เช็กเงื่อนไข 'ประกันสังคม' ผู้ประกันตนฉีด 'วัคซีนพิษสุนัขบ้า' ฟรี กรณีไหน ?

เช็กเงื่อนไข 'ประกันสังคม' ผู้ประกันตนฉีด 'วัคซีนพิษสุนัขบ้า' ฟรี กรณีไหน ?

ผู้ประกันตนต้องรู้! ใช้สิทธิ "ประกันสังคม" เข้ารับการฉีด "วัคซีนพิษสุนัขบ้า" ไม่เสียค่าใช้จ่าย เช็กเงื่อนไขได้ที่นี่

ในช่วงนี้นอกจากคนจะได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนจัดแล้ว โรคหนึ่งที่มักเกิดขึ้นช่วงหน้าร้อน คือ "โรคพิษสุนัขบ้า" ซึ่งรัฐบาลโดย สำนักงานประกันสังคม ได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือ "วัคซีนพิษสุนัขบ้า" โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกันตน ซึ่งการฉีดวัคซีนสามารถฉีดได้ทั้งก่อนโดนกัด และหลังโดนกัด แต่กรณีหลังต้องมาฉีดให้ไวที่สุดเพื่อป้องกันไวรัสเข้าสู่ระบบประสาท

  • เงื่อนไข "ประกันสังคม" เข้ารับการฉีด "วัคซีนพิษสุนัขบ้า" ฟรี

1.กรณีฉุกเฉิน ไม่สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกัน "โรคพิษสุนัขบ้า" ในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ ให้ผู้ประกันตนสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน แล้วยื่นเรื่องเบิกเงินคืนได้เฉพาะเข็มแรกเท่านั้น ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และ 

2. เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากผู้ประกันตนไม่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องจากโรคนี้ไม่แสดงอาการทันทีหลังถูกกัด ต้องรอเวลาระยะฟักตัวของโรค โดยเฉลี่ย 2-8 สัปดาห์ อาจจะสั้นหรือยาวกว่านี้ได้ ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์พบว่า ระยะฟักตัวเป็นปี

ทั้งนี้ ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็นทางเข้าของเชื้อ เช่น ถ้าถูกสัตว์กัดบริเวณใบหน้า ระยะฟักตัวจะสั้นเนื่องจากอยู่ใกล้สมอง หรือบริเวณที่มีปลายประสาทมาก ๆ เช่น มือ เป็นต้น

และเมื่อแสดงอาการป่วยแล้วจะไม่มีทางรักษา อัตราการเสียชีวิต 100% จึงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกัน "โรคพิษสุนัขบ้า" หรือ "วัคซีนพิษสุนัขบ้า" ทันทีหรืออย่างช้าภายใน 2 วัน เมื่อถูกกัด และฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนดอย่างเคร่งครัด

ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

โดยให้มีการบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวังโรคเชิงรุกและสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ตั้งเป้าการฉีดแก่สุนัขและแมวอย่างน้อยร้อยละ 80 ดำเนินการเก็บตัวอย่างสัตว์ที่แสดงอาการสงสัยส่งตรวจวินิจฉัยทุกตัว ประสานหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อเร่งรัดให้ผู้สัมผัสและบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้รับการรักษาและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า