"เครียดไม่รู้ตัว" เป็นยังไง? สังเกต 7 อาการทางกายที่บ่งบอกว่ากำลังเครียด

"เครียดไม่รู้ตัว" เป็นยังไง? สังเกต 7 อาการทางกายที่บ่งบอกว่ากำลังเครียด

เปล่านะ เราไม่ได้เครียดนะ! แต่ทำไมใจเต้นแรง ปวดเมื่อย เหงื่อออกผิดปกติ? ชวนวัยทำงานรู้จักอาการ "เครียดไม่รู้ตัว" ที่บ่งบอกได้ด้วยความผิดปกติทางร่างกายที่เชื่อมโยงกับสภาวะทางอารมณ์

อีกหนึ่งภาวะผิดปกติทางสุขภาพที่ "วัยทำงาน" หลายคนกำลังเผชิญอยู่แต่กลับถูกมองข้ามไป นั่นคือ ภาวะ “เครียดไม่รู้ตัว” แค่ชื่อก็บอกชัดแล้วว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว ไม่ทันตั้งตัว ไม่ทันตระหนักถึงความผิดปกตินี้ จึงทำให้ชาวออฟฟิศจึงขาดการดูแลตัวเองที่ถูกต้องเหมาะสม

แต่ไม่ใช่ว่าภาวะนี้จะไม่มีสัญญาณอะไรบ่งบอกเลย หากเราสังเกตร่างกายของเราดีๆ จะพบว่าร่างกายกำลังสื่อสารหรือส่งสัญญาณเตือนบางอย่างออกมาให้เรารับรู้เสมอว่าเรากำลัง “เครียด” อยู่ที่ว่าเราจะสนใจสัญญาณเตือนนั้นหรือไม่

ว่าแต่.. เครียดแบบรู้ตัวกับเครียดไม่รู้ตัว ต่างกันยังไง?

ข้อมูลจากเว็บไซต์ด้านสุขภาพ Health Line ระบุว่า “ความเครียด” เป็นความรู้สึกท่วมท้นหรือความรู้สึกที่ไม่สามารถรับมือกับความกดดันทางจิตใจหรืออารมณ์ได้ ซึ่งอาจมีผลทางจิตใจและร่างกาย เมื่อถึงจุดหนึ่งคนส่วนใหญ่จะสามารถจัดการกับความรู้สึกเครียดได้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ทำไม่ได้และอาจเชื่อมโยงถึงโรคภัยต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากความเครียด

ส่วนใหญ่ผู้คนที่เครียดจนถึงขั้นป่วย มักจะรู้ตัวว่ามีความเครียดในระดับสูงและมีอาการบ่งชี้ชัดเจน ได้แก่ เหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดหัว ปวดต้นคอ นอนไม่หลับ เนือยนิ่ง ไม่แอคทีฟ แรงขับทางเพศลดลง ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ

แต่ถ้าเป็นกรณี “เครียดไม่รู้ตัว” มักจะไม่พบอาการข้างต้นหรืออาจพบได้บ้างในระดับต่ำจนเจ้าตัวไม่ทันสังเกตเห็น แต่กลับมีอาการทางร่างกายอื่นๆ แสดงออกมาแทน ได้แก่

  • ปวดเมื่อยร่างกาย

ระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ปวดเมื่อร่างกายได้ การศึกษาบางชิ้นพบว่าอาการปวดเรื้อรังอาจเกี่ยวข้องกับระดับความเครียดที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับระดับสาร “คอร์ติซอล” (ฮอร์โมนความเครียด) ที่จะหลั่งออกมาเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายเครียด และทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้

  • ท้องผูก อาหารไม่ย่อย

งานวิจัยบางชิ้นพบว่าความเครียดเกี่ยวข้องกับปัญหาทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก แสบร้อนกลางอก ท้องเสีย รวมถึงความผิดปกติของการย่อยอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือโรคลำไส้อักเสบ (IBD)

\"เครียดไม่รู้ตัว\" เป็นยังไง? สังเกต 7 อาการทางกายที่บ่งบอกว่ากำลังเครียด

  • สิวขึ้น

การศึกษาบางชิ้นพบว่าระดับความเครียดที่สูงขึ้นนั้นสัมพันธ์กับการเกิดสิวที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเมื่อคนเรารู้สึกเครียดมักจะจับใบหน้าบ่อยขึ้น ซึ่งทำให้แบคทีเรียแพร่สู่ผิวหน้าและเกิดการอักเสบเป็นสิวได้ แต่ทั้งนี้มักจะมีปัจจัยด้านฮอร์โมนร่วมด้วย 

  • ป่วยบ่อย/ป่วยง่าย

หากคุณรู้สึกว่าเป็นหวัดง่าย เป็นไข้ง่าย แพ้อากาศบ่อยกว่าที่เคย แผลหายช้ากว่าเดิม หรือมีอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นอาจเกิดจากความเครียดได้เช่นกัน เนื่องจากความเครียดส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง และไวต่อการติดเชื้อมากขึ้น

\"เครียดไม่รู้ตัว\" เป็นยังไง? สังเกต 7 อาการทางกายที่บ่งบอกว่ากำลังเครียด

  • กินเยอะ/น้อย ผิดปกติ

เมื่อคุณรู้สึกเครียด คุณอาจพบว่าตัวเองไม่มีความอยากอาหารเลย หรือกินมากเกินไปโดยไม่ทันสังเกต มีงานวิจัยหนึ่งในปี 2017 พบว่าบุคคลที่มีระดับคอร์ติซอลและอินซูลินสูงสัมพันธ์กับความเครียดเรื้อรังในระดับที่สูงขึ้น

  • หัวใจเต้นเร็ว

การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าระดับความเครียดสูงอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วหรืออัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นเมื่อยู่ ในเหตุการณ์ตึงเครียด รวมถึงมีความดันโลหิตเพิ่มขึ้นด้วย

  • เหงื่อออกมากผิดปกติ

ความเครียดอาจทำให้เหงื่อออกมากเกินไป งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าความเครียดสามารถเพิ่มอัตราการขับเหงื่ออย่างมีนัยสำคัญในระดับ 2-5 จุด ในผู้ที่มีภาวะเหงื่อออกมากในฝ่ามือ รวมถึงพบว่าผู้ที่เผชิญกับความเครียดมักจะมีเหงื่อออกและมีกลิ่นตัวในปริมาณมาก (ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใต้วงแขน)

\"เครียดไม่รู้ตัว\" เป็นยังไง? สังเกต 7 อาการทางกายที่บ่งบอกว่ากำลังเครียด

เอาเป็นว่าใครที่มักจะมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในบางช่วงเวลา และหาสาเหตุไม่ได้ นั่นอาจเกิดจากภาวะความเครียดไม่รู้ตัวที่เกิดขึ้น โดยที่คุณไม่ทันได้สังเกต แต่เมื่อสังเกตเห็นแล้วก็ควรหาวิธีผ่อนคลายตัวเอง อย่าปล่อยให้จมอยู่กับความเครียดนานๆ เพราะอาจส่งต่อเนื่องร้ายแรงถึงการเกิดโรคทางจิตเวชหรือการฆ่าตัวตายได้

ทั้งนี้ “ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา” (US CDC) มีวิธีคลายเครียดในชีวิตประจำวันที่ทำได้ง่ายๆ มาแนะนำวัยทำงาน ได้แก่ พักจากการเสพข่าวที่ตึงเครียด, พักจากหน้าจอคอมฯ/สมาร์ทโฟน, ออกกำลังกายเป็นประจำ, นอนหลับให้เพียงพอ, หยุดพักงานระหว่างวัน, ฝึกการหายใจช้าๆ ลึกๆ, นั่งสมาธิ, งดเครื่องดื่มมึนเมา/บุหรี่, ทำกิจกรรมที่ชอบ (ดูหนังฟังเพลง อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร เลี้ยงสัตว์), พูดคุยกับเพื่อนที่ไว้ใจได้หรือคุยกับนักบำบัด

--------------------------------------------

อ้างอิง : Health Line