'สเต็มเซลล์' ความหวังผู้ป่วย นวัตกรรมการรักษาแห่งอนาคต

'สเต็มเซลล์' ความหวังผู้ป่วย นวัตกรรมการรักษาแห่งอนาคต

สเต็มเซลล์ หรือ เซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งอยู่ในทั้งในมนุษย์ พืช รวมทั้ง สัตว์ เกือบทุกชนิด ทั้งนี้ เมื่ออายุมากขึ้น สเต็มเซลล์จะน้อยลง การซ่อมแซมร่างกายต่างๆ จะน้อยลง วงการแพทย์จึงมีการศึกษานวัตกรรมใช้สเต็มเซลล์ในการฟื้นฟูสุขภาพ เปรียบเสมือนอะไหล่ที่ร่างกายมี

Key Point 

  • สเต็มเซลล์ ซึ่งอยู่ในทั้งในมนุษย์ พืช รวมทั้ง สัตว์ เมื่ออายุมากขึ้น สเต็มเซลล์จะน้อยลง ทำให้การซ่อมแซมร่างกายต่างๆ ลดลง 
  • ปัจจุบันห้องปฏิบัติการด้านสเต็มเซลล์ของภาครัฐที่สมบูรณ์ที่สุด คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยทางการแพทย์ ใช้รักษาโรคทางโลหิตวิทยาและโรคทางพันธุกรรมที่รักษาไม่หายตามกรอบแพทยสภา
  • สเต็มเชลล์ นับเป็นอีกหนึ่งความหวังในการรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ รวมถึงการชะลอวัย ปัจจุบัน จึงพบว่ามีห้องปฏิบัติการสำหรับเก็บสเต็มเซลล์เพื่อใช้ในการดูแลฟื้นฟูสุขภาพในอนาคต

 

ที่ผ่านมา สเต็มเซลล์ ถูกใช้ในการรักษาโรคทางโลหิตวิทยาและโรคทางพันธุกรรมที่รักษาไม่หาย โดยนำเอาสเต็มเซลล์เม็ดเลือดจากไขกระดูกมาใช้ในการปลูกถ่ายเพื่อรักษา โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อหรือโรคโลหิตจางอะพลาสติก และโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งถือเป็นการรักษาตามกรอบแพทยสภา อย่างไรก็ตาม สเต็มเซลล์ก็ยังเป็นความหวังในการนำมาใช้รักษาโรคหลายโรค รวมถึงด้านการชะลอวัย

 

อาจารย์พิมพ์ใจ นัยโกวิท ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในงานแถลงข่าว FREEZE CELL หยุดเวลา ย้อนวัย โดยอธิบายว่าปัจจุบันในส่วนของภาครัฐห้องปฏิบัติการด้านสเต็มเซลล์ที่สมบูรณ์ที่สุด คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเทศไทยจากเดิมมีการนำมารักษาผู้ป่วยโรคเลือด รักษามะเร็งเม็ดเลือด เริ่มต้นที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หลังจากนั้น จึงมีการสร้างห้องปฏิบัติการด้านสเต็มเซลล์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อใช้ในรักษาโรคเลือดตามกรอบที่แพทยสภากำหนด

 

'สเต็มเซลล์' ความหวังผู้ป่วย นวัตกรรมการรักษาแห่งอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

“สำหรับสเต็มเซลล์ มีทั้งสเต็มเซลล์ที่มาจากไขกระดูก สเต็มเซลล์จากกระแสเลือด สเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อสายสะดือ สเต็มเซลล์จากฟันน้ำนม และสเต็มเซลล์จากไขมัน ข้อดีของสเต็มเซลล์จากรก คือ ได้จำนวนมาก ขณะที่สเต็มเซลล์จากฟันจะได้จำนวนน้อยและมีการปนเปื้อน”

 

สเต็มเซลล์กับความหวังผู้ป่วย

 

ขณะเดียวกัน หากดูตัวเลขผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ จะพบว่าเป็นสาเหตุคร่าชีวิตอันดับต้นๆ ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ STROKE (อัมพฤกษ์ อัมพาต) ถือเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของการเสียชีวิต และอันดับ 3 ของความพิการ จากการสำรวจในปี 2562 ทั่วโลกพบผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง มากกว่า 101 ล้านคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 12.2 ล้านคน หรือมีผู้ป่วยรายใหม่ 1 คนในทุก 3 วินาที และเสียชีวิตถึง 6.5 ล้านคน

 

ขณะที่ โรคหลอดเลือดหัวใจ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่ามีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนถึง 7.2 ล้านคน หรือ 12.2 % ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ส่วนในประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ที่ประมาณ 37,000 รายต่อปี หรือเสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน และผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในประเทศไทยจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าที่อื่นราว 4-6 เท่า สเต็มเชลล์จึงนับเป็นอีกหนึ่งความหวังในการรักษาผู้ป่วย รวมถึงปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการสำหรับเก็บสเต็มเซลล์เพื่อใช้ในการดูแลฟื้นฟูสุขภาพในอนาคต

 

'สเต็มเซลล์' ความหวังผู้ป่วย นวัตกรรมการรักษาแห่งอนาคต

 

ศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหาร PANACEE MEDICAL CENTER กล่าวว่า จากวิกฤติโรคจากหลอดเลือดนี้ ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องคิดค้นการป้องกันเรื่องหลอดเลือดอย่างเร่งด่วน รพ.พานาซี จึงนำนวัตกรรมทางสเต็มเซลล์จากผนังหลอดเลือดมารักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาอันเกี่ยวโยงกับเรื่องโรคหลอดเลือด ทั้งหลอดเลือดสมอง (สโตรก) หลอดเลือดหัวใจ และเบาหวาน 

 

ล่าสุดได้ทำการสร้างศูนย์เก็บสเต็มเซลล์ที่ พานาซีพระราม 2 เพื่อเป็นคลังเก็บรักษาสเต็มเซลล์จากเลือด เพื่อให้ผู้สนใจสามารถมาฝากสเต็มเซลล์จากเลือดในแล็บของพานาซีที่มีระบบการดูแลรักษา ควบคุม ให้มีคุณภาพที่สมบูรณ์ที่สุดได้นานถึง 10 ปี ในอนาคตถ้าหากเจ็บป่วย สามารถนำสเต็มเซลล์ที่ฝากไว้ในช่วงที่ร่างกายเรายังสมบูรณ์ เอาไปใช้สำหรับการรักษาพยาบาลได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว เป็นความร่วมมือของ พานาซี กับ รพ.โชนัน คามาคูระ ญี่ปุ่น องค์ความรู้นี้ นอกจากจะนำมาช่วยคนไทยแล้ว เรายังสามารถเป็นเซ็นเตอร์ในการรักษาพยาบาลด้านโรคหลอดเลือด ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดสร้างเศรษฐกิจด้าน Wellness ให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

 

'สเต็มเซลล์' ความหวังผู้ป่วย นวัตกรรมการรักษาแห่งอนาคต

 

คู่มือมาตรฐานธนาคารเซลล์

 

เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์เซลล์ต้นกำเนิดและเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำ “คู่มือมาตรฐานธนาคารเซลล์” เนื่องจากเล็งเห็นว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับการตรวจวินิจฉัยรักษาและฟื้นฟู สภาวะเสื่อมของเนื้อเยื่อและอวัยวะ มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเทคโนโลยี ด้านการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products, ATMPs) เพื่อเตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการเซลล์ทางการแพทย์และรองรับการจัดทำธนาคารเซลล์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมความก้าวหน้าอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ของประเทศ

 

ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพทางห้องปฏิบัติการของประเทศร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ จัดทำมาตรฐานธนาคารเซลล์เพื่อเป็นแนวทางการเก็บรักษาเซลล์ทางการแพทย์สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง

 

ทั้งนี้ การวิจัยด้านเซลล์และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงจะต้องมีการจัดเก็บเซลล์ทางการแพทย์ตามข้อกำหนดที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อเป็นมาตรฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือปฏิบัติและได้รับการยอมรับในระดับประเทศและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพัฒนาประเทศปี พ.ศ.2565-2570 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy

 

มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้นจึงมีการส่งเสริมงานวิจัยด้านเซลล์และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products, ATMPs) เพื่อใช้ในการรักษาโรคและฟื้นฟูสภาวะเสื่อมของเนื้อเยื่อและอวัยวะ