พิษฝุ่น PM 2.5 ปีนี้ 64 วันพบผู้ป่วยแล้ว 1.32 ล้านคน เผยจังหวัดเฝ้าระวังพิเศษ

พิษฝุ่น PM 2.5 ปีนี้ 64 วันพบผู้ป่วยแล้ว 1.32 ล้านคน เผยจังหวัดเฝ้าระวังพิเศษ

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผย 15 จังหวัดค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานติดต่อเกิน 3 วัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต เผยปีนี้ แค่ 64 วันพบผู้ป่วยแล้ว 1.32 ล้านคน

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผย 15 จังหวัด ค่าฝุ่นPM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานติดต่อเกิน 3 วัน โดยเฉพาะพื้นที่ ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต เผยนับตั้งแต่ต้นปีมีผู้ป่วยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคนแล้ว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเป็นค่าที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพติดต่อกันเกิน 3 วันจำนวน 15 จังหวัด ประกอบด้วย

  1. น่าน (อ.เมือง อ.เฉลิมพระเกียรติ)
  2. เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.ฮอด อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม)
  3. เชียงราย (อ.เมือง อ.แม่สาย อ.เชียงของ)
  4. แพร่ (อ.เมือง)
  5. พะเยา (อ.เมือง)
  6. ลำพูน (อ.เมือง อ.ลี้)
  7. ลำปาง (อ.เมือง อ.แม่เมาะ)
  8. แม่ฮ่องสอน (อ.เมือง อ.แม่สะเรียง อ.ปาย)
  9. อุตรดิตถ์ (อ.เมือง)
  10. สุโขทัย (อ.เมือง)
  11. ตาก (อ.แม่สอด อ.เมือง)
  12. พิษณุโลก (อ.เมือง)
  13. เพชรบูรณ์ (อ.เมือง)
  14. นนทบุรี (อ.เมือง อ.ปากเกร็ด)
  15. กรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต

โดยมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่มอีก 6 จังหวัด ส่วนพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วันมี 36 จังหวัด

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2564 และ 2565 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางน้อย ทำให้มีค่าฝุ่นน้อย

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์วันที่ 9-14 มีนาคม 2566 โดยกรมควบคุมมลพิษ พื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากมีลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพฯหนักต่อเนื่อง พบเกินค่ามาตรฐาน 70 พื้นที่สูงสุด 206 AQI

- เชียงใหม่ ขึ้นที่ 1 เมืองมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลก ทั่วไทย PM 2.5 อ่วม 55 จังหวัด

- PM 2.5 เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง อาการเฉียบพลันเกิดขึ้นเพียบ

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน สถานการณ์ฝุ่นจะค่อยๆลดลง คาดว่าจะยังมีปัญหาอยู่อีก 1-2 สัปดาห์ จึงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอดและหัวใจ รวมถึงเด็กเล็ก โดยช่วงที่มีค่ามีฝุ่นสูง ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 5 มีนาคม 2566 (รวม 64 วัน) พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 ราย

โดยสัปดาห์นี้พบผู้ป่วย 196,311 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบ 161,839 ราย กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 85,910 ราย

กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย เพิ่มขึ้น 35,878 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย เพิ่มขึ้น 36,537 ราย และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 ราย เพิ่มขึ้น 33,413 ราย