เพราะอะไร “โรงไฟฟ้าขยะ” ถึงถูกคัดค้านแทบทุกที่

เพราะอะไร “โรงไฟฟ้าขยะ” ถึงถูกคัดค้านแทบทุกที่

จากการประท้วงของชาวบ้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “โรงไฟฟ้าขยะ” ถือเป็นหนึ่งข้อเรียกร้องคัดค้าน เพื่อต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีในชุมชน

ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีความประสงค์จะดำเนินการก่อสร้าง "โรงงานไฟฟ้า" ระบบปิด ตามโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตั้งโครงการหมู่ที่ 6 ต.บ้านกร่าง อ.เภอเมือง จ.พิษณุโลก

โครงการนี้ดำเนินการในลักษณะร่วมทุน โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง เป็นผู้ดำเนินโครงการ แล้วให้เอกชนที่เข้ามารับโครงการเป็นผู้ลงทุน แต่เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2565 นายจรวย ดีแล้ว ส.จ. เขต อ.เมืองพิษณุโลก ในฐานะแกนนำประธานอนุรักษ์บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก พร้อมกับกลุ่มชาวบ้านบ้านกร่างจำนวนกว่า 100 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อคัดค้านการก่อสร้าง "โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ" ในครั้งนี้

เหตุผลสำคัญเนื่องจากกังวลว่าชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากกการก่อสร้าง "โรงไฟฟ้าขยะ"  โดยชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่า การดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เคยมีการทำประชาคมหรือประชาพิจารณ์จากชาวบ้าน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการออกมารวมตัวคัดค้านของชาวบ้าน แต่ก่อนหน้านี้ในหลายจังหวัดมีกลุ่มชาวบ้านรวมตัวออกมาคัดค้านการก่อสร้าง "โรงไฟฟ้าขยะ" ในแต่ละพื้นที่เช่นเดียวกัน เช่น จ.กระบี่ จ.เพชรบุรี จ.สงขลา 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ชาวบ้านคัดค้านไม่เอา "โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ" บุกศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก

โรงไฟฟ้าขยะคืออะไร ?

“โรงไฟฟ้าขยะ” หรือ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ข้อมูลจาก Absolute Clean Energy Public Company Limited หรือ ACE ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ และธุรกิจอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อธิบายว่าเป็นการผลิตพลังงานจากขยะ (Waste to Energy) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดการกำจัดขยะจากปัญหาขยะล้นเมืองที่เกิดขึ้น

ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษที่ ACE ยกมาอธิบายระบุว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นประมาณ 75,000 ตันต่อวัน และคาดว่าปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

ส่วนทางเลือกในการกำจัดขยะ คือ การนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ และให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากสูงสุด โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนช่วยผลักดัน ทำให้มีการนำขยะหมุนเวียนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และได้กลายเป็น “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ”

เพราะอะไร “โรงไฟฟ้าขยะ” ถึงถูกคัดค้านแทบทุกที่ ภาพโรงไฟฟ้าที่ จ.ขอนแก่น โดย ACE

ข้อดีของโรงไฟฟ้าขยะ

สำหรับจุดเด่นของโรงไฟฟ้าขยะถือเป็นพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก เนื่องจากพลังงานเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อประเทศ และปัจจุบันมีการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่พลังงานมีจำกัดและขาดแคลน ทำให้ต้องมีการจัดหาพลังงานให้มีปริมาณที่เพียงพอ ราคาเหมาะสม มีคุณภาพดี

นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะบางแห่ง มีการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานและไม่มีประชาชนคัดค้าน เนื่องจากประชาชนยังได้ประโยชน์ด้านการเกษตรและกำจัดขยะในพื้นที่

ข้อเสียของโรงไฟฟ้าขยะ

ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะบางแห่ง พบว่ามีมลพิษที่มีอันตรายสูง เช่น ไดออกซิน สารหนู แบริลเลียม แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว ปรอท ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และก๊าซมีฤทธิ์เป็นกรด ที่เป็นอันตรายกับสุขภาพประชาชน ซึ่งสารที่เป็นถือว่ามีความอันตรายสูงก็คือ “สารไดออกซิน” ซึ่งเกิดจากการนำขยะไปเผาเพื่อให้เกิดความร้อนไปผลิตกระแสไฟฟ้า

“สารไดออกซิน” เป็นผลผลิตทางเคมีที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นปัจจัยของการเกิดมะเร็งและความผิดปกติในร่างกายสิ่งมีชีวิต หรืออาจมีรั่วไหลของสารพิศที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกด้วย

อันตรายของ “สารไดออกซิน” แบ่งได้ดังนี้

  • การเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดมะเร็งหรือเนื้องอกในอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะในตับ สารไดอกซินนั้นเป็นสารสนับสนุน การเกิดมะเร็งที่รุนแรงที่สุด
  • ความเป็นพิษต่อระบบประสาท ที่เกิดโรคระบบระบบประสาทในคนงานที่ได้รับสารดังกล่าวจากการทำงาน ทำให้เกิดการสูญเสียความรับรู้บนเส้นประสาท ปลายมือและปลายเท้าอ่อนเพลีย
  • ความผิดปกติในทารก มีความเป็นพิษต่อการพัฒนาตัวอ่อนหรือทารก ทำให้ผิดปกติและเสียชีวิตก่อนกำหนด มีโครงสร้างผิดปกติ การทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อบางชนิดผิดปกติ

โรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทยที่ยังประกอบการอยู่ 25 แห่ง ได้แก่

จ.กาฬสินธุ์

จ.ชัยนาท

จ.ชุมพร

จ.เชียงใหม่

จ.นครราชสีมา

จ.นครศรีธรรมราช

จ.มหาสารคาม

จ.ยะลา

จ.ราชบุรี

จ.สงขลา

จ.สมุทรปราการ

จ.สระแก้ว

จ.สุโขทัย

จ.อุดรธานี

จ.พระนครศรีอยุธยา

จ.สระบุรี

จ.นนทบุรี

จ.ระยอง

จ.หนองคาย

จ.กระบี่

จ.ตาก

จ.อุดรธานี

กรุงเทพมหานคร

โรงไฟฟ้าขยะ นั้นถึงแม้ว่าจะยังประกอบการอยู่ก็จริง แต่ในบางพื้นที่ยังมีการคัดค้านอยู่ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าขยะ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ หรือมีบางพื้นที่ที่สุดท้ายแล้วไม่สามารถดำเนินการต่อได้จนต้องระงับโครงการไว้ก่อนชั่วคราว เช่น โรงไฟฟ้าขยะเชียงรากใหญ่ จ.ปทุมธานี

สำหรับ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ นั้นหากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถศึกษาหาข้อมูลทั้งด้านผลดีและผลเสียมากพอสมควรและสามารถทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชุม อาจจะสามารถเจรจาหาทางออกซึ่งกันและกันได้ แต่ขณะนี้สิ่งที่ประชาชนบางส่วนยังคงมีความกังวลถึงผลเสียที่จะตามมาพร้อมกับ “โรงไฟฟ้าขยะ”

อ้างอิง : โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ : ทางแก้ปัญหาขยะล้นเมืองหรือเพิ่มมลพิษให้ชุมชน