ส่งเสริมการมีบุตรด้วย Work-life Balance และ Femtech

ในฐานะคนหนึ่งที่ติดตามเศรษฐกิจพลังผู้หญิง (womenomics) รู้สึกดีใจมากที่วันสตรีสากล 8 มี.ค. 2567 ของไทยปีนี้ มีกิจกรรมคึกคักทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์

จากเดิมมีแค่การเดินขบวนถือป้ายของตัวแทนแรงงานหญิงที่ท้องสนามหลวง เรียกร้องให้เพิ่มวันลาคลอดบ้าง สวัสดิการเลี้ยงดูบุตรบ้างเท่านั้น แต่ปัจจุบันกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 5 ขององค์การสหประชาชาติ ได้แพร่สะพัดไปทั่วโลกในหลายวงการและหลายมิติ

ผู้คนเริ่มตระหนักแล้วว่า กุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) (สัดส่วนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 21 ของประชากรรวม) ซึ่งจะเป็นสึนามิขึ้นฝั่งประเทศไทยในอีก 8 ปีข้างหน้านั้น อยู่ที่ “ผู้หญิง” ไม่ได้อยู่ที่ “ผู้สูงอายุ”

ผู้หญิงเป็นทั้งแรงงาน และมารดาผู้ให้กำเนิดบุตรซึ่งจะเป็นแรงงานของชาติในอนาคต จะทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีความสุขทั้งกายและใจ เพราะผู้หญิงมักถูกคาดหวังว่าต้องทำงานในบ้าน (งานบ้าน ดูแลบุตร ดูแลผู้สูงอายุ) และทำงานนอกบ้าน (หารายได้เสริมกับสามี รายได้ให้บุพการี บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตั้งแต่ต้นปี 2567 สถิติที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมไทยทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย อัตราการเกิดลดต่ำสุดในรอบ 70 ปี ทำให้รัฐบาลตื่นตัวประกาศ “ส่งเสริมการมีบุตร” เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบใหญ่ คือ “มาตรการทางเศรษฐกิจ” หรือการให้เงินอุดหนุนเพื่อแบ่งเบาภาระครัวเรือน

เช่น เงินช่วยค่าดูแลครรภ์และคลอดบุตรที่สถานพยาบาล ของขวัญเด็กหลังคลอด (เช่น รถเข็นเด็ก ชุดอาบน้ำเด็ก เสื้อผ้า ผ้าอ้อม ฯลฯ) เงินช่วยเลี้ยงดูบุตรรายเดือน เงินลดหย่อนภาษีเงินได้รายปีสำหรับผู้ที่มีบุตรมากกว่า 2-3 คน เงินช่วยค่าดูแลผู้สูงอายุ เงินช่วยค่าทำเด็กหลอดแก้วสำหรับผู้มีบุตรยาก ซึ่งเป็นรายจ่ายมหาศาลของภาครัฐ 

ขณะที่ในไทยเคยมีข้อเสนอให้เก็บภาษีคนโสด ใครโสดต้องเสียภาษีเพิ่ม เพื่อชดเชยกับที่ไม่ได้ร่วมพัฒนาคนรุ่นต่อไป (next generation) แต่โดนรถทัวร์คนโสดมาจอดถล่มไปเสียก่อน

แบบที่สองคือ “มาตรการทางสังคม” หรือการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากนายจ้างอย่างจริงจัง เช่น ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (ได้แก่ เวลาการเข้า-ออกงาน เพื่อมีเวลาไปรับส่งลูก ลดชั่วโมงการทำงานนอกเวลา (OT) ลดวันทำงาน) มาตรการลาคลอดโดยรับค่าจ้าง การลากิจไปพบแพทย์ ไปธุระเพื่อบุตรหรือผู้สูงอายุที่บ้าน 

การลาคลอดโดยได้รับค่าจ้างของสามีหรือสมาชิกอื่นในครอบครัว การกลับมาทำงานหลังจากลาคลอด (career break) ที่ไม่กระทบต่อการประเมินผลการปฏิบัติงานและโอกาสก้าวหน้าในงาน

การจัดให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กและพี่เลี้ยงเด็กที่ได้มาตรฐานและเพียงพอ ไม่ใช่ต้องฝากเลี้ยงนอกระบบที่มีข่าวเด็กถูกพี่เลี้ยงรังแกจนเสียชีวิต ซึ่งล้วนเป็นมาตรการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (work-life balance) ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ หรือ HR ขององค์การแทบทั้งสิ้น

ประเทศสังคมสูงวัยระดับสุดยอดก่อนหน้าได้ลองผิดลองถูกกันมาแล้ว พบว่ามาตรการทางเศรษฐกิจหรือการให้เงินนั้นได้ผลน้อยมาก ตัวอย่างไม่ว่าสิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ รัฐบาลทุ่มเงินกันสุดตัว แต่ก็ไม่อาจจูงใจให้ผู้หญิงยอมแต่งงานและมีบุตรได้

ผู้หญิงในประเทศเหล่านั้นดื้อเงียบ เพราะเงินไม่ทำให้พวกเธอมีความสุข ตรงกันข้ามมาตรการทางสังคมที่เอื้อต่อการสร้างสมดุลชีวิตกับการทำงานกลับได้ผลมากกว่า 

ตัวอย่างประเทศแถบยุโรป มีการรณรงค์ให้ลดวันทำงานเหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ การปิดห้างร้านเร็วขึ้นในบ่ายของวันศุกร์ เพื่อให้ทุกคนรีบกลับบ้าน การสนับสนุนสามีให้ช่วยเลี้ยงดูบุตร กล่าวคือ ต้องการวันเวลาทำงานและสถานที่ทำงานที่ยืดหยุ่น และระบบที่มีผู้อื่นช่วยคุณแม่ดูแลบุตรอย่างมีคุณภาพไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายจ้างด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ภาครัฐ

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดสตาร์ตอัปกลุ่ม Femtech หรือใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาของผู้หญิงในการทำงาน เพราะผู้หญิงต้องทำงานไปด้วยดูแลสุขภาพไปด้วย อาทิ คุมกำเนิด มีประจำเดือน ตั้งครรภ์ ภาวะวัยทอง โรคร้ายอย่างมะเร็ง เป็นต้น และต้องทำงานไปด้วยดูแลบุตรและผู้สูงอายุไปด้วย

อาทิ หาสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานดูแลผู้สูงอายุ หาพี่เลี้ยงเด็กและผู้ดูแลผู้สูงอายุ หาคนช่วยพาไปโรงพยาบาล คนช่วยรับยาและอาหารเสริม บริการรับเจาะเลือดผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน เป็นต้น มูลค่าตลาดของ femtech มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังติดปัญหาระดมทุนเพราะนักลงทุน venture capital ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ยังขาดความเข้าใจปัญหาของผู้หญิง

ดังนั้น การส่งเสริมการมีบุตรไม่ควรคาดหวังสูงกับมาตรการให้เงินช่วยเหลือ แต่ควรสะกิดบอกนายจ้างให้ตระหนักถึงบทบาทในเรื่องนี้ อัตราการเกิดของไทยจะพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นได้หรือไม่

อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ HR ของภาคเอกชนจะลุกขึ้นมาถกประเด็นสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของผู้หญิงกันอย่างจริงจัง รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจ femtech ช่วยให้ผู้หญิงทำงานได้ราบรื่นอย่างไร 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมในหนังสือ “ส่องผ่านเพดานแก้ว : ผู้บริหารหญิงกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ”