"นอนหลับ" น้อยกว่า 6 ชม. หรือเกิน 9 ชม. ทำร้ายสมองและเกิดภาวะ "ความจำเสื่อม"

"นอนหลับ" น้อยกว่า 6 ชม. หรือเกิน 9 ชม. ทำร้ายสมองและเกิดภาวะ "ความจำเสื่อม"

นอนน้อยก็เบลอ นอนเยอะก็ไม่ดี! รู้หรือไม่ การ "นอนหลับ" ที่มากเกินกว่า 9 ชั่วโมงหรือนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง อาจทำร้ายสมองและนำไปสู่ภาวะ "ความจำเสื่อม" และความคิดบกพร่องได้ แล้วนอนนานแค่ไหนถึงจะพอดี?

คนเรายิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะ “ความจำเสื่อม” และความคิดบกพร่องมากขึ้นตามไปด้วย โดยหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดภาวะผิดปกติทางระบบประสาทและสมอง มาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราอย่าง “การนอนหลับ” ที่น้อยเกินหรือมากเกินความพอดี

ยืนยันจากงานวิจัยเรื่อง “Association of Short and Long Sleep Duration With Amyloid-β Burden and Cognition in Aging” ที่เผยแพร่ผ่านวารสารด้านประสาทวิทยา “JAMA Neurology” เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน พบว่ามีภาวะความคิดและการรับรู้บกพร่อง อีกทั้งพบว่าคนกลุ่มนี้มีสารโปรตีนที่เรียกว่า amyloid-beta เพิ่มขึ้นในสมอง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้มีอาการ “สมองเสื่อม” 

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุที่นอนมากเกินกว่า 9 ชั่วโมงขึ้นไป พบว่ามีความเชื่อมโยงกับปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการตัดสินใจแย่ลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

อีกทั้ง การนอนหลับที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ยังสัมพันธ์กับดัชนีมวลกายที่สูงขึ้น นั่นคือ ทำให้เกิดภาวะอ้วน ซึ่งตรวจวัดไขมันในร่างกายพบว่ามีปริมาณมากขึ้น ทำให้เกิดอาการ "ซึมเศร้า" ที่มากขึ้น รวมไปถึงการง่วงระว่างวันบ่อยขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่นอนในระยะเวลา 7-8 ชั่วโมงตือคืน

หมายเหตุ : การศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาเชิงสังเกตและติดตามและไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุได้

ในการศึกษาครั้งนี้นักวิจัยได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการนอนหลับกับประสิทธิภาพทางสมองและการรับรู้ของผู้สูงอายุ โดยให้กลุ่มผู้เข้าร่วมทดสอบจำนวน 4,417 คน มารายงานผลการนอนหลับด้วยตนเอง แล้วนำผลนั้นมาวิเคราะห์

ผู้เข้าร่วมการทดลอง 4,417 คนในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้หญิง 2,618 คน (59%) และผู้ชาย 1,799 คน (40%) ที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 71.3 ปี ซึ่งมาจากเชื้อชาติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น คนผิวขาว คนผิวสี คนเชื้อสายสเปน คนเอเชีย ฯลฯ

ผลการวิจัยพบว่า ระยะเวลาการนอนหลับทั้งสองแบบ (น้อยเกินไปและมากเกินไป) มีความสัมพันธ์กับการรับรู้และสติปัญญาทางสมองที่แย่ลงในผู้สูงอายุ โดยในกลุ่มที่นอนหลับ 6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น จะสัมพันธ์กับปริมาณสาร amyloid-beta (Aβ) หรือสารที่บ่งชี้ภาวะสมองเสื่อม ที่มีในสมองมากขึ้น และยังเชื่อทมโยงกับประสิทธิภาพของหน่วยความจำของสมองที่ลดลงอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้สูงอายุที่นอนหลับ 9 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น จะส่งผลต่อการตัดสินใจที่แย่ลง และนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่าความชราภาพทางสติปัญญา

อีกทั้งการนอนที่ผิดปกติทั้งสองแบบดังกล่าว ยังไปกระตุ้นให้เกิดภาวะอ้วน เพิ่มโอกาสการเกิดภาวะซึมเศร้า และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น

กล่าวโดยสรุปคือ การนอนที่เหมาะสมและดีต่อสมองและสุขภาพโดยรวมมากที่สุด คือ ควรนอนให้อยู่ในระยะเวลาที่พอดีระหว่าง 7-8 ชั่วโมงต่อคืนเท่านั้น แม้ว่าคุณจะยังอยู่ในวัยทำงาน (ยังไม่ใช่ผู้สูงอายุ) แต่ก็ไม่ควรละเลยเรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่าง “การนอน” หากไม่อยากเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมหรือสมองล้าในอนาคต

หากต้องการประเมินตนเองเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม/ความจำเสื่อมในเบื้องต้น สามารถทำแบบทดสอบได้ที่ >> แบบทดสอบสภาพสมองเบื้องต้น (MMSE) ฉบับภาษาไทย 

-------------------------------------------

อ้างอิง : health.harvard, JAMA Neurology