ม.มหิดลพิสูจน์ 'ออร์โธปิดิกส์สร้างชาติ' สร้าง 'หมอกระดูกคุณภาพ'

ม.มหิดลพิสูจน์ 'ออร์โธปิดิกส์สร้างชาติ' สร้าง 'หมอกระดูกคุณภาพ'

การใช้ข้อมูลอย่างสมเหตุสมผลจำเป็นต่อแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งโลกในยุคศตวรรษที่ 21 เมื่อเชื่อมโยงกับศาสตร์ 'ออร์โธปิดิกส์' (Orthopedics) ที่ได้ศึกษามาอย่างถ่องแท้จากข้อมูลเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ (Evidence-based Medicine - EBM) เพื่อการรักษากระดูก

เปรียบเสมือน เสาหลักภายในร่างกายมนุษย์ กับการฝึกฝนจนปฏิบัติได้จริง และการทำงานที่เป็นทีม ออร์โธปิดิกส์จะช่วย สร้างชาติ - พลิกอนาคต ผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต

ศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์เด็ก ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นอาจารย์แพทย์ด้านออร์โธปิดิกส์ หรือ 'หมอกระดูก' บุคคลแรกของประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลต้นแบบด้านการสอน พ.ศ. 2566 ของสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว) เมื่อเร็วๆ นี้

ด้วยเชื่อมั่นในวิธีการสอนนักศึกษาแพทย์โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Centered Learning) และการใช้ 'ข้อมูลเวชศาสตร์เชิงประจักษ์' (Evidence-based Medicine - EBM)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ม.มหิดล ปั้น 'นวัตกรอาหารโลก' หนุนโครงการสเปซเอฟ

มหิดล คิดค้น 'นวัตกรรมน้ำยาบ้วนปาก' ยับยั้งการแพร่กระจายโควิด

ส่อง 3 เทรนด์ "Healthcare" หลังวิกฤติ "โควิด-19"

"บำรุงราษฎร์" กางแผนปี 66 มุ่งสู่ Medical and Wellness Destination

 

ออร์โธปิดิกส์ สร้างนักกระดูกคุณภาพ

สิ่งแรกที่ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ให้ความสำคัญ คือเรื่องของ 'การศึกษา' ที่ได้จัดให้ 'นักศึกษาแพทย์' ได้มี 'อาจารย์ที่ปรึกษา' 1 ต่อ 1 ทำให้เชื่อมั่นได้ถึงการวางระบบการศึกษาแบบไร้รอยต่อ หรือปราศจากช่องว่างที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว

เมื่อผนวกกับการจัดบรรยากาศการเรียนการสอนที่เหมาะสม ทำให้ที่ผ่านมา สาขาวิชาฯ สามารถชนะใจนักศึกษาแพทย์ทั้งหมดของคณะฯ จากการได้รับคะแนนประเมินความพึงพอใจมาเป็นอันดับ 1

ม.มหิดลพิสูจน์ \'ออร์โธปิดิกส์สร้างชาติ\' สร้าง \'หมอกระดูกคุณภาพ\'

ศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ได้เป็นผู้วางแนวทางการฝึกอบรมพัฒนาคณาจารย์ของภาควิชาฯ ประเมินผล และปรับปรุงข้อสอบให้ตอบโจทย์ใช้ได้จริงอยู่เสมอ ได้ส่งผลให้คณาจารย์แพทย์ของภาควิชาฯ ถึง 19 ราย สามารถก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการไปได้อย่างภาคภูมิ

นอกจากนี้ ในการฝึกเป็น 'หมอกระดูก' โดยพื้นฐานที่สำคัญจะต้องรู้ 'วิธีใส่เฝือก' ให้กับผู้ป่วย โดย ศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ เป็นผู้วางแนวทางให้นักศึกษาแพทย์ได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในการวางแผนทำหัตถการใส่เฝือกให้ได้ตามมาตรฐานทางการแพทย์ จากการตรวจร่างกายผู้ป่วยตามจริง ตลอดจนให้คำแนะนำผู้ป่วยเพื่อดูแลรักษาเฝือกด้วยตัวเอง

อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บทางกระดูกจนต้องเข้ารับการใส่เฝือกอาจเกิดได้กับทุกคน โดยปกติแล้วอวัยวะบริเวณที่ใส่เฝือกจะเป็นบริเวณที่มักมีอาการคันจากการเปียกชื้นภายในเฝือก หากดูแลรักษาไม่ดีอาจเกิดอาการติดเชื้อได้ ซึ่งหากแก้ไขปัญหาการคันโดยแทนที่จะใช้สเปรย์ทางการแพทย์ลดอาการคัน แต่กลับใช้วิธีสอดไม้ หรือของแข็งปลายยาวเข้าไปเกาในเฝือก แทนที่จะหายคัน อาจเกิดแผลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อภายในเฝือกได้

 

ปฐมพยาบาลอาการกระดูกมีปัญหา

นอกจากนี้ ยังพบว่าการใส่เฝือกอาจเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของโลหิตภายในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ใส่เฝือก จึงจำเป็นต้องมีการปรับท่าให้เหมาะสม ซึ่งหากใส่เฝือกที่แขน ควรแนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นยกแขนที่ใส่เฝือกขึ้นระดับหัวใจ และหากใส่เฝือกไว้ที่ขา ควรให้ผู้ป่วยหมั่นยกขาขึ้นพาดบนเก้าอี้

การปฐมพยาบาลผู้มีอาการกระดูกแขนได้รับบาดเจ็บในเบื้องต้นโดยประชาชนทั่วไป ศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์  แนะนำให้หาผ้าที่มีขนาดพอเหมาะมาทำเป็นที่คล้องแขนไว้กับคอ ก่อนนำส่งแพทย์เพื่อใส่เฝือก แต่ไม่ควรทำเฝือกด้วยตัวเองเพราะจะยิ่งทำให้มีอาการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ริเริ่มการสอนทักษะการจัดสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาแพทย์ โดยที่ผ่านมาได้เชิญวิทยากรที่เป็นสถาปนิกมืออาชีพมาร่วมบรรยายอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพลัดตกหกล้มซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการใส่เฝือก

ยังได้วางแนวทางปลูกฝังเรื่อง 'การทำงานเป็นทีม' ซึ่งสำคัญยิ่งต่อการรักษาทางออร์โธปิดิกส์ เนื่องจากส่วนใหญ่จะต้องทำโดยความร่วมมือของแพทย์จากสหสาขาวิชา จึงจะทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ แพทย์ออร์โธปิดิกส์จะต้องมีความพร้อมทั้งสุขภาพใจ และสุขภาพกายที่แข็งแรงอยู่เสมอ แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องทุ่นแรง แต่แพทย์ผู้รักษายังจำเป็นต้องให้การรักษาผู้ป่วยด้วยการออกแรง 'จัด-ดัด-ดึง' กระดูกด้วยตัวเองเช่นกัน

สำหรับทิศทางการวิจัยทางออร์โธปิดิกส์ที่เหมาะสมของประเทศไทย นอกจากเรื่องชีวกลศาสตร์ และการพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อสนับสนุนการรักษาทางคลินิกแล้ว ศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์  ได้แนะนำว่าควรเป็นไปในลักษณะที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่า และใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

วิธีการรักษาทางออร์โธปิดิกส์ยากที่จะตัดสินว่าวิธีการใดดีกว่า เนื่องจากกระดูกของผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีจึงควรพัฒนาให้มีทางเลือกที่หลากหลาย จากการหมั่นเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน หรือมีราคาแพง แต่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากขึ้น

การใช้ข้อมูลเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ เป็นวิธีที่มุ่งเน้นในการเรียนการสอน และการวิจัยของภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล โดยเป็นการใช้ข้อมูลในเชิงลึกที่เห็นประสิทธิผลทางคลินิก ซึ่งผ่านการศึกษา วิพากษ์ และทบทวนมาจนมั่นใจได้ว่าจะสามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยสูงวัยมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกสะโพกหัก แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกให้มากกว่าการรักษาโดยการใส่แผ่นโลหะยึดตรึงด้วยสกรูที่บริเวณกระดูกสะโพกที่หัก เพราะจะทำให้ข้อสะโพกมีความแข็งแรงมากกว่า และผู้ป่วยจะสามารถลงน้ำหนักได้มากกว่า เป็นต้น

"ด้วยการใช้หัวใจในการรักษาหากทำด้วยความสุข สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นมากกว่าความสุขที่ได้เห็นผู้ป่วยคลายทุกข์ใจหายเจ็บปวด และความสุขนั้นจะสามารถส่งต่อไปยังครอบครัว และบุคคลรอบข้างผู้ป่วย ร่วมสร้างสังคมแห่งความสุขให้เกิดขึ้นต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง" ศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ กล่าว