การดูแลสุขภาพ ทำไมจึงแพง? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การดูแลสุขภาพ ทำไมจึงแพง? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการดูแลสุขภาพตัวเองว่าด้วยการกินให้น้อยลง ทั้งในเชิงของปริมาณและในเชิงของการจำกัดช่วงเวลาในการกินต่อวัน นอกจากนั้นแล้วการดูแลตัวเองที่สำคัญอีก 2 ประการ

1.การออกกำลังกายให้มากขึ้น WHO ประเมินว่าปัจจุบันมนุษย์ประมาณ 1,400 ล้านคน (เกือบ ¼ ของประชากรโลก) ออกกำลังกายไม่เพียงพอ กล่าวคือควรออกกำลังกายแบบปานกลาง (เช่น เดินเร็ว) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์หรือออกกำลังกายแบบเข้มข้น (เช่น วิ่ง) อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์

ทั้งนี้งานวิจัยส่วนใหญ่จะมีข้อสรุปว่าการออกกำลังกายเกินกว่าขั้นต่ำดังกล่าวยิ่งจะทำให้สุขภาพดีขึ้นโดยรวม จนกระทั่งออกกำลังกายเกินกว่าเกณฑ์ดังกล่าวประมาณ 3 เท่าจึงจะไม่ทำให้สุขภาพดีหรืออายุยืนมากขึ้น

ทั้งนี้จะต้องออกกำลังกายอย่างระมัดระวังและควรปรึกษาแพทย์ก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้สูงวัย (อายุเกินกว่า 60 ปี)

2.การนอนหลับให้เพียงพอ คืออย่าให้ต่ำกว่า 5 ชั่วโมงต่อ 1 คืนและควรจะนอนให้ได้ครบทั้งแบบ REM (rapid eye movement) คือหลับฝันประมาณ 1.5 ชั่วโมง แบบ deep sleep ประมาณ 1.5 ชั่วโมงและหลับแบบที่เรียกว่า light sleep อีกประมาณ 4 ชั่วโมง

(ทั้งนี้โดยการใส่นาฬิกาประเภท Fitness Tracker ที่ประมวลคุณภาพการนอนได้ดี ซึ่งรับรองว่าราคาถูกกว่านาฬิกาหรูและคุ้มค่าสำหรับการดูแลสุขภาพของตัวเองในวันนี้และวันหน้าให้ดีที่สุดจะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน)

แต่ต้องยอมรับว่าแม้เราจะดูแลตัวเองดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงที่เมื่อแก่ตัวมาแล้วก็จะต้องเป็นโรคใดโรคหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้สูงวัย คือโรคเส้นเลือดตีบตันในหัวใจหรือสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อมหรือโรคทางเดินหายใจ เป็นต้น

การดูแลสุขภาพ ทำไมจึงแพง? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

กล่าวคืนหากดูตามสถิติแล้วจะเห็นว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเหนือปัจจัยอื่นๆ สำหรับโรคดังกล่าวคืออายุที่เพิ่มขึ้น แต่อาจมีความแตกต่างเล็กน้อย เช่น โรคมะเร็งนั้นหากผ่านพ้นไม่เป็นได้เกินกว่าอายุ 80 ปี ความเสี่ยงก็จะลดลงเมื่ออายุ 90 ปีหรือมากกว่า แต่อีกโรคหนึ่งที่ขึ้นมาแทนคือโรคสมองเสื่อมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในผู้สูงอายุวัย 80 ปีหรือมากกว่า เป็นต้น

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการเป็นโรคร้ายดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานว่าเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน (uncertainly) คือไม่มีใครรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะเป็นโรคร้ายอะไรและเมื่อไหร่

ดังนั้น แนวทางเพื่อลดผลกระทบของความเสี่ยงดังกล่าวคือ การประกันสุขภาพของคนส่วนใหญ่ในสังคม กล่าวคือคนจำนวนมาก “ลงขัน” กันจ่ายเบี้ยประกันที่คำนวณจากความเสี่ยงโดยรวมที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์คือคนที่โชคร้ายเกิดป่วยเป็นโรคร้ายก็จะได้มีเงินค่ารักษาพยาบาลที่ดีที่สุด

ในขณะที่คนโชคดีก็ถือว่าได้ซื้อ “ความสบายใจ” หรือขายความกังวลออกไปให้บริษัทประกันรับเอาไปบริหารความเสี่ยง

แต่เรื่องของสุขภาพนั้นมีความสลับซับซ้อนและมีลักษณะเฉพาะตัวที่ทำให้กลไกตลาดเสรีอาจจะไม่สามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ เช่น กรณีของการระบาดของ COVID-19 นั้นจะต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันให้ทั่วถึง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมีการแพร่เชื้อและป่วยหนักหรือล้มตายเป็นภาระของสังคมได้ รัฐบาลจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษา

การดูแลสุขภาพ ทำไมจึงแพง? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

นอกจากนั้นก็ยังมีความเชื่ออย่างกว้างขวางว่าสุขภาพที่ดีและการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพนั้นเป็น “สิทธิ” ของประชาชน ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทในการกระจายบริการด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั่วถึงและมีคุณภาพที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

การให้บริการด้านสุขภาพและการรักษาผู้ป่วยนั้นมีความแตกต่างจากการซื้อ-ขายสินค้าและบริการอื่นๆ คือในกรณีอื่นๆนั้น ผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการนั้นจะค่อนข้างรู้ดีว่าตัวเองต้องการสินค้าหรือบริการอะไร

แต่เมื่อเรามีอาการป่วยนั้นเรามักจะไม่รู้ว่าเราป่วยเป็นโรคอะไรจึงต้องพึ่งพาให้คุณหมอเป็นคนประเมินอาการของเรา แปลว่าผู้ขายบริการจะรู้ดีกว่าเราว่าควรได้รับการรักษาอย่างไรและมีทางเลือก ตลอดจนความเสี่ยงประการใดบ้าง

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราซื้อประกันสุขภาพ บริษัทประกันที่ต้องรับความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพแทนเราจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของเราน้อยกว่าตัวของเราเอง ในบางกรณีเราก็อาจต้องการปกปิดข้อมูลหากเรามีอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่ทำให้เราต้องการซื้อประกันสุขภาพ

แต่หากคนที่ซื้อประกันสุขภาพส่วนใหญ่เป็นคนที่สุขภาพไม่ดี บริษัทประกันสุขภาพก็จะมีต้นทุนสูงมากทำให้ต้องกำหนดเบี้ยประกันที่สูงเกินไป โดยเฉพาะคนที่สุขภาพดีก็จะยิ่งไม่ต้องการซื้อประกันสุขภาพ สภาวการณ์ดังกล่าวที่จะทำให้ระบบประกันสุขภาพล่มสลาย ดังนั้นในกรณีของประเทศ

การดูแลสุขภาพ ทำไมจึงแพง? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

สหรัฐอเมริกาจึงได้มีการบังคับให้คนอายุน้อยที่สุขภาพดีต้องเข้าร่วมในระบบประกันสุขภาพด้วย โดยการคิดค่าปรับหากประสงค์จะไม่เข้าร่วมระบบประกันสุขภาพ

ความไม่เท่าเทียมกันของการรับรู้ข้อมูลนี้คือจุดด้อยของระบบประกันสุขภาพที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Adverse Selection

ในอีกด้านหนึ่งเมื่อเราซื้อประกันสุขภาพแล้วก็อาจเกิดกรณีที่เรีกว่า Moral Hazard คือเมื่อเราจ่ายค่าประกันสุขภาพแล้ว เราก็ไม่ต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีเพราะให้เป็นภาระของคุณหมอและโรงพยาบาล

นอกจากนั้นหากเรามีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยก็จะรีบใช้บริการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ (ใช้บริการให้ “คุ้มค่า”) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนโดยรวมของการรักษาพยาบาลสูงขึ้น


สำหรับคุณหมอนั้นการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะที่เป็นโรคร้ายและมีอาการป่วยหนักก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดความผิดพลาดหรือถูกผู้ป่วย (หรือญาติของผู้ป่วย) ฟ้องร้องได้ ดังนั้น จึงต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประกันถูกฟ้องร้องที่แพงขึ้นไปเรื่อยๆ

นอกจากนั้นก็จะต้องมีระบบให้ขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ และ/หรือการใช้เครื่องมือพิเศษในการตรวจอาการ ซึ่งย่อมหมายความว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพนั้นราคาปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าสินค้าและบริการทั่วไป.