ปี 66 ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 รุนแรงกว่าเดิม เตรียมพร้อม ป้องกันอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

ปี 66 ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 รุนแรงกว่าเดิม เตรียมพร้อม ป้องกันอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

คาดปี 2566 สถานการณ์ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เผยผลสำรวจคนไทย68.9% กังวลต่อปัญหาสุขภาพ พร้อมแนะ 6 วิธี เฝ้าระวังป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละออง แพทย์ย้ำใส่หน้ากาก 2 ชั้น ป้องกันฝุ่นได้

สถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศและความเสี่ยงต่อสุขภาพ จากข้อมูลกรมอนามัย พบว่า ในแต่ละปีมีประชาชนเสียชีวิตประมาณ 7 ล้านคน โดยแหล่งกำเนิดมลพิษ ได้แก่ การเผาในที่โล่ง การขนส่ง การผลิตไฟฟ้าใช้ฟอกซิลในการผลิต  อุตสาหกรรม Hazard ที่ยังเกินมาตรฐาน PM10 PM2.5 และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic Compounds :VOCs) ในพื้นที่อุตสาหกรรม

ขณะที่ พื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศ พบว่า พื้นที่ PM2.5 และPM10 มีทั้งหมด 46 จังหวัด พื้นที่อุตสาหกรรม/โรงไฟฟ้า/เหมืองโพแตช 11 จังหวัด

โดย 56 ล้านคน อยู่ในพื้นที่มลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และ 22 ล้านคน เป็นกลุ่มเสี่ยง แบ่งเป็น ผู้สูงอายุ 41%  เด็กเล็ก 39% กลุ่มที่มีโรคประจำตัว 19% และหญิงตั้งครรภ์ 1% 

สำหรับความท้าทายที่เกิดขึ้น ด้วยอุตสาหกรรมและความเป็นเมืองมากขึ้น อาจทำให้มลพิษเพิ่มขึ้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้สูงอายุมากขึ้น โอกาสการเจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายด้วยสุขภาพเพิ่มมากขึ้น มีการปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศที่เข้มข้นมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"ฝุ่นPM 2.5"ในกทม.และปริมณฑล ร้อยละ 54 เกิดจากขนส่งทางถนน

เครื่องกรองอากาศ อุปกรณ์ที่ควรมีในวันที่ต้องรับมือละอองจิ๋ว PM 2.5 จอมทำลายสุขภาพ

"PM 2.5" กลับมาช่วง "สงกรานต์ ปี 65" ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ?

เช็ค “ฝุ่นPM 2.5” รวมแอปฯ เช็คอากาศ รับมือฝุ่นช่วง “สงกรานต์”

 

คาดปี 2566 สถานการณ์ฝุ่นPM2.5 รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิการบดีกรมอนามัย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ คนไทยรอบรู้เรื่องฝุ่น ในหัวข้อ “เตรียมพร้อม รับมือ ป้องกันสุขภาพจากฝุ่นขนาดเล็ก”ว่ากรมอนามัย ได้ตระหนักถึงการลดปัญหาป้องกันและดูแลสุขภาพ รวมถึงสร้างความรอบรู้ เน้นมาตรการสื่อสารให้ประชาชนรู้เท่าทัน ได้นำข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มที่เกิดขึ้นไปป้องกันตนเองให้มีความรู้ปฎิบัติอย่างถูกต้อง  เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองปี 2566  น่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 จนถึงปลายเดือนก.พ.2566 จะมีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่งลมสงบ สอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าจะมีอากาศหนาวเย็น ปริมาณฝนน้อย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าปรากฎการณ์ ลานีญา จะเริ่มน้อยลงหรืออนุมานได้ว่ามีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น” นพ.อรรถพล กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับผลอนามัยโพล “คนไทยรับมือกับฝุ่นอย่างไร” ซึ่งเป็นผลสำรวจระหว่างวันที่ 25 พ.ย.ถึง 18 ธ.ค.2565 มีจำนวนผู้ตอบ 2,392 ราย พบว่า

68.9% ของคนไทยมีความกังวลต่อปัญหา PM2.5

52.4% ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว

44.5% ทำให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงมากขึ้น

25.1% ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น

18.3% ไม่รู้วิธีป้องกันอันตรายจากฝุ่น 

10.1% กังวลเรื่องอื่นๆ เช่น โรคที่เกิดจากPM2.5 โควิด-19 และไข้หวัดใหญ่มีความรุนแรงและส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่มากขึ้น ความไม่มั่นใจต่อปริมาณฝุ่นในอากาศเนื่องจากไม่สามารถมองเห็นได้ เป็นต้น

 

3 มาตรการหลัก รับมือฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ในปี 2566

นอกจากนั้น ในส่วนของวิธีการเตรียมตัวของประชาชน พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ 

1.เตรียมหน้ากากป้องกันฝุ่น 82.66%  

2.ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง 71.25%

3.ทำความเข้าใจระดับสี PM2.5 59.8%  

4.ทำความสะอาดบ้าน ล้างแอร์ พัดลม 52.53%

5.ปลูกต้นไม้ เพื่อดักฝุ่น 40.16%

ขณะที่ ประเด็นความต้องการทราบข้อมูล 3 อันดับแรก คือ

66.5% อาการ/ผลกระทบต่อสุขภาพ PM2.5  

58.7% ความรู้เกี่ยวกับ PM2.5 

58.6% คำแนะนำการดูแลสุขภาพเมื่อฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

นพ.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า มาตรการดำเนินการงานด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 จะมี 3 มาตรการหลัก ดังนี้

1. ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฝ้าระวังสถานการณ์ แจ้งเตือนความเสี่ยง ผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ ยกระดับการสื่อสารเชิงรุก สร้างความรอบรู้ และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาชน

2. จัดบริหารด้านการแพทย์และสาธารณสุข  สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง เปิดคลินิกมลพิษ/จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น จัดระบบปฎิบัติเชิงรุก เพื่อดูแลประชาชน เตรียมความพร้อมระบบรักษาส่งต่อ

3.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ระบบบัญชาการเหตุเมื่อเข้าสู่ระยะวิกฤต ส่งเสริมและขับเคลื่อนกฎหมาย และส่งเสริมองค์กรลดมลพิษ

“ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากทุกคนได้ศึกษาข้อมูล มีความรู้ความเข้าใจ จะทำให้สามารถใช้ชีวิตและป้องกันฝุ่นละอองได้  ดังนั้น ทุกคนต้องเข้าถึงข้อมูล ซึ่งขณะนี้มีแอปพลิเคชั่นต่างๆ ให้สามารถเช็กปริมาณฝุ่นได้  ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถให้คำแนะนำได้ เพราะกลุ่มคนบางกลุ่มอาจจะไม่ได้เข้าถึงข้อมูล หรือแอปพลิเคชั่นได้ รวมถึงต้องศึกษาหาความรู้ และเข้าถึงเขาให้ได้" นพ.อรรถพล กล่าว

ผลกระทบด้านสุขภาพจากฝุ่นละออง PM2.5

รศ.นพ.นิธิพัฒน์  เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าหากได้รับฝุ่นละออง PM2.5 จะส่งผลต่อระบบการหายใจระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการระคายเคืองจมูก ปาก คอ และบางรายอาจมีน้ำมูลไหล หายใจไม่สะดวก และในกลุ่มคนที่เป็นโรคหืดและโรคถุงลมโป่งพองกำเริบ และอาจจะทำให้เกิดปอดอักเสบ และวัณโรคง่ายขึ้น

ฝุ่นPM2.5 ไปรบกวนการทำงานของระบบร่างกาย อย่าง ซึ่งมีหน้าที่จับกินสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย  การที่เราสัมผัสฝุ่น PM2.5 สูงและนานพอ ทำให้เกิดการติดเชื้อระบบหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดจากแบคทีเรีย หรือจากไวรัส   และอาจทำให้เกิดปอดอักเสบติดโควิด-19 ได้ง่าย คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าปริมาณPM2.5 น้อยกว่า

หากใครได้รับปริมาณฝุ่นPM2.5 เป็นเวลาหลายเดือน และหลายปี ฝุ่นจะมีพิษคล้ายๆ กับควันบุหรี่ ที่จะทำให้เกิดผลต่อระบบการหายใจระยะยาว ไม่ว่าจะสมรรถภาพปอดถดถอย หรือเกิดมะเร็งปอดได้  มีความชุกเกิดมะเร็งปอดในพื้นที่PM2.5 มากกว่าคนในพื้นที่อื่น

นอกจากนั้นทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่นๆ สามารถเกิดโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด ไตเสื่อม ทารกในครรภ์ผิดปกติ และตาแห้งได้ ส่วนผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้มากขึ้น ความดันสูงที่อาจจะควบคุมได้อยาก อาจทำให้เกิดภาวะเป็นหมันได้ง่ายขึ้น

แนะใส่หน้ากาก2 ชั้น ป้องกันตนเอง ลดการรับฝุ่น

“การจะเผชิญหรืออยู่กับฝุ่น ต้องรู้เขารู้เรา เราต้องควบคุมต้นเหตุ แหล่งผลิตซึ่งอาจจะไม่สามารถทำได้ทันที แต่สิ่งที่เราทำได้ทันที คือ รู้จักป้องกันตนเองเมื่อปริมาณฝุ่นเพิ่มมากขึ้น  โดยหน่วยงานรัฐต้องเตือนประชาชน ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกไปกลางแจ้ง ถ้าเป็นสีแดงนานๆ ต้องลดการเคลื่อนย้ายประชากร"รศ.นพ.นิธิพัฒน์   กล่าว

ส่วนกลุ่มที่ต้องออกไปทำงานกลางแจ้ง ต้องใส่หน้ากาก ซึ่งหน้ากากอนามัยสามารถป้องกัน 40-50% แต่ถ้าเราหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย ใส่หน้ากาก2 ชั้นอาจจะป้องกันได้มากกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้การล้างจมูก พ่นจมูก สามารถทำได้ชั่วคราว แต่ถ้าธรรมชาติของคนเรา ขนจมูก เนื้อบุสามารถป้องกันได้อย่างดี สิ่งที่สำคัญ คือการใช้หน้ากากสามารถป้องกันได้มากกว่า ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ด้านเครื่องฟอกอากาศส่วนบุคคล ยังไม่มีการศึกษาในทางวิชาการว่าสามารถใช้ได้ในลดปริมาณฝุ่นเหลืออยู่เท่าใด การศึกษาที่ทดลองจะเป็นลักษณะอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งในความเป็นจริงคนเราไม่ได้อยู่นิ่งตลอดเวลา ประสิทธิภาพอาจจะลดลง

ดูแลร่างกาย  กินผัก ผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ 

"การรับประทานอาหาร การกินผัก ผลไม้สามารถช่วยลดฝุ่นได้  และการดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่มากพอจะช่วยชะล้างฝุ่นในร่างกายได้เช่นเดียวกัน"รศ.นพ.นิธิพัฒน์  กล่าว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวต่อว่าถ้าเราดูจากคนที่ต้นทุนสุขภาพต่ำกว่าคนอื่น หรือคนที่มีความเสี่ยง อย่าง กลุ่มเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ  และผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคปอด โรคระบบหายใจ โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง  โรคทางสมอง โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น ต้องเข้าใจระดับการเตือนภัยแต่ละสี ต้องติดตามสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิด และปฎิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันตัวเอง

หลีกเลี่ยงออกกำลังกายในพื้นที่เสี่ยงปริมาณฝุ่นPM2.5 สูง

นพ.ชลพันธ์  ปิยถาวรอนันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อปริมาณฝุ่นPM 2.5 มากขึ้น อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นจำนวนมาก และตรวจเช็กระบบการเตือนภัยแต่ละสี  ซึ่งกลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ และคอยติดตามอาการตัวเอง เวลาออกกำลังกายมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่

“ถ้าปริมาณฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม อยากแนะนำให้ออกกำลังกายในร่ม เช่น ว่ายน้ำ ปิงปอง บาส หรือเต้นออกกำลังกายต่างๆ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง แนะนำไม่ให้ออกจากบ้านและเฝ้าระวังอาการของตนเอง หากมีอาการผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ หรือสามารถตรวจดูแอปพลิเคชั่น Air 4 Thai หรือ ดูหลายๆ แอป เพื่อนำไปปฎิบัติให้เหมาะสม ถ้าออกกำลังเยอะในพื้นที่ฝุ่น เราจะใช้การหายใจเร็วขึ้น แรงขึ้น เราจะเสี่ยงสัมผัสฝุ่นมากขึ้น จึงไม่แนะนำให้ออกกำลังกายที่โล่งแจ้ง  และไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากออกกำลังกาย เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้”นพ.ชลพันธ์ กล่าว

แนวทางจัดทำห้องปลอดฝุ่น ป้องกันฝุ่นPM2.5

ผศ.ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันฝุ่น เครื่องวัดฝุ่น หรือการฟอกอากาศ อาจเป็นออฟชั่นเสริม เป็นตัวช่วยเตือนได้  แต่ไม่ใช่สิ่งที่ทุกบ้านต้องมี เพราะตอนนี้เพียงเรามีแอปพลิเคชั่น และประเทศไทยมีการลงทุนการตรวจวัด ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 รวมถึงหน่วยงานที่แจ้งเตือนต่างๆ   ซึ่งการแจ้งเตือน มีผลการวางแผนในเชิงอนาคต และเพื่อปรับพฤติกรรม การใช้ชีวิตของเราได้ เช่น ตอนนี้ PM2.5

“แนวทางการจัดทำห้องปลอดฝุ่น เป็นมาตรการหนึ่งด้านสาธารณสุขที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศภายในภาวะที่เกิดฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ ซึ่งหลักการของห้องปลอดฝุ่นนั้น จะเป็นการป้องกันฝุ่นละอองจากภายนอกอากาศ และไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองภายในห้อง ป้องกันการสะสมฝุ่นละออง และกำจัดอนุภาคของฝุ่นละอองภายในห้อง”

ทั้งนี้ แนวทางการจัดทำห้องปลอดฝุ่น จะมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ

 รูปแบบที่ 1 การปิดประตู-หน้าต่าง  อาจใช้วัสดุซีลประตู หน้าต่าง สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลอดทั่วไป ซึ่งมีข้อจำกัดคือ  ฝุ่นภายในอาคารอาจสูงกว่าภายนอกในช่วงที่ฝุ่นภายนอกลดลง ควรทำการเปิดประตูเมื่อฝุ่นลดลง

 รูปแบบที่ 2 ใช้ระบบกรองอากาศ โดยใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ สามารถลดปริมาณฝุ่นละอองในอาคารได้ เช่น เครื่องฟอกอากาศทางกล มักใช้กระดาษกรองชนิด HEPA ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกรองสูง  จำเป็นต้องเปลี่ยนกระดาษกรองตามรอบ และเครื่องฟองอากาศแบบไอออน ใช้ไฟฟ้าสถิตในการดักตับ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโอโซน เครื่องฟอกดังกล่าวควรผ่านการทดสอบว่ามีปริมาณการเกิดโอโซนไม่เกินระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน  ข้อจำกัดของรูปแบบนี้อาจมีการระบายอากาศไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการเปิดประตูหน้าต่างในช่วงที่ฝุ่นลดลง

รูปแบบที่ 3 ใช้ระบบความดัน  ดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาผ่านฟิลเตอร์ให้ห้องมีความดันสูงกว่าภายนอก สามารถป้องกันฝุ่นไม่ให้เข้ามายังภายในอาคารได้  ข้อจำกัดต้องการตรวจสอบฟิลเตอร์เป็นประจำ และเปลี่ยนเมื่อแรงลมลดลง

6 วิธีลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 

“ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวนมากเกี่ยวกับการป้องกันฝุ่น ดังนั้น อยากให้ประชาชน ผู้บริโภค เลือกผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม ตรวจสอบก่อนซื้อ หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ขอให้เลือกจากแหล่งที่ถูกต้อง มีมาตรฐานมอก.ชัดเจน ส่วนบริเวณการตั้งเครื่องฟอกอากาศ อย่าตั้งหน้าประตู หน้าต่าง เพราะไม่สามารถช่วยอะไรได้ และอย่านำอุปกรณ์อะไรไปตั้งปังเครื่องฟอกอากาศ แต่ควรตั้งเครื่องฟอกอากาศ ในบริเวณที่ฟอกอากาศกระจายไปทั่วห้อง” ผศ.ดร.ประพัทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ได้ 6 แนวทาง คือ

1.ติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศ

2.ประเมินอาการและความเสี่ยงต่อสุขภาพจากPM2.5  

3.ค้นหาห้องปลอดฝุ่น คลินิกมลพิษใกล้บ้าน

4.ปรึกษาแพทย์

5.ตรวจสอบประวัติอาการจากการรับสัมผัส PM2.5

 6.ความรู้เกี่ยวกับ PM2.5

โดยสามารถเพิ่มเพื่อน รับข้อมูลสื่อสาร แจ้งเตือนและประเมินอาการทุกวัน ได้ที่ เว็บไซต์ https://4health.anamai.moph.go.th และ Line official : 4health_PM2.5