รัฐดันวาระแห่งชาติ“เร่งมีบุตร” “คลัง”พร้อมหนุนมาตรการภาษี

รัฐดันวาระแห่งชาติ“เร่งมีบุตร” “คลัง”พร้อมหนุนมาตรการภาษี

รัฐเตรียมประกาศวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีบุตร” รับมือวิกฤติเด็กเกิดน้อย 10 ปี ลดต่อเนื่อง จำนวนการตายมากกว่าเกิดตั้งแต่ปี 64 ตั้งเป้าปี 70 อัตราเจริญพันธุ์รวมไม่น้อยกว่า 1 ดสศช.เผยหารือมาตรการช่วยผู้มีบุตรยาก หนุนเกิดน้อยแต่มีคุณภาพ “คลัง”พร้อมหนุนมาตรการทางภาษี

KEY

POINTS

  • วิกฤติเด็กเกิดน้อย 10 ปี ลดลงต่อเนื่อง จำนวนการตายมากกว่าเกิดตั้งแต่ปี 2564 ภาครัฐรับมือเตรียมประกาศวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีบุตร” 
  • อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิง 1 คน ลดลงเหลือเพียง 1.08 ต่ำกว่าระดับทดแทนคือ 2.1 ตั้งเป้าปี 2570 อัตราเจริญพันธุ์รวมไม่น้อยกว่า 1 
  •  สศช.เผยหารือมาตรการช่วยผู้มีบุตรยาก เพิ่มสวัสดิการการศึกษา หนุนเกิดน้อยแต่มีคุณภาพ “คลัง”พร้อมสนับสนุนมาตรการทางภาษี

รัฐเตรียมประกาศวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีบุตร” รับมือวิกฤติเด็กเกิดน้อย 10 ปี ลดต่อเนื่อง จำนวนการตายมากกว่าเกิดตั้งแต่ปี 64 ตั้งเป้าปี 70 อัตราเจริญพันธุ์รวมไม่น้อยกว่า 1 ดสศช.เผยหารือมาตรการช่วยผู้มีบุตรยาก หนุนเกิดน้อยแต่มีคุณภาพ “คลัง”พร้อมหนุนมาตรการทางภาษี

ประเทศไทยมีปัญหาเด็กเกิดน้อยต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย น้อยที่สุดในรอบ 70 ปี จำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปคาดการณ์ว่าอีก 60 ปี จำนวนประชากรจะลดเหลือเพียง 33 ล้านคน ถือเป็นความเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

รัฐบาลจะส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” คาดว่าประกาศเดือน มี.ค.2567 มีความท้าทายถึงมาตรการสนับสนุนการมีบุตร สวัสดิการที่รองรับและจูงใจการเกิด รวมถึงการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กให้พัฒนาทักษะได้ถึงวัยแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต

รัฐดันวาระแห่งชาติ“เร่งมีบุตร” “คลัง”พร้อมหนุนมาตรการภาษี

ขณะที่ตั้งแต่ปี 2564 จำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย โดยปี 2564 จำนวนการตาย 563,650 คน และปี 2565 จำนวน 595,965 คน และยังพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิง 1 คน ลดลงเหลือเพียง 1.08 ซึ่งต่ำกว่าที่เหมาะสมหรือระดับทดแทนคือ 2.1 และมีแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่อง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อคาดว่าอีก 60 ปี ประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยวัยทำงานลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือ 14 ล้านคน

ส่วนเด็กอายุ 0-14 ปี เหลือเพียง 1 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรมากขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานกระทบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงด้านประชากร

“เมื่อผู้สูงอายุมากกว่าวัยหนุ่มสาวและเด็กเกิดใหม่จะเกิดปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างประชากร เช่น ขาดแคลนวัยแรงงาน ประชากรสูงอายุในกลุ่มที่มีภาระพึ่งพิงมีเพิ่มขึ้น กลายเป็นยอดพีระมิด ขณะที่ฐานพีระมิดประชากรแคบลงซึ่งไม่เป็นผลดี” นพ.ชลน่าน กล่าว

รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขผลักดันการส่งเสริมมีบุตรอย่างมีคุณภาพในการพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการทุกภาค ขณะนี้กำลังส่งรายละเอียดให้แต่ละหน่วยงานพิจารณา เพราะเกี่ยวข้องหลายกระทรวงก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะประกาศได้เดือน มี.ค.นี้ และมีเป้าหมายปี 2570 อัตราการเจริญพันธุ์รวมไม่น้อยกว่า 1.0 และปี 2585 ไม่น้อยกว่า 1.0-1.5

ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ วันที่ 25 ธ.ค.2566 เห็นชอบ (ร่าง) วาระแห่งชาติส่งเสริมมีบุตรอย่างมีคุณภาพเน้น 3 มาตรการหลัก ดังนี้ 1.ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อการมีบุตร เช่น แก้ไข ปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนนโยบาย Family Friendly Workplace ช่วยค่าดูแลและเลี้ยงบุตร สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี

2.เสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยให้คุณค่าทุกการเกิดมีความสำคัญ, บทบาทชาย-หญิง และความรู้และทัศนคติต่อการสร้างครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย 3.สนับสนุนให้ผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับดูแลครบวงจรและมีคุณภาพ ได้แก่ ดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก รวมถึงให้คำปรึกษาทางเลือกในผู้ท้องไม่พร้อมเพื่อให้ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อได้รับการดูแล

ดันสิทธิประโยชน์รักษามีบุตรยาก

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ โดยสนับสนุนโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร บริการให้คำปรึกษา วางแผนการตั้งครรภ์ วินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก 

รวมถึงเพิ่มศักยภาพการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ได้มากขึ้น และผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมการมีบุตรและรักษาผู้มีบุตรยากทั่วประเทศ 107 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นสถานพยาบาลภาครัฐ 16 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 91 แห่ง

การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขไตรมาส 2 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2567 ขยายเป้าหมายโดยส่งเสริมการมีบุตรจะดำเนินการให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 75% มีบริการฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) มีผู้ได้รับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก 2,700 คน และทารกได้รับการคัดกรองโรคหายาก 80%

พม.ห่วงประชากรไทยลดต่อเนื่อง

นายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยว่า ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ซึ่งปัญหาโครงสร้างประชากรเป็นปัญหาที่จะทำให้ไทยเผชิญวิกฤติในอนาคตอันใกล้ โดยปี 2566 มีผู้สูงอายุ 60 ปี กว่า 13 ล้านคน ขณะที่เด็กแรกเกิดไม่ถึง 5 แสนคน โดยปี 2565-2566 ประชากรไทยลดลงกว่า 35,000 คน หากเป็นเช่นนี้คาดว่าประชากรไทยที่มี 66 ล้านคน อีกไม่เกิน 50 ปี จะลงไปเหลือ 30 กว่าล้านคน

“กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หารือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ World Bank เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567 และวันที่ 7 มี.ค.จะสัมมนาการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทย เพื่อให้พ้นภัยวิกฤติประชากร เพื่อเสนอ ครม.ต้นเดือน เม.ย.นี้ และปลายเดือน เม.ย.นี้เสนอที่ประชุมสหประชาชาติ เพื่อให้โลกรู้ว่าไทยกำลังแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ”

สศช.ชี้ต้องสร้างเด็กที่มีคุณภาพ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเดือน ม.ค.2567 ไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี รวม 13.2 ล้านคนคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด โดยแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งหมดในปี 2576 และเพิ่มขึ้นเป็น 31% (1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด) ในปี 2583 โดยการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยส่งผลต่อโครงสร้างประชากรที่มีวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง

การเกิดใหม่ของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราเจริญพันธุ์ (TFR) ของไทยลดลงจาก 2.0 ในปี 2538 เหลือ 1.53 ในปี 2563 และคาดว่าเหลือ 1.3 ในปี 2583 

รัฐดันวาระแห่งชาติ“เร่งมีบุตร” “คลัง”พร้อมหนุนมาตรการภาษี

ขณะที่แนวโน้มประชากรไทยมีอายุยืนมากขึ้น โดยข้อมูลปี 2562 ประชากรเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ย 65.9 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีอายุเฉลี่ย 59.9 ปี ส่วนเพศหญิงอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.9 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่อายุขัยเฉลี่ย 65.5 ปี 

ส่วนอัตราการเสียชีวิตเริ่มสูงกว่าอัตราการเกิดตั้งแต่ปี 2564 โดยมีเด็กเกิดใหม่ 544,570 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิต 563,650 คน โดยปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน รวมทั้งอุบัติเหตุจากถนน

สำหรับปัญหาเด็กเกิดน้อยลงนั้นรัฐบาลจะประกาศการส่งเสริมมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทำงานร่วมกันหลายหน่วยงานนำโดยกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นที่ “การเกิดที่มีคุณภาพ” ซึ่งเด็กเกิดน้อยไม่ใช่ประเด็นแต่ต้องช่วยให้เด็กที่เกิดน้อยที่จะเป็นแรงงานในอนาคต สร้าง Productivity มากขึ้น ซึ่งคนน้อยแต่มี Productivity สูงจะทำให้เศรษฐกิจเดินต่อได้ เพราะมีความสามารถใช้งานเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มผลผลิตได้

เล็งออกมาตรการหนุนมีบุตรเพิ่ม

ทั้งนี้มาตรการภาครัฐที่ออกมาจะเน้นสนับสนุนการเกิดที่มีคุณภาพ ซึ่งสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีความพร้อมมีบุตรแล้วมีบุตรเพิ่ม โดยสิทธิประโยชน์ที่จะออกมาพยายามทำให้ครอบคลุม เช่น อาจมีมาตรการการอุดหนุนค่าใช้จ่ายทำเด็กหลอดแก้วสำหรับคู่แต่งงานที่ยังไม่มีบุตร หรือต้องการจะมีบุตรเพิ่ม

ส่วนการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการมีลูกเพิ่มขึ้นอาจทำได้ เช่น มีลูก 1 คนได้ลด 60,000 บาท แต่หากมี 2 คนอาจได้ลดหย่อน 1.5 แสนบาท แทนที่จะเป็น 1.2 แสนบาท ซึ่งอาจกระทบการจัดเก็บรายได้รัฐ และหากจะเพิ่มขึ้นต้องลดการลดหย่อนส่วนอื่นหรือกำหนดเพดานแต่ละครอบครัวลดหย่อนได้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้กระทบการจัดเก็บรายได้

รัฐดันวาระแห่งชาติ“เร่งมีบุตร” “คลัง”พร้อมหนุนมาตรการภาษี

นอกจากต้องมีมาตรการการศึกษาให้มีคุณภาพทุกระดับ และเพิ่มทักษะอัปสกิลรีสกิลระหว่างการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐมีงบประมาณจำกัด และการจัดเก็บรายได้ปัจจุบันไม่เอื้อให้ภาครัฐจัดทำมาตรการสนับสนุนได้มากนัก โดยสวัสดิการยังเป็นมาตรการแบบมุ่งเป้าที่กลุ่มเปราะบางแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือมีความขัดสน

ส่วนครอบครัวที่มีความพร้อมนั้นภาครัฐอาจไม่ต้องให้สวัสดิการแต่ต้องเสริมบางส่วนในลักษณะร่วมจ่าย เช่น ค่าเรียนพิเศษ รวมถึงการช่วยเครื่องมือการเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ โดยอาจช่วยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาสเพื่อให้มาตรฐานแต่ละโรงเรียนขยับใกล้กัน ควบคู่การทำแอปพลิเคชันทางการศึกษาให้เด็กเรียนรู้กับครูเก่ง และการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องความต้องการในอนาคต

นอกจากนี้มีอีกทางเลือกที่ไทยที่เริ่มเตรียมความพร้อม โดยนำแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติมาเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งในประวัติศาสตร์จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่น และผนวกเอาคนต่างชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ เช่น คนจีน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งนำความเชี่ยวชาญมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อ

อุ้มคนแก่มากกว่าดูแลเด็กแรกเกิด

ทั้งนี้การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วทำให้ค่าใช้จ่ายการช่วยเหลือทางสังคมสูงขึ้นตามโครงสร้างประชากรและความจำเป็นในการดูแลค่าครองชีพประชาชน โดยค่าใช้จ่ายด้านสังคมรายการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นสวนทางรายจ่ายสวัสดิการให้เด็กแรกเกิดที่ลดลง 

สำหรับการจัดสวัสดิการให้เด็กแรกเกิดปี 2563-2566 วงเงินเฉลี่ยปีละ 16,609.8 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการปี 2567-2570 เฉลี่ยปีละ 15,381.9 ล้านบาท 

ส่วนผู้สูงอายุในปี 2563-2566 เฉลี่ยปีละ 84,364.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50.3% ของค่าใช้จ่ายสวัสดิการทางสังคมที่รัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน (หรือคิดเป็นประมาณ 2.75% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รัฐดันวาระแห่งชาติ“เร่งมีบุตร” “คลัง”พร้อมหนุนมาตรการภาษี

ทั้งนี้จากการคาดการณ์ปี 2567-2570 ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้ค่าใช้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากช่วงปีฐาน (2563-2566) 38% ทำให้รัฐบาลแบกรับดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8,015 ล้านบาท โดยปี 2567-2570 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 116,428 ล้านบาท ส่งผลต่อแรงกดดันด้านการใช้จ่ายต่อฐานะทางการคลังเพิ่มขึ้น

“คลัง”พร้อมหนุนมาตรการภาษี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ประกาศใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนคนไทยให้มีลูกมากขึ้น สำหรับผู้มีเงินได้หรือของผู้สมรสสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ คนละ 30,000 บาท 

ส่วนจะมีมาตรการภาษีอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ยังต้องรอพิจารณาข้อเสนอจาก สศช.และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกัน ทั้งนี้กระทรวงการคลังพร้อมพิจารณาสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการมีบุตรเพื่อลดปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมสูงวัย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้เสนอมาตรการทางการคลังรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เช่น ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... รวมถึงร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ....