากความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีดังต่อไปนี้

  • หัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง 
  • โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง 
  • หัวใจล้มเหลว 
  • หลอดเลือดในไตแคบลง 
  • หลอดเลือดในดวงตาหนาหรือแคบ 
  • โรคเมตาบอลิก หรือภาวะที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงาน 
  • ปัญหาเกี่ยวกับความจำหรือความเข้าใจ 
  • โรคสมองเสื่อม 

การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง

แพทย์จะวัดความดันโลหิตโดยใช้เครื่องวัดความดัน ความดันโลหิตสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังต่อไปนี้ 

  • ความดันปกติ ระดับความดันที่ต่ำกว่า 120/80 มม. ถือว่าอยู่ในระดับปกติ
  • ความดันสูงเล็กน้อย ความดันโลหิตระหว่าง 120/80 – 129/80 มม.
  • ความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 หากความดันโลหิตอยู่ระหว่าง 130-139/80-89 มม. ปรอทถือว่าเป็นความดันโลหิตสูงระยะที่ 1
  • ความดันโลหิตสูงระยะที่ 2  หากความดันโลหิตมีค่าเกินกว่า 140/90 ขึ้นไปถือเป็นความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงและถือว่าเป็นความดันโลหิตสูงระยะที่ 2

ทั้งตัวเลขบนและตัวเลขล่างในการอ่านค่าความดันโลหิตมีความสำคัญเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามหลังจากอายุครบ 50 ปี การอ่านค่าซิสโตลิกระดับบนจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ภาวะที่เรียกว่าความดันโลหิตสูงแบบแยกตัวเกิดขึ้นเมื่อความดันไดแอสโตลิกเป็นปกติ (เมื่อน้อยกว่า 80 มม. ปรอท) แต่ความดันซิสโตลิกสูง (นี่คือเมื่อตัวเลขเท่ากับ 130 มม. ปรอทขึ้นไป) ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี 

ในระหว่างการนัดหมายแต่ละครั้ง แพทย์จะอ่านค่าความดันโลหิตสองถึงสามครั้งก่อนที่แพทย์จะเริ่มกระบวนการวินิจฉัย เนื่องจากความดันโลหิตโดยทั่วไปจะแตกต่างกันไปตลอดทั้งวัน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยบันทึกความดันโลหิตที่บ้านเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง 

หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์ของครอบครัวก่อนตรวจสอบผู้ป่วยโดยการตรวจร่างกาย แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการทดสอบ ได้แก่ การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด และการตรวจคอเลสเตอรอล บางครั้งแพทย์จะสั่งให้ทำ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจหาสัญญาณของโรคหัวใจ 

กลุ่มยาใช้สำหรับรักษาความดันโลหิตสูง 

  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก 
  • ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE inhibitors  
  • ยากลุ่ม angiotensin-II receptor antagonists 
  • ยาต้านแคลเซียม 

ยาเพิ่มเติมที่แพทย์สามารถสั่งเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง 

  • กลุ่มยาต้านอัลฟา 
  • กลุ่มยาต้านอัลฟ่าเบต้า 
  • กลุ่มยาต้านเบต้า 
  • แอลโดสเตอร์โรน  
  • กลุ่มยาต้านเรนิน 
  • ยาขยายหลอดเลือด 
  • ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง

สภาวะที่ไม่สามารถควบคุมให้ระดับความดันโลหิตลงมาตํ่าได้ 

ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมให้ลดต่ำได้เกิดขึ้นเมื่อความดันโลหิตยังคงสูงมากแม้จะใช้ยา 3 ชนิดที่แตกต่างกันเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง เช่น ยาขับปัสสาวะ 

ผู้ที่ควบคุมโรคความดันโลหิตสูงซึ่งต้องใช้ยา 4 ชนิดในการรักษาหมายความว่ามีภาวะความดันโลหิตสูงที่ดื้อยา ดังนั้นแพทย์จะตรวจสอบอีกครั้งถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอื่นๆ ทั้งนี้ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ดื้อยาไม่ได้หมายความว่าจะมีภาวะความดันโลหิตสูงเสมอไป แพทย์จะตรวจหาสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง และหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับประทานยารักษาโรคความดันโลหิตสูงตามคำสั่งของแพทย์ อย่าเปลี่ยนวิธีการรักษาโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์โดยเด็ดขาด 

ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการรักษาตัวที่บ้าน 

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการดำเนินชีวิต สามารถช่วยฟื้นฟูและป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ ข้อเสนอแนะมีดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 
  • ลดการบริโภคเกลือในอาหาร 
  • รักษาน้ำหนักให้แข็งแรง 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  • จำกัดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ห้ามสูบบุหรี่ 
  • พยายามจัดการหรือลดความเครียด 
  • ติดตามความดันโลหิตที่บ้าน 
  • รักษาระดับความดันโลหิตในช่วงตั้งครรภ์ 

เตรียมความพร้อมสำหรับการนัดหมายแพทย์ 

การนัดหมายของแพทย์ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวหรือคำแนะนำพิเศษ แต่ผู้ป่วยไม่ควรบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือสูบบุหรี่ก่อนการตรวจ 

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ป่วย 

  • จดบันทึกอาการใด ๆ ที่กำลังประสบอยู่ และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการอื่น ๆ เช่น อาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจถี่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยให้แพทย์ทราบถึงความรุนแรงของปัญหาความดันโลหิตสูง 
  • ระบุข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงประวัติทางการแพทย์ของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตหรือโรคเบาหวาน นอกจากนี้ผู้ป่วยควรจดบันทึกความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงชีวิตล่าสุดที่อาจทำให้เกิดการกระตุ้น 
  • แสดงรายการยา วิตามิน หรืออาหารเสริมทั้งหมดที่ผู้ป่วยกำลังรับประทานอยู่ 
  • มาตามนัดของแพทย์พร้อมกับเพื่อนหรือญาติ 
  • จดบันทึกรูปแบบการรับประทานอาหารหรือการออกกำลังกายและเตรียมปรึกษากับแพทย์ 
  • จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์

 

อ้างอิง: โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,โรงพยาบาลราชวิถี ,กรมควบคุมโรค