“สุขภาพเพศ” อยู่ดีมีสุขทุกมิติ เข้าใจความต่าง บนความหลากหลาย

“สุขภาพเพศ” อยู่ดีมีสุขทุกมิติ  เข้าใจความต่าง บนความหลากหลาย

ความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นในแบบที่ตัวเองต้องการ "สุขภาพเพศ" จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่จะสร้างความเข้าใจ โดยองค์ประกอบสำคัญครอบคลุมทั้ง กาย ใจ การเข้าถึงบริการ และสิทธิทางเพศ

LGBTQ+ ถูกหยิบยกนำมาพูดคุยกันในวงกว้างมากขึ้น  “องค์การอนามัยโลก” ให้นิยาม “สุขภาพเพศ” (Sexual Health) ว่า ความอยู่ดีมีสุขในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางเพศ ไม่ว่าจะทางกาย ใจ ความสัมพันธ์ทางสังคม เราจะไม่สามารถมีสุขภาพเพศได้ หากไม่มีสิทธิทางเพศ  หากมีองค์ความรู้ความเข้าใจถึง ความหลากหลายทางเพศ แหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีความรู้ความเข้าใจ LGBTQ+ จะนำไปสู่การมี "สุขภาพเพศ” (Sexual Health) ที่แท้จริงได้

 

“นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล”แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ครอบครัว Pride Clinic โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายในงาน Exclusive Talk‘Be Proud, Be Healthy’ โดย Pride Clinic โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ว่า สุขภาพเพศที่ดีนั้น ในสังคมที่อยู่ต้องได้รับสิทธิทางเพศ เช่น ปลอดภัย ไม่ถูกคุกคาม หรือเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีความหลากหลายแบบไหน มีความชื่นชอบทางเพศแบบไหน รวมถึงการรักษาความลับ ควรจะเป็นสิทธิของเราที่จะได้รับการปกป้อง และสิทธิการสมรส สร้างครอบครัว และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานโดยที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ 

 

“ปัจจุบัน ความเข้าใจในเรื่องของสุขภาพเพศ เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ดังนั้น ความก้าวหน้าทางวิชาการจึงก้าวหน้าน้อยกว่าประเด็นอื่น ประเด็นถัดมา คือ การผลักดัน ทุกคนรู้ว่ามี แต่การที่จะนำมาพูดคุยกันอย่างเปิดเผย ตรงมาตรงไปมีความท้าทายสูง จะเห็นการขับเคลื่อนในภาคประชาสังคมมาอย่างยาวนาน และในส่วนของการแพทย์เองก็ต้องยอมรับว่า ค่อนข้างช้าในการขับเคลื่อน แต่เมื่อประชาสังคมมีการขับเคลื่อน แพทย์รุ่นใหม่ๆ ที่มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในเรื่องสุขภาพเพศ และเชื่อว่าทิศทางกำลังมา

 

“สุขภาพเพศ” อยู่ดีมีสุขทุกมิติ  เข้าใจความต่าง บนความหลากหลาย

 

Pride Clinic หนุนความแตกต่าง

 

ทั้งนี้มิถุนายน 2564  โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เปิด Pride Clinic เพื่อการดูแลสุขภาพในระยะยาว (Life-time value) ด้วยบริการครบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One-Stop Service) แก่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘คนทุกคนสามารถบรรลุศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ หากได้เป็นตัวของตัวเองในแบบฉบับที่ดีที่สุด’ (Be the best version of yourself)

 

นพ.เบญทวิช  ระบุว่าปัจจุบันมี LGBTQ+ มาใช้บริการทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ โดยปัญหาสุขภาพที่แพทย์ได้ให้คำปรึกษามากที่สุด คือ สุขภาพเพศซึ่งจากประวัติศาสตร์ของกลุ่ม LGBTQ+ ถูกเลือกปฏิบัติจากบุคลากรทางการแพทย์ในการเข้ารับบริการทางสุขภาพรวมถึงสุขภาพเพศ อีกทั้ง ถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นกลุ่มผู้ที่แพร่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้บุคคลหลากหลายทางเพศเข้าถึงบริการสุขภาพเพศอย่างยากลำบาก และต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังขาดแหล่งข้อมูลหรือสถาบันที่สามารถเป็นที่พึ่งพิงในการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามข้อมูลทางการแพทย์ในเรื่องสุขภาพเพศของ LGBTQ+ ได้อย่างครบวงจร

 

“สุขภาพเพศ” อยู่ดีมีสุขทุกมิติ  เข้าใจความต่าง บนความหลากหลาย

 

“กลุ่มคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น ซึ่งหากเป็น LGBTQ+ และเป็นวัยรุ่นต้องใช้แพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ต้องชะลอความเป็นหนุ่มสาวเมื่อเริ่มรู้ตัว เช่น ชายข้ามเพศ ไม่อยากมีหน้าอก ไม่ชอบการมีประจำเดือน และหญิงข้ามเพศเองก็กลัวเสียงจะแตก ไหล่กว้าง เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ และพาบุตรหลานเข้ารับคำปรึกษา ผลลัพธ์ก็จะดี ขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่ดูคนไข้ แต่ต้องทำงานกับครอบครัว โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ต้องทำความเข้าใจกับครอบครัว

 

สิ่งเหล่านี้สะท้อน ทิศทางการที่สังคมเริ่มมีความรู้ความเข้าใจ สื่อต่างๆ รวมถึงการพูดคุยในกลุ่มหลากหลายทางเพศในวัยรุ่นมากขึ้น บริการทางสุขภาพต่างๆ ผู้ปกครองเริ่มรับรู้ในส่วนนี้ “นพ.เบญทวิช” อธิบายต่อไปว่า ความยากของการดูแล LGBTQ+ มี 2 ประเด็น คือ

ประเด็นที่หนึ่ง จะจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมอย่างไรให้เป็นมิตร นี่คือโจทย์ของทุกที่เพราะเป็น Pain Point ห้องน้ำรวมมีหรือไม่ และ การเทรนด์บุคลากร

 

ประเด็นที่ 2 คือ ปัญหาเฉพาะ เช่น การให้ฮอร์โมนข้ามเพศ ในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต แพทย์ไทยไม่ได้เรียน ต่อให้เฉพาะทางเองก็ไม่มี ดังนั้น ต้องเป็นแพทย์ที่สนใจจริงๆ หรือต้องเรียนรู้จากต่างประเทศ แพทย์ที่ทำด้านนี้จึงต้องทำด้วยใจและ "Passion สูงมาก”

 

“สุขภาพเพศ” อยู่ดีมีสุขทุกมิติ  เข้าใจความต่าง บนความหลากหลาย

 

ฮอร์โมนเกิน เสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

 

ขณะเดียวกัน การให้ฮอร์โมน ยังเป็นบริการที่บุคคลข้ามเพศต้องการ ยกตัวอย่าง หญิงข้ามเพศ แม้ซื้อฮอร์โมนเองได้ง่ายเพราะเป็นยาเม็ด แต่สิ่งที่เราเจอ คือ ฮอร์โมนที่เขาใช้คือยาคุมกำเนิด ซึ่งไม่แนะนำ เพราะจะทำให้เกิดในเรื่องของลิ่มเลือดดำอุดตันในปอดได้ ขณะเดียวกัน การตรวจระดับฮอร์โมน เราไม่สามารถตรวจได้ว่าระดับฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยโดยประเมินจากภายนอก วันนี้สวย ผิวพรรณดี แต่ระดับฮอร์โมนอาจจะเกินได้ ซึ่งการรับฮอร์โมนที่เกินจะนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ 

 

“หรือแม้กระทั่งบางคนผ่าตัดเปลี่ยนเพศแล้ว สวยแล้ว มีหน้าอก คิดว่าไม่ต้องใช้ฮอร์โมน ปรากฏว่าหลายคนที่มาตรวจ คนไข้มีภาวะกระดูกพรุนก่อนวัย เป็นข้อมูลที่คนไข้อาจจะไม่ทราบ ขณะที่ชายข้ามเพศ เป็นยาฉีดทั้งหมด และอีกกลุ่ม คือ Non – Binary ซึ่งส่วนใหญ่พบในวัยรุ่น มีรายละเอียดที่ค่อนข้างยาก ซึ่งทีมแพทย์ต้องเรียนรู้เสมอ อัพเดทข้อมูลปรึกษากันและกันตลอด และบางครั้งเราก็ต้องเรียนรู้จากผู้มารับบริการเช่นกัน” 

 

“พอเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ สุขภาพเพศ ไม่ใช่เรื่อง Health ที่ตรงมาตรงไป แต่มีประเด็นเรื่องสังคม การเมือง กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง การขับเคลื่อน จึงใช้พลังสูงมาก แต่ค่อนข้างเห็นทิศทางที่พัฒนาของไทย เรียกว่ามาไกลพอสมควรในด้านการดูแลสุขภาพ” นพ.เบญทวิช กล่าว

 

“สุขภาพเพศ” อยู่ดีมีสุขทุกมิติ  เข้าใจความต่าง บนความหลากหลาย

 

ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ

 

“Pride Clinic” ถูกพัฒนาขึ้นมาจากพื้นฐานความเข้าใจในความต้องการของกลุ่ม LGBTQ+ และคำนึงถึงทุกมิติของสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจและสังคม บวกกับอยู่บนหลักการแพทย์ที่ถูกต้อง เพื่อให้กลุ่ม LGBTQ+ ได้เข้าถึงการบริบาลที่ครอบคลุมทุกมิติ (holistic integrated care) และสามารถบรรลุเป้าหมายตามความต้องการของแต่ละบุคคล (personalized care) ตั้งแต่การเข้ารับคำปรึกษาและคำแนะนำทางการแพทย์ การใช้ฮอร์โมนบำบัด การทำศัลยกรรมปรับเปลี่ยนรูปร่าง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนเพศสภาพ การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดและติดตามผล ซึ่ง Pride Clinic จะเป็นพาร์ทเนอร์ในการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพต่อเนื่องไปตลอดชีวิต (lifetime health partner)

 

ทั้งนี้ ในประเทศไทย มีคลินิกที่เปิดให้บริการกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic) คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล , คลินิกสุขภาพชุมชนแทนเจอรีน หรือ “คลินิกแทนเจอรีน” ขณะที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิด “คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร” ซึ่งนอกจากจะให้บริการกลุ่มที่มีความหลากหลายแล้วยังเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะทางให้แก่แพทย์ นักเรียนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจ อีกทั้ง ยังเป็นศูนย์วิจัยระดับนานาชาติด้านสุขภาพของคนข้ามเพศร่วมกับ Center of Excellence in Transgender Health (CETH) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

 

“สุขภาพเพศ” อยู่ดีมีสุขทุกมิติ  เข้าใจความต่าง บนความหลากหลาย