‘สภาพอากาศ’ แย่ลงมากแค่ไหน คนก็เสี่ยง ‘ฆ่าตัวตาย’ มากขึ้นเท่านั้น

‘สภาพอากาศ’ แย่ลงมากแค่ไหน คนก็เสี่ยง ‘ฆ่าตัวตาย’ มากขึ้นเท่านั้น

ปัญหามลภาวะทางอากาศยังส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์อย่างต่อเนื่อง แม้แต่เรื่องของ “สุขภาพจิต” ซึ่งงานวิจัยของจีนล่าสุดพบว่าเมื่อสภาพอากาศแย่ลง ก็ส่งผลให้คน “ฆ่าตัวตาย” เพิ่มมากขึ้น

Key Points:

  • ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อสุขภาพกาย เพราะล่าสุดมลภาวะทางอากาศ ก็ส่งผลกระทบต่อ “สุขภาพจิต” ด้วยเช่นกัน หลังงานวิจัยในจีนระบุว่าสภาพอากาศที่แย่ลงส่งผลให้อัตรา “ฆ่าตัวตาย” เพิ่มมากขึ้น
  • ฝุ่น “PM 2.5” นั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไปจนถึงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล
  • แม้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายในจีนจะลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการควบคุมและปรับปรุงสภาพอากาศที่เข้มงวด และการวิจัยนี้ยังจำกัดอยู่แค่ในประเทศจีน แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะทุกวันนี้หลายประเทศยังต้องเผชิญปัญหาฝุ่นพิษ

การเปลี่ยนแปลงของ “สภาพอากาศ” อาจดูเหมือนห่างไกลกับความเสี่ยงในการ “ฆ่าตัวตาย” แต่ล่าสุดงานวิจัยฉบับใหม่จากจีนเปิดเผยว่า “มลพิษทางอากาศ” ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อ “สุขภาพจิต” และไม่ใช่เพียงแค่ทำให้อารมณ์แปรปรวนหรือเกิดภาวะซึมเศร้าเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายของชาวจีนกว่าหมื่นคน

สาธารณะรัฐประชาชนจีน หรือ ประเทศจีน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีประชากรหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมืองต่างๆ ในประเทศเต็มไปด้วยหมอกควันหรือฝุ่นพิษที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง ที่แม้ว่าในปัจจุบันจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นแต่ก็ยังถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนพอสมควร โดย “สุขภาพจิต” ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน

  • เมื่อ “ฝุ่นพิษ” ปลิดชีวิตชาวจีน ?

รายงานส่วนหนึ่งของ Science Alert ระบุว่าประมาณ 16% ของการฆ่าตัวตายทั่วโลกเกิดขึ้นที่ประเทศจีน แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีจำนวนลดลงแล้วก็ตาม ซึ่งมาจากหลายสาเหตุตั้งแต่ปัญหารายได้ในตลาดแรงงานไปจนถึงความกดดันด้านวัฒนธรรม แต่จากการศึกษาของทีมนักเศรษฐศาสตร์ที่รวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศและรายงานการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่าการสูดเอามลพิษเข้าไปโดยการหายใจมีความเชื่อมโยงกับปัญหา “ฆ่าตัวตาย”

หลักฐานเพิ่มเติมจากศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาทและสิ่งแวดล้อมอธิบายว่า ความเข้มข้นของอนุภาคที่มีความกว้าง 2.5 ไมครอน หรือน้อยกว่านั้น ที่เราเรียกกันว่า PM 2.5 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไปจนถึงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล ซึ่งหากปล่อยไว้ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทในอนาคต เช่น ภาวะสมองเสื่อม ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงที่อากาศมีมลพิษสูงก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้นในช่วง 7 วันหลังจากนั้น

เพื่อทำให้ข้อมูลเรื่องการฆ่าตัวตายเพราะสภาพอากาศชัดเจนมากขึ้น ทีมวิจัยจึงตัดสาเหตุอื่นที่เกี่ยวข้องออกไป เช่น สภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ หลังจากนั้นจึงหันไปเน้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของความร้อน และปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น

สิ่งนี้ช่วยให้เราสามารถแยกผลกระทบเชิงสาเหตุของมลพิษทางอากาศที่มีต่อการฆ่าตัวตายได้เป็นครั้งแรก” แทมมา คาร์ลตัน หนึ่งในทีมวิจัยระบุ

ข้อมูลด้านสภาพอากาศที่รวบรวมมาจากทั่วประเทศจีน รวมกับการวิเคราะห์ของเครื่องติดตามมลพิษทางอากาศ 1,400 เครื่อง พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วมณฑลต่างๆ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยทั่วไปแต่ละครั้งจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ซึ่งที่น่ากังวลก็คือความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถเพิ่มระดับ PM 2.5 ได้มากถึง 1% ภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

เมื่อนำข้อมูลทางสภาพอากาศมารวมกับรายงานการฆ่าตัวตายในระดับมณฑลประมาณ 140,000 ฉบับต่อหนึ่งสัปดาห์พบว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมีความสัมพันธ์กับอัตราการ “ฆ่าตัวตาย” ที่เพิ่มขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์เช่นกัน แม้ว่าปัญหานี้จะไม่ใช่เรื่องระยะยาวเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล และรายงานในวารสารวิชาการ Nature Sustainability ก็ระบุว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษานี้พบว่ามีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และเป็นการเสียชีวิตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อครั้งสภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์ดี

สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก” แทมมา อธิบายเพิ่มเติม

  • การควบคุม “มลพิษทางอากาศ” มีส่วนช่วยดูแล “สุขภาพจิต”

แม้ว่าจีนจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านสภาพอากาศ แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาอัตราการฆ่าตัวตายของจีนก็ถือว่าลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยในปี 2010 มีการฆ่าตัวตาย 10.88 ครั้งต่อประชากร 100,000 คนในจีน ซึ่งต่อมาในปี 2021 ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนระบุว่าอัตราดังกล่าวลดลงเหลือ 5.25 ครั้ง

อัตราการฆ่าตัวตายที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากหลายปัจจัย แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกี่ยวกับการอพยพจากชนบทเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อโอกาสในการทำงาน เพราะที่ผ่านมาอัตราการฆ่าตัวตายในจีนประมาณครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในแถบชนบท

ในขณะเดียวกันจีนเองก็เริ่มออกมาตรการปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างเข้มงวด ที่เห็นได้ชัดผ่านแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศปี 2013 เน้นสนับสนุนการเปลี่ยนถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานพาหนะ ส่งเสริมพลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทำให้ทีมนักวิจัยนำข้อมูลจากแนวโน้มเหล่านี้มาระบุปริมาณความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศและการฆ่าตัวตาย

เมื่อพิจารณาตัวเลขอย่างละเอียดพบว่าเกือบ 10% ของอัตราการฆ่าตัวตายโดยรวมที่ลดลงระหว่างปี 2013-2017 มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศที่ลดลง”  แทมมา กล่าว

ดังนั้นในเบื้องต้นอาจได้ข้อสรุปว่าประมาณ 10% ของอัตราการฆ่าตัวตายของชาวจีนที่เริ่มลดลงเมื่อไม่นานมานี้ มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลดมลพิษทางอากาศด้วยเช่นกัน ทีมวิจัยจึงมองว่าข้อมูลเหล่านี้อาจจะสามารถนำไปเป็นแนวทางป้องกันการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้

ท้ายที่สุดนี้แม้ว่าข้อมูลจากงานวิจัยจะระบุว่า “สภาพอากาศ” มีผลต่อการ “ฆ่าตัวตาย” แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่งานวิจัยที่กลุ่มตัวอย่างจำกัดอยู่แค่ในประเทศจีนเท่านั้น ถึงอย่างไรก็ตามปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจ เพราะปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกแม้แต่ประเทศไทยยังคงพบเจอกับปัญหาจากสภาพอากาศ ดังนั้นหากรัฐบาล ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหานี้ได้ ก็หมายความว่าช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายของประชาชนได้เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูล : Nature SustainabilityScience Alert และ Science