“เทพฤทธิ์ ทิพชัชวาลวงศ์” Workflow กับ "การใช้ชีวิต" ต้องไปด้วยกัน

“เทพฤทธิ์ ทิพชัชวาลวงศ์”  Workflow กับ "การใช้ชีวิต" ต้องไปด้วยกัน

Work Life Balance "กรุงเทพธุรกิจ" สัมภาษ์พิเศษ “เทพฤทธิ์ ทิพชัชวาลวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด กับมุมมองการทำงาน การใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพ และการสร้างเวลาคุณภาพให้กับครอบครัว

ชีวิตบาลานซ์ชัดเจนไม่ได้ แต่เชื่อว่า Workflow กับชีวิตต้องไปด้วยกัน แนวคิดของ คุณเฮง “เทพฤทธิ์ ทิพชัชวาลวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด ในวัย 43 ปี ซึ่งบอกเล่าให้กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้ฟัง พร้อมกับเผยถึงเคล็ดลับความสำเร็จการใช้ชีวิตในฐานะผู้บริหารและผู้นำครอบครัว

 

หลังจากที่ บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด ทำการวิจัยพัฒนาโดยใช้เวลากว่า 3 ปี สู่การผลักดันธุรกิจให้เป็นที่รู้จัก ทำให้ คุณเฮง ได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้บริหารในสายงานบัญชีและการเงินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สู่การนั่งแท่นบริหารบริษัทเทคโนโลยีก่อสร้างที่มุ่งเน้นสู่ Green Economy โดยเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งโทเทิลโซลูชั่น (Total Solution) สำหรับอาคารและบ้านพักอาศัย

 

“การออกจากคอมฟอร์ดโซน เป็นเรื่องที่ยากสำหรับทุกคน” คุณเฮง กล่าว ผมจบทางด้านบัญชี แต่มองว่าโซลูชั่นสำหรับการสร้างอาคารประหยัดพลังงานเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจและเปิดใจเรียนรู้ พอเปิดใจศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ มองว่าไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร สถาปนิก หรืออะไรก็ตามแต่ที่จะทำเรื่องนี้ได้ สิ่งสำคัญ คือ ความตั้งใจที่อยากจะทำหรือไม่ ผมมี Mindset ของการทำธุรกิจก็จริง แต่หากไม่ลงไปฝึกษาในด้าน Technical ก็จะดูแลธุรกิจนี้ไม่ได้ ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำ จากเดิมที่ดูแลธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ถือเป็นเครื่องมือในการต่อยอดทำตรงนี้”

 

“เวลาเจอปัญหาอาจจะเป็นคนประเภทที่ไม่หนี สู้ไปก่อนพอเราสู้และหันหลังกลับไปดูอีกทีจะเห็นว่าเราพัฒนามาถึงจุดนี้ได้โดยไม่รู้ตัว ผมไม่ได้คิดไกล แต่ซอยเป้าหมายให้แคบลง รู้ว่าเราจะไปทิศทางไหน แม้บางครั้งอาจจะเร็วหรือช้า”

 

“เทพฤทธิ์ ทิพชัชวาลวงศ์”  Workflow กับ "การใช้ชีวิต" ต้องไปด้วยกัน

 

ทัศนคติ สำคัญที่สุด

 

สำหรับ บทบาทการบริหารงานในองค์กร ที่ส่วนใหญ่มีพนักงานเป็นคนรุ่นใหม่ การมองหาคนเข้ามาร่วมงานจึงต้องมอง 3 เรื่องสำคัญ อันดับ 1 คือ ทัศนคติ รองลงมา ความพยายาม และสุดท้าย ความรู้ความสามารถ “คุณเฮง” อธิบายว่า ทัศนคติ สำคัญที่สุด ต่อให้เก่งที่ไหน ทัศนคติเชิงลบก็ทำงานร่วมกันยาก แต่คนที่มีทัศนคติเชิงบวก แม้ไม่ค่อยเก่งมาก มีความพยายามที่จะเรียนรู้ แบบนี้ผมสนับสนุน ไม่มีใครรู้ทั้งหมด ผมก็ต้องมาเรียนรู้เรื่องโซลูชั่นเองเช่นกัน ขณะเดียวกัน หากทำงาน 7 วัน แล้วงานไม่ออก สำหรับผมคือ คุณหยุดทุกวัน แต่หากงานสำเร็จผมมองว่าเขาทำงาน 24 ชั่วโมง โดยทำงานที่ไหนก็ได้

 

อีกทั้ง การทำงานแน่นอนว่าต้องมีความขัดแย้ง แต่เราขัดแย้งกันด้วยเนื้อหาไม่ใช่ขัดแย้งที่รูปแบบ เพราะเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นสร้างผลลัพธ์ให้เกิด บางครั้งจึงประณีประนอมกับข้อเท็จจริงไม่ได้ เราต้องกล้าพูด และออกไปจากห้องต้องไม่มีอารมณ์ส่วนตัว ต้องเอาพลังขององค์กรไปสู้กับปัญหาข้างนอก พยายามสร้างวัฒนธรรมและแนวคิดองค์กร และแน่นอนว่า แนวคิดนี้ จะถูกถ่ายทอดให้กับพนักงานใหม่ๆ ที่เข้ามาสมัครเช่นกัน

 

แม้เป็น CEO ก็ผิดได้

 

“เวลารับสมัครพนักงานผมจะบอกแนวคิดให้ชัดเจน แล้วมาลองกัน อยู่ที่ว่าคุณมีความเชื่อหรือไม่ หากเขาไม่เชื่อ วันแรกเราจะได้ไม่เสียเวลาซึ่งกันและกันมันจะดีกับเราทั้งสองฝ่าย ผมไม่มีตรงกลางและชัดเจนมาก การสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ง่าย แต่หากคนส่วนใหญ่ในองค์กรเกินครึ่งคิดเหมือนกันมันจะลงตัว และผมบอกเสมอว่า แม้เป็น CEO ก็ผิดได้ เราต้องรับฟัง หากมัวแต่เกรงใจกัน องค์กรจะไม่เกิด พูดคุยเพื่อแก้ไข ถกเถียงเพื่อค้นหาความจริงในการแก้ปัญหา”

 

“เทพฤทธิ์ ทิพชัชวาลวงศ์”  Workflow กับ "การใช้ชีวิต" ต้องไปด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ออฟฟิศที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง พยายามใช้ทุกฟังก์ชันให้เป็นประโยชน์ เช่น มีสวนให้พักผ่อน ฟิตเนส สระว่ายน้ำ “ผมบอกทีมว่า คนเราต้องออกกำลังกาย สุขภาพก็เหมือนเสาเข็มพื้นฐานของอาคาร หากตรงนี้ไม่แน่น สุดท้ายสุขภาพไม่ดี เก่งแค่ไหนป่วยก็ไร้ค่า ผมไม่ดีใจที่วันหนึ่งเขาทำงานหนักแล้วป่วย ดังนั้น เราสร้างหลักคิด สร้างสิ่งแวดล้อมให้ ส่วนจะบาลานซ์อย่างไรแล้วแต่หลักคิดของแต่ละคน

 

2 ชั่วโมง เวลาทองคำ

 

เมื่อถามถึง การแบ่งเวลาทำงานกับการใช้ชีวิต คุณเฮง อธิบายว่า ชีวิตคนเราจะบาลานซ์ชัดเจนไม่ได้ แต่เชื่อว่า Workflow กับชีวิตต้องไปด้วยกัน ผมชอบฟังคลิปธรรมะ พระไพศาล วิสาโล ท่านให้แง่คิดมี 2 คำ คือ “ทำกิจ” การงาน กับ “ทำจิต” ซึ่งสิ่งที่หลายคนไม่ค่อยทำ คือ ทำจิตใจ

 

“Work life balance ที่คนทั่วไปขาด คือ “ทำจิต” เรามุ่งแต่กิจการงาน ผมเคยเป็นแบบนั้นมาก่อน พอโฟกัสตรงนั้น มันทำให้จมอยู่กับปัญหาและความเครียด ถอนตัวเองออกจากงานไม่ได้ เพราะขาดการทำจิต ไม่ได้มีสติในการดูจิตใจตัวเองว่าตอนนี้รู้เท่าทันความคิดตัวเองหรือไม่ รู้ทันอารมณ์หรือไม่ ดังนั้น การทำกิจ กับ ทำจิต สองอย่างนี้จะทำให้ Work life balance ได้”

 

ช่วงระหว่าง 05.00 – 07.00 น. เป็น “เวลาทองคำ” ในการวางแผนชีวิตในแต่ละวัน และทำภารกิจทุกอย่างให้สำเร็จ ไม่ว่าจะอ่านข่าว วางแผนการทำงาน และออกกำลังกาย โดยต้องอาศัยสมาธิมากๆ และต้องคิดหนัก

 

“ผมตื่นตี 5 ดูข่าวไม่เกิน 15 นาที ความยาก คือ การที่มีวินัย 15 นาทีกับมือถือแล้วจบ และใช้เวลาวางแผนงาน เพราะผมจะมีสมาธิอย่างมากในตอนเช้า เป็นเวลากลั่นกรองว่าวันนี้มีอะไรที่ต้องทำให้เสร็จ อะไรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้จบ รวมถึงต้องวางแผนสำหรับสัปดาห์ต่อไปอย่างไร เพราะผมมีครอบครัว มีลูก 2 คน ต้องใช้ช่วงเวลาทองคำนี้ก่อนที่พวกเขาจะตื่น เพื่อจะได้มีเวลาพูดคุยและทานข้าวเช้าด้วยกัน”

 

หลังจากนั้น จึงออกไปทำงานยาว ไม่ว่าจะประชุม ติดตามงาน พอเขาโหมดที่ต้องเจอกับคนอื่น คุณจะไม่มีเวลามาไตร่ตรองแล้ว เพราะจะต้องไหลไปตามลำดับกับเหตุการณ์ที่ต้องเจอ ปัญหาที่ต้องเจอแต่ละวัน กลายเป็นว่า “หากเราไม่มีจุดเริ่มต้นที่ดีในแต่ละวัน ชีวิตจะไหลไปเรื่อยๆ”

 

เวลาคุณภาพกับครอบครัว

 

“ผมถือว่าช่วงเช้าทุกวัน เป็นช่วงที่ต้องทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างหนึ่ง แม้ในวันหยุดหากตื่นเช้าแล้วมีอะไรสำเร็จสักหนึ่งอย่างจะรู้สึกโอเคกับตัวเอง แปลว่าวันนี้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าระดับหนึ่ง เช่น เสาอาทิตย์ ผมก็จะอยู่กับตัวเอง 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ใช้เวลากับครอบครัว อยู่ด้วยความสบายใจเพราะเราได้คิดอะไรบางอย่างจบไปแล้ว ได้เล่นกับลูก ทำหน้าที่พ่อ ไม่ใช่บ้างานอย่างเดียว ต้องแบ่งเวลาให้กับครอบครัว และเวลาที่อยู่กับครอบครัวต้องเป็นเวลาคุณภาพ ดังนั้น ไม่มีคำว่าบาลานซ์ชัดเจน แต่เชื่อว่ามันจะ Flow ไปด้วยกัน เพียงแค่ว่าจะแบ่งเวลาอย่างไร” คุณเฮง กล่าวทิ้งท้าย

 

“เทพฤทธิ์ ทิพชัชวาลวงศ์”  Workflow กับ "การใช้ชีวิต" ต้องไปด้วยกัน