'หมอธีระ' อัปเดตความรู้ 'โควิด-19' ช่วงสัปดาห์ที่ 2-4 เกิดปอดอักเสบ

'หมอธีระ' อัปเดตความรู้ 'โควิด-19' ช่วงสัปดาห์ที่ 2-4 เกิดปอดอักเสบ

"หมอธีระ" อัปเดตความรู้ "โควิด-19" ช่วงสัปดาห์ที่ 2-4 ซึ่งมีกระบวนการเกิดปอดอักเสบ ช่วงสัปดาห์ที่ 3-8 ที่อาจป่วยรุนแรงยืดเยื้อจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า 

เมื่อวานโควิดทั่วโลกติดเพิ่ม 79,007 คน ตายเพิ่ม 304 คน รวมแล้วติดไป 678,593,791 คน เสียชีวิตรวม 6,790,544 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิด-19สูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. รัสเซีย
  3. ไต้หวัน
  4. เกาหลีใต้
  5. สหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.01 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 88.48

 

อัปเดตความรู้โควิด-19

Russell CD และคณะจากมหาวิทยาลัย Edinburgh สหราชอาณาจักร ได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการมีโรคประจำตัว และการมีปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้อย่างดีมาก เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Nature Medicine เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หลังจากที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยโควิดมักมีระยะการดำเนินโรคแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงดังที่เราทราบกัน เช่น สูงอายุ อ้วน โรคเรื้อรัง (เบาหวาน โรคปอด ฯลฯ) รวมถึงปัญหาด้านระบบภูมิคุ้มกัน

แบ่งลักษณะการดำเนินโรคไปได้ 4 ระยะคือ

  1. ช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ (early viral illness)
  2. ช่วงสัปดาห์ที่ 2-4 ซึ่งมีกระบวนการเกิดปอดอักเสบ (inflammatory lung injury)
  3. ช่วงสัปดาห์ที่ 3-8 ที่อาจป่วยรุนแรงยืดเยื้อจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ (prolonged critical illness)
  4. ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป ที่ผู้ป่วยอาจมีอาการคงค้างระยะยาวภายหลังจากพ้นระยะการติดเชื้อ (post-acute sequelae)

 

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนมีอิทธิพล ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยในระยะต่างๆ แตกต่างกันไป และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เช่น

การมีโรคประจำตัว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ต่อกรกับไวรัสในช่วงแรกของการติดเชื้อได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ภาวะอ้วน สูงอายุ โรคถุงลมโป่งพอง การมีติดเชื้ออื่นร่วมด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น ไข้หวัดใหญ่ ก็จะส่งผลกระทบให้เสี่ยงในช่วงสัปดาห์ที่สองซึ่งมีกระบวนการอักเสบในปอดที่อาจรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาวะสูงอายุ การมีโรคประจำตัวต่างๆ ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ป่วยหนักยืดเยื้อ รวมถึงเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอาการผิดปกติคงค้างระยะยาวภายหลังการติดเชื้ออีกด้วย

และที่ชัดเจนมากคือ การมีโรคประจำตัวยิ่งมากชนิด ยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

ความรู้ทางการแพทย์ที่มีในปัจจุบัน ชี้ให้เราเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

 

ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

อาวุธที่จะต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้นั้น นอกจากการไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนดแล้ว ยังต้องใส่ใจสุขภาพของตนเอง (health conscious)

 

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท

หากอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ก็ควรควบคุมน้ำหนัก ดูแลอาหารการกินและออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักลง

หากมีโรคประจำตัว ก็ควรไปรับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี

 

ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง

ปรับปรุงสถานที่พักอาศัย ที่ทำงาน ที่เรียน ให้มีการระบายอากาศให้ดีกว่าในอดีต

และสวมหน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างตะลอนนอกบ้าน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

 

 

อ้างอิง

Russell CD et al. Comorbidities, multimorbidity and COVID-19. Nature Medicine. 16 February 2023.