มองเมืองต่างมุม : ทางเลือกและทางรอดของปัญหาขยะชุมชน

มองเมืองต่างมุม : ทางเลือกและทางรอดของปัญหาขยะชุมชน

ย้อนไปเมื่อ 26 มกราคม ที่ผ่านมา วันที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กลับมาทำหน้าที่ครั้งแรกในสภาผู้แทนราษฎร หลังถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไป 6 เดือน ในวันนั้น

เรื่องแรกที่พิธา เลือกมาอภิปราย พร้อมวลี “ผมกลับมาแล้ว” คือ เรื่อง การบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.) โดยได้หยิบยกกรณีปัญหาบ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ มาเป็นกรณีตัวอย่างประกอบการอภิปราย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองภูเขาขยะขนาดมหึมาของตำบลแพรกษาใหม่ถูกกล่าวถึง แต่กองขยะสูงกว่าตึก 5 ชั้นนี้ เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ในปี 2557 ซึ่งต้องใช้เวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ในการควบคุมเพลิง จนต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน และมีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (ก๊าซกำมะถัน) รวมทั้ง ฝุ่นขนาดเล็กฟุ้งกระจายในอากาศเกินมาตรฐานถึง 30 เท่า

เป็นเหตุให้ประชาชนรวมตัวกันฟ้องคดีหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรียกร้องให้ปิดบ่อและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคืนให้กับคนในชุมชนโดยเร็ว รวมทั้ง เร่งแก้ปัญหาให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ

แพรกษาใหม่ เป็นเพียงยอดของปัญหาภูเขาขยะของไทย ซึ่งถ้าจะเรียกว่าอยู่ในภาวะวิกฤติก็คงไม่เกินเลย

ประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสิ้นเกือบ 8,000 แห่ง แต่มีแหล่งกำจัดขยะเพียง 2,050 แห่ง นั่นหมายความว่า หลาย อปท. ต้องส่งขยะไปกำจัดที่ อปท.ข้างเคียง หรือส่งไปให้เอกชนดำเนินการซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก

แต่สิ่งที่เป็นตลกร้ายไปกว่านั้น ก็คือ มีเพียงไม่ถึง 5% หรือ 91 แห่งจากทั้งหมดของสถานที่กำจัดขยะของ อปท. ที่มีการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

ไม่ว่าจะเป็นการ ฝังกลบเชิงวิศวกรรม การเผาในเตาที่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ หรือ การผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) หรือการหมักทำปุ๋ย

นอกจากนั้น อีกเกือบสองพันแห่งที่เหลือ ใช้เพียงการฝังกลบทั่วไป ไม่ก็เทกองทิ้งไว้ตามยถากรรม หรือเผาในที่โล่ง แย่ไปกว่านั้นหน่อย หากชุมชนตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำก็ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ติดทะเล

มองเมืองต่างมุม : ทางเลือกและทางรอดของปัญหาขยะชุมชน

แต่ไม่ว่าจะฝังกลบใกล้ทะเล หรือเททิ้งลงทะเลไปเลย ก็ล้วนเป็นการละเมิดการปฏิบัติตามพิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 ว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเล และส่งผลให้ระบบนิเวศทางทะเลถูกทำลายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไมโครพลาสติก ที่แม้จะไม่ต้องเทขยะลงไปในทะเลโดยตรง ก็สามารถแทรกซึมผ่านพื้นทรายจากการฝังกลบขยะริมทะเลได้

จนล่าสุด นักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 ได้รายงานผลการสำรวจว่า พบไมโครพลาสติกในปลาทูที่จับได้ในทะเลไทย สูงกว่าปลาจากประเทศอื่น ๆ ถึง 78 เท่า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป คำพูดที่ว่า “กินปลาแล้วฉลาด” อาจต้องเปลี่ยนไปหรือ ลบออกไปจากสารบบ ก็เป็นได้

    การกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลเหล่านี้ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษของน้ำชะขยะ ที่ถูกปล่อยสู่แหล่งน้ำและดิน เกิดก๊าซมีเทนและคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ 

ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อภาวะโลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 25 เท่า ยังไม่นับรวม ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) หรือแอมโมเนียที่สร้างความระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และมลภาวะทางอากาศ PM 2.5 จากการเผาในที่โล่ง หรือเป็นแหล่งศูนย์รวมเชื้อโรคและสัตว์รบกวนจากกองภูเขาขยะ ซึ่งจะให้บรรยายในนี้ทั้งหมด พื้นที่คงจะไม่พอ

มาถึงตอนนี้ เราคงเกิดคำถามกันว่า แล้วทำไมเมื่อรู้แล้ว ไม่ทำให้ถูกต้อง?
การจะกำจัดขยะให้ถูกต้องได้นั้น ต้องให้ความจริงจังในการแก้ไขกันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สำหรับส่วนต้นน้ำ รัฐต้องกระจายอำนาจและงบประมาณไปยังท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ 1-2% ของ GDP ท้องถิ่น รวมถึงต้องแก้กฎหมายที่มีช่องว่างช่องโหว่

เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ควบคุมโรงไฟฟ้าพลังงานขยะขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ที่ไม่ต้องให้ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงไม่ต้องสร้างระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ และไม่ต้องจัดให้มีผู้ควบคุมมลพิษ ทำให้เรามีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะขนาด 9.9 เมกะวัตต์ 10-20 โรง ตั้งติดๆ กันมากมายเพื่อเลี่ยงให้สอดรับข้อกฎหมายข้างต้น

มองเมืองต่างมุม : ทางเลือกและทางรอดของปัญหาขยะชุมชน

รวมไปถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน ให้การกำจัดขยะทั้งหมดเป็นกิจการที่ต้องอยู่ใต้การควบคุมของ อปท. และกำหนดนโยบายเรื่องการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแบบไร้ทิศทางเช่นในปัจจุบัน

ในส่วนปลายน้ำ การแยกขยะคือหัวใจสำคัญที่สุดที่จะทำให้การจัดการขยะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยการให้ความรู้ความเข้าใจกับชุมชน และการจัดอุปกรณ์และสถานที่ให้ง่ายต่อการแยกขยะ รวมทั้งอปท. ต้องดำเนินการกำจัดขยะที่แยก ซึ่งมีวิธีการแตกต่างกันอย่างจริงจัง อย่าให้เกิดเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ว่าอุตส่าห์แยกขยะแทบตาย สุดท้ายก็ถูกเอามาเทกำจัดรวมกัน

ในขณะที่ปัจจุบัน เทคโนโลยีการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน มีความก้าวหน้าไปมากเพราะเป็นทั้งการจัดการของเสียและเป็นการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในคราวเดียว ตรงตามแนวคิดเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model

โดยทั่วไปแล้วกระบวนการสร้างพลังงานจากขยะ จะมี 2 แบบใหญ่ ๆ คือ ใช้ความร้อน กับ กระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งก็ได้พลังงานออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซเชื้อเพลิง ของเหลว คือน้ำมันชีวภาพ หรือ ของแข็ง ในรูปถ่านชีวภาพซึ่งมีองค์ประกอบคล้ายถ่านหิน

ผลผลิตพลังงานที่อยู่ในรูปถ่านชีวภาพ มีข้อได้เปรียบกว่าพลังงานที่อยู่ในรูปก๊าซและของเหลว ทั้งในแง่การจัดเก็บ การขนส่ง ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศและแรงงานทักษะสูงในการดำเนินการ

มองเมืองต่างมุม : ทางเลือกและทางรอดของปัญหาขยะชุมชน

ขยะที่เหมาะสมกับการผลิตถ่านชีวภาพก็คือขยะที่มีปริมาณคาร์บอนสูง ได้แก่ ขยะเผาไหม้ที่ผ่านกระบวนการแยกมาแล้ว และขยะพลาสติก ซึ่งต่างก็เป็นขยะที่พบมากที่สุดในชุมชนอยู่แล้ว และที่สำคัญถ่านชีวภาพ เมื่อนำไปใช้ทั้งในอุตสาหกรรมหรือชุมชน ก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าถ่านหินทั่วไปมาก

ปัจจุบันในประเทศไทย รศ.ดร.อุณาโลม เวทย์วัฒนะ ฮาร์ทลี่ แห่งบัณฑิตวิทยาลัยนานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานดังกล่าว และกำลังดำเนินการขยายผลไปสู่การใช้งานจริงในท้องถิ่นต่าง ๆ

โดยมีเทศบาลสำนักขาม ด่านชายแดนไทย-มาเลเซียที่มีมูลค่าการค้าผ่านแดนสูงสุดของประเทศ เป็นเทศบาลนำร่อง และวางแผนที่จะขยายผลต่อยอดกับเครือข่าย อปท. ของสถาบันพระปกเกล้าต่อไป

    หาก รัฐ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงและกำหนดให้ชัดในแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) ที่กำลังจะประกาศใช้เร็ว ๆ นี้   และ อปท. ทุกแห่ง ตลอดจนชุมชนต่าง ๆ ร่วมด้วยช่วยกันทำเรื่องนี้ได้จริง

ขยะชุมชนที่ว่า เกิดง่าย ทำลายยาก ก็อาจไม่ใช่ปัญหาโลกแตกอีกต่อไป และคงทำให้ไทยมีความหวังหลุดจากอันดับต้นๆ ของประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกและทิ้งลงทะเลมากที่สุดของโลกได้.

มองเมืองต่างมุม : ทางเลือกและทางรอดของปัญหาขยะชุมชน

ผู้เขียน
อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล
สถาบันพระปกเกล้า