"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" XBB.1.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" XBB.1.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" สายพันธุ์ย่อย Omicron ระบาดทั่วโลก มีผสมกันหลากหลายแบบ ในไทย BN.1.3 แม้จะดื้อต่อภูมิน้อยกว่า XBB.1.5 อยู่บ้าง แต่สมรรถนะเกาะตัววที่ผิวเซลล์ได้แน่นกว่า ไม่ควรประมาท

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า 

เมื่อวานโควิดทั่วโลกติดเพิ่ม 100,927 คน ตายเพิ่ม 549 คน รวมแล้วติดไป 676,108,561 คน เสียชีวิตรวม 6,770,509 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิด-19สูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. ไต้หวัน
  3. เกาหลีใต้
  4. รัสเซีย
  5. ออสเตรีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.19 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.96

ลักษณะสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ที่ระบาดทั่วโลก มีผสมกันหลากหลายแบบ Variant soup มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

XBB.1.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และครองสัดส่วนหลักในอเมริกา ส่วน BQ.1.x นั้นยังเป็นสัดส่วนหลักในยุโรป โดยที่มี CH.1.1 มาสอดแทรกบางส่วนในทั้งสองทวีป

ในขณะที่เอเชีย ดูจะมีหลากหลายสายพันธุ์ และยังแตกต่างจากอเมริกาและยุโรป อาทิ BF.7.x, BN.1.x, BA.2.75.x และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นใหม่จากการระบาดในจีน เช่น DY.1.x, DZ.1, DZ.2

ของไทยนั้น BN.1.3 แม้จะดื้อต่อภูมิน้อยกว่า XBB.1.5 อยู่บ้าง แต่สมรรถนะเกาะตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ได้แน่นกว่า ไม่ควรประมาท นอกจากนี้ธรรมชาติการใช้ชีวิตและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ย่อมต้องนำสายพันธุ์หลากหลายเข้ามาในพื้นที่ได้แน่นอน การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวันจึงมีความสำคัญมาก

ระยะเวลาในการลดความเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

เมื่อติดตามงานวิจัยมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่เคยได้นำเสนอไปให้ทราบแล้วนั้น จะพบว่า ภูมิคุ้มกันทั้งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น, การติดเชื้อมาก่อน, รวมถึงการฉีดวัคซีนและมีประวัติติดเชื้อมาก่อน (Hybrid immunity) นั้น ทั้งสามอย่างจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ชัดเจน

โดยภาพรวมแล้ว ระยะเวลานั้นอยู่ในช่วงตั้งแต่ 7-12 เดือนขึ้นอยู่กับลักษณะของประชากรและปัจจัยแวดล้อม มากน้อยแตกต่างกันไป

 

การฉีดวัคซีนจนครบเข็มกระตุ้นจึงชัดเจนว่ามีประโยชน์

นอกจากนี้การจะประคับประคองให้มีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโลกที่ยังมีอยู่ดังที่เห็นนี้ จำเป็นต้องป้องกันตัวด้วยวิธีอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยเสมอ

 

 

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง

ปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน ที่ทำงาน และสถานประกอบกิจการ ให้มีการระบายอากาศให้ดีขึ้นกว่าในอดีต อาศัยทั้งวิกฤติโควิด-19 และ PM 2.5 นี้ดำเนินการให้อากาศที่เราสูดเข้าไปนั้นมีคุณภาพดีขึ้น เพื่อทั้งตัวเราและทุกคน

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก