'หมอธีระ' อัปเดตสถานการณ์โควิด XBB.1.16 เพิ่มขึ้นเป็น 38 ประเทศทั่วโลก

'หมอธีระ' อัปเดตสถานการณ์โควิด XBB.1.16 เพิ่มขึ้นเป็น 38 ประเทศทั่วโลก

"หมอธีระ" อัปเดตสถานการณ์ "โควิด-19" ทั่วโลกติดเพิ่ม 26,732 คน ตายเพิ่ม 93 คน สายพันธุ์ XBB.1.16 มีรายงานเพิ่มขึ้นเป็น 38 ประเทศทั่วโลก

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 26,732 คน ตายเพิ่ม 93 คน รวมแล้วติดไป 686,456,980 คน เสียชีวิตรวม 6,859,517 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อ "โควิด-19" สูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. รัสเซีย
  3. ฝรั่งเศส
  4. เม็กซิโก
  5. เวียดนาม

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.22 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.49

อัปเดต XBB.1.16.x

ข้อมูลจนถึงเมื่อวานนี้ 23 เมษายน 2566 (Cr: Rajnarayanan R, US) ซึ่งรวบรวมจาก GISAID พบว่า XBB.1.16.x นั้นมีรายงานเพิ่มขึ้นเป็น 38 ประเทศทั่วโลก (ภาพที่ 1)

\'หมอธีระ\' อัปเดตสถานการณ์โควิด XBB.1.16 เพิ่มขึ้นเป็น 38 ประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศอินเดียนั้น ช่วงที่ผ่านมามีสายพันธุ์นี้ระบาดมาก สถิติจาก Ourworldindata ชี้ให้เห็นว่าทำให้จำนวนเคสใหม่เพิ่มขึ้นมาก และมีจำนวนเสียชีวิตสูงขึ้นเช่นกัน (ภาพที่ 2 และ 3)

\'หมอธีระ\' อัปเดตสถานการณ์โควิด XBB.1.16 เพิ่มขึ้นเป็น 38 ประเทศทั่วโลก

แม้ข้อมูลจนถึงปัจจุบันจะชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงของโรคอาจไม่ต่างจากสายพันธุ์ก่อนที่เคยระบาดมา แต่สัจธรรมคือ เคสที่เพิ่มขึ้น ย่อมมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามมา จึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก Long COVID ในออสเตรเลีย

ผลการประเมินล่าสุดจาก Impact Economics and Policy ประเทศออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า มีประชากรอย่างน้อย 40,000 คนที่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากประสบปัญหาการเจ็บป่วยระยะยาวจาก Long COVID ทำให้ประเทศสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปอย่างน้อย 5,700 ล้านเหรียญต่อปี (ภาพที่ 4)

\'หมอธีระ\' อัปเดตสถานการณ์โควิด XBB.1.16 เพิ่มขึ้นเป็น 38 ประเทศทั่วโลก

ผลการศึกษานี้เป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระยะยาว ทั้งนี้การประเมินข้างต้นก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับการศึกษาผลกระทบจาก Long COVID ในสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่เคยมีการเผยแพร่กันออกมาก่อนหน้านี้

 

 

ที่ต้องเน้นย้ำคือ เป็นผลการประเมินจากการสูญเสียรายได้จากการทำงานเท่านั้น แต่ยังไม่ได้คิดรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น

สำหรับไทยเรานั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า การติดเชื้อแต่ละครั้งไม่จบแค่หายแบบชิลๆ แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย

ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ

เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก