"หมอธีระ" เผยโควิด-19 ยุบยับ ยากกว่ายุง ย้ำฉีดวัคซีน ลดป่วยรุนแรง-เสียชีวิต

"หมอธีระ" เผยโควิด-19 ยุบยับ ยากกว่ายุง ย้ำฉีดวัคซีน ลดป่วยรุนแรง-เสียชีวิต

"หมอธีระ" เผยโควิด-19 ยากที่จะควบคุม ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ลดโอกาสป่วยรุนแรง-เสียชีวิต และลดความเสี่ยงของ Long COVID

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 285,500 คน ตายเพิ่ม 433 คน รวมแล้วติดไป 653,604,873 คน เสียชีวิตรวม 6,658,290 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิดสูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. เกาหลีใต้
  3. ฝรั่งเศส
  4. ฮ่องกง
  5. ไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.13 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.69

ยุบยับ...ยากกว่ายุง

"ยุงร้ายกว่าเสือ" นั้นเป็นคำกล่าวที่เราเคยได้ยินกันบ่อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และสะท้อนความเป็นจริง

หากเปรียบยุงกับเสือแล้ว แม้เผชิญหน้ากับเสืออาจถึงชีวิตได้ แต่โอกาสเจอเสือนั้นยากยิ่งนักในปัจจุบัน ขณะที่ยุงเป็นสัตว์ที่พบได้ชุกชุมทั่วไป มีหลากหลายชนิด และเป็นพาหะนำโรคต่างๆ ได้มาก อาทิ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น ชิกุกุนย่า ซิก้า เวสต์ไนล์ โดยแต่ละโรคก็ทำให้ป่วย ป่วยหนักรุนแรง เสียชีวิต รวมถึงเกิดปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรังระยะยาวตามมาได้

แต่สำหรับยุงกับโควิด-19 นั้น การป้องกันยุงมีหลากหลายวิธี และยังทำได้สะดวกกว่าการจัดการป้องกันโควิด-19 ที่ปล่อยให้เกิดการระบาดหนักไปแล้ว ทั้งนี้เพราะยุงนั้นยังพอสังเกตเห็นได้ รู้แหล่งและเวลาที่พบมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

แต่ ณ ปัจจุบัน การแพร่ระบาดหนักของโควิด-19 นั้นยากที่จะควบคุม เพราะสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ทั้งช่วงที่คนคนนั้นไม่มีอาการไปจนถึงช่วงที่มีอาการ ช่วงเวลาที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ก็กินเวลานานได้ถึง 10-14 วันนับจากที่ติดเชื้อมา หากไม่ได้ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอทั้งฝ่ายคนที่ติดเชื้อ เสี่ยงติดเชื้อ และคนทั่วไป ความเสี่ยงย่อมมีแน่นอนระหว่างดำรงชีวิตประจำวัน เกิดติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้โดยไม่รู้ตัว หรือไม่ทันระวังตัว

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเห็นการรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกันให้ครบตามที่กำหนด เพื่อหวังว่าจะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรงเวลาที่ติดเชื้อมา ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต และลดความเสี่ยงของ Long COVID ไปได้บ้าง

สิ่งที่เราทำได้นอกเหนือไปจากวัคซีนคือ การป้องกันตัวอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ (Primary prevention) ด้วยการใส่หน้ากากเสมอเวลาใช้ชีวิตนอกบ้าน ล้างมือ เว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น หากต้องพบปะพูดคุยใกล้ชิดก็ควรใช้เวลาสั้นๆ ไม่ไปในที่อโคจร ที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

สุดท้ายคือ หากไม่สบาย หรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ก็ควรตรวจ ATK ด้วยตนเอง

ดังที่เคยแนะนำไว้มาตลอดว่า ถ้ามีอาการไม่สบาย ตรวจแล้วผลบวกแปลว่าติดเชื้อ ก็ให้แยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วันจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ซ้ำได้ผลลบ จึงค่อยออกมาใช้ชีวิตและป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์

แต่หากไม่สบาย ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ ให้ตรวจซ้ำทุกวันอย่างน้อย 3 วันติดกัน

ส่วนคนที่ไปคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยง ก็ตรวจ ATK วันเว้นวัน จำนวน 3 ครั้งใน 5 วัน

มองความเป็นไปรอบตัว

ข่าวบันเทิง คอนเสิร์ตต่างๆ ที่จัดใหญ่โต คนแออัดจำนวนมาก กินดื่มกัน เต้นรำใกล้ชิด ตะโกนร้องเฮฮา และไม่ใส่หน้ากาก แม้จะอยู่ในที่โล่งแจ้ง แต่ความเสี่ยงย่อมมีแน่นอน และหากเป็นการจัดในตัวอาคาร ความเสี่ยงก็จะมากขึ้นไปอีก

ขอให้ช่วยกันประเมินตนเองในสัปดาห์ถัดจากนี้ สังเกตอาการไม่สบายหลังจากไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้น ว่ามีไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยหอบ ฯลฯ หรือไม่ ถ้าจะให้ดี ก็ควรตรวจ ATK ตั้งแต่วันที่กลับจากกิจกรรมเลยดังคำแนะนำข้างต้น เพื่อตัดวงจรแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลให้คนสูงอายุ และเด็กเล็กในบ้านเจ็บป่วยไม่สบายกันได้

ตอนนี้ติดเชื้อแพร่เชื้อกันมากจริงๆ ไม่ใช่เวฟเล็กแน่นอน มองด้วยตารอบตัวย่อมทราบกันดี

ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสุขภาพกันนะครับ

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ...เป็นหัวใจสำคัญ