“Plant-Based” อาหารทางเลือก ตอบโจทย์ "สุขภาพ" ลดอัตราก่อโรค

“Plant-Based” อาหารทางเลือก ตอบโจทย์ "สุขภาพ" ลดอัตราก่อโรค

เทรนด์ผู้บริโภคที่เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ ลดการทานเนื้อสัตว์ ทำให้ "Plant-based foods" เริ่มได้รับความนิยม มีงานวิจัย พบว่า ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค เช่น หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง ฯลฯ ขณะเดียวกัน ยังมีการคาดการณ์ว่าปี 2570 ตลาด "Plant-based" จะเติบโตราว 1 ล้านล้านบาท

ประเทศไทยในปี 2567 ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย คาดว่า ธุรกิจ Plant-based Food จะมีโอกาสสร้างกำไรได้ระดับ 10-35% และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะ 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่ม Plant-based Food ที่มีโอกาสเติบโตในไทย คือ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Meat) อาหารปรุงสำเร็จจากพืช (Plant-based Meal) และไข่จากพืช (Plant-based Egg)

 

โปรตีนจากพืชลดอัตราก่อโรค

 

“นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ” นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก อธิบายว่า กระแสการดูแลสุขภาพด้วย การรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก หรือ Plant-based diet กำลังขยายตัว ข้อมูลจาก STATISTA แสดงให้เห็นว่ามูลค่าตลาด Plant-based foods ทั่วโลกในปี 2563 มีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตจนมีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท ในปี 2570

 

มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า โปรตีนจากพืช ช่วยลดอัตราการก่อโรคได้มากมาย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs) ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง การเปลี่ยนมารับประทานอาหารแบบ Plant-based diet จะช่วยลดไขมันอิ่มตัว เพิ่มใยอาหารและสารพฤกษเคมี (phytochemical) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบเฉพาะในพืช มีการศึกษามากมายที่รับรองว่า การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการได้รับไขมันอิ่มตัวและระดับ TMAO (Trimethylamine N-oxide) จากเนื้อสัตว์น้อยลง

ลดความเสี่ยง “โรคมะเร็ง”

 

นพ.ตนุพล อธิบายต่อไปว่า การเลือกทานธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว ผักและผลไม้ อย่างน้อย 400 กรัม/วัน ร่วมกับลดน้ำตาล ไขมัน เนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป แอลกอฮอล์ ลดเสี่ยงมะเร็งทุกชนิด 12 % ทั้งมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม รวมถึงการลดการเกิด NCDs และโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งอีกหลายชนิด (World Cancer Research Fund (WCRF) และ American Institute for Cancer Research (AICR) ปี 2561)

 

Plant-based diet ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer) 45% (วารสาร Nutrition Journal ปี 2558) โดยกลุ่มที่การรับประทานอาหารจากพืชผักที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักผลไม้สด เป็นต้น ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ถึง 67% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานอาหารจากพืชผักที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (วารสาร Scientific Reports ของ Nature)

 

กระแสรักสุขภาพ ดันตลาดโต

 

“สุภาภรณ์ อังศรีสุรพร” ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการอาวุโส อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงานฟู้ด แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ ไทยแลนด์ 2022 (Food & Hospitality Thailand 2022) กล่าวถึงเทรนด์อาหารโปรตีนจากพืชว่า ทั่วโลกให้การยอมรับอาหารโปรตีนจากพืช หรือ แพลนต์เบสต์ (Plant Based) มากขึ้น จนก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในอาหารกระแสหลัก ซึ่งมีการเติบโตและการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพและลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง

 

“Plant-Based” อาหารทางเลือก ตอบโจทย์ "สุขภาพ" ลดอัตราก่อโรค

ข้อมูลจาก Euro Stat คาดการว่ามูลค่าตลาด Plant-based ประเทศไทย ในปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ทำให้วันนี้ผู้ประกอบการอาหารของไทยต่างพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสต์เข้าสู่ตลาดไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ได้รับความนิยม คือ Plant-based meat, Plant-based meal และ Plant-based egg

 

ทั้งนี้ เหตุผลที่ Plant-ฺBased มีแนวโน้มเติบโต จอห์น แมคคีย์ ซีอีโอ บริษัท Whole Foods เชนค้าปลีกสินค้าออแกนิครายใหญ่ของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า มีหลายคนเลือกกินอาหาร Plant-based เพื่อเป็นการ “เปลี่ยนผ่าน” ไปสู่การลดกินเนื้อสัตว์ หรือขั้นเริ่มต้นของการกินมังสวิรัติ เพราะเนื้อ Plant-based ผ่านการแปรรูปและปรุงแต่งเพื่อให้การกินผักน่าอภิรมย์มากขึ้น

 

ทำไมต้อง Plant-based Food

 

เว็บไซต์ Krungthai Compass ปี 2564 ระบุว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19ทำให้ความกังวลในการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ถึง 23% เลือกที่จะบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น  เช่น 1 ใน 4 ของผู้บริโภคในสหภาพยุโรปตั้งใจจะลดการรับประทานเนื้อสัตว์ให้ได้ภายใน 5 ปี ข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 

 

รวมทั้งดัชนีชี้วัดผลกระทบจากการผลิตอาหารที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้าน ระบุว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลิตภัณฑ์จากพืช และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต

 

นอกจากนี้ปัญหา Food Security ทำให้ Plant-based Food ยิ่งมีความจำเป็น โดย UN คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคนในปี 2593 ซึ่งจะยิ่งกระทบต่อ Food Security ในอนาคต ด้วยเหตุนี้ Plant-based Food จึงเป็นที่ต้องการของประชากรโลกมากขึ้น ยิ่งในช่วง COVID-19 Plant-based Meat หรือเนื้อสัตว์ทางเลือกขายได้มากกว่าปีก่อนถึงเกือบ 3 เท่า รวมทั้ง กระแส Flexitarian หรือการกินอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น เติบโตต่อเนื่อง ผู้ประกอบการในสหรัฐฯให้ความสนใจการทำตลาด Plant-based Food