หนุนสรรพสามิตเดินหน้าโครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว

หนุนสรรพสามิตเดินหน้าโครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว

นักวิชาการหนุนสรรพสามิตเดินหน้าโครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว ชี้ปัญหาบุหรี่เถื่อนนั้นไม่ใช่ผลของโครงสร้างภาษี แต่เป็นผลของระดับภาษีที่สูงเกิน

รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ เนตินิยม หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวถึงกรณี นายภูมิจิตต์  พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ระบุว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว หรือ Single Tier นั้นไม่เหมาะสมกับประเทศที่มีปัญหาบุหรี่เถื่อนรุนแรง และจะกระทบกับรายได้ภาษีของรัฐและรายได้ของชาวไร่ยาสูบ ว่า โครงสร้างภาษีอัตราเดียวเป็นแนวทางสากลที่ใช้กันมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ณ ปี 2563 ชี้ว่ามี 138 ประเทศจากทั้งหมด 195 ประเทศ ที่ใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว หรือ Uniform excise tax

ทั้งนี้ ทั้งองค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียต่างก็สนับสนุนโครงสร้างดังกล่าว เนื่องจากมีความเรียบง่ายและไม่กระตุ้นให้เกิดการลดราคาบุหรี่แข่งกัน ทำให้มีประสิทธิภาพทั้งในด้านสุขภาพและการสร้างรายได้รัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ยสท. ค้านโครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว ชี้คุมบุหรี่เถื่อนไม่ได้

สรรพสามิตเล็งแก้ภาษีบุหรี่เป็นอัตราเดียว

 

โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว แนวทางที่ดีที่สุด

รศ.ดร. ภัทรกิตติ์ ยังอธิบายว่า โครงสร้างแบบอัตราเดียวไม่มีผลกระทบกับปัญหาบุหรี่เถื่อน จะเห็นได้จากตัวอย่างเช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่จากเดิม 4 อัตรามาเป็นอัตราเดียวเมื่อปี 2560 ล่าสุดมีสัดส่วนบุหรี่เถื่อน 16.5% น้อยกว่าในประเทศไทยที่ใช้โครงสร้างภาษีแบบ 2 อัตรา สูงถึง 22.3%

ขณะที่รายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบของฟิลิปปินส์ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมามีทิศทางเพิ่มขึ้นจากการปรับมาใช้โครงสร้างภาษีอัตราเดียว ต่างจากประเทศไทยที่รายได้ภาษียาสูบลดลงเกือบทุกปีในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เปลี่ยนใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตรา อีกหนึ่งตัวอย่างคือประเทศตุรกีที่เปลี่ยนมาจากโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบหลายอัตรามาเป็นอัตราเดียวเดียวเมื่อปี 2548 ซึ่งล่าสุดตุรกีมีสัดส่วนบุหรี่เถื่อนไม่ถึง 5%

หนุนสรรพสามิตเดินหน้าโครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว

“โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ทั้งในแง่สาธารณสุข และรายได้ภาษี ล่าสุดธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียก็ได้เผยแพร่รายงาน Excise Tax Policy and Cigarette Use in High-Burden Asian Countries เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 แนะนำให้ประเทศไทยยกเลิกโครงสร้างภาษียาสูบแบบหลายอัตราแล้วเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างแบบอัตราเดียว”

 

กำหนดระดับภาษีเหมาะสมกับกำลังซื้อแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อน

ส่วนปัญหาบุหรี่เถื่อนนั้นไม่ใช่ผลของโครงสร้างภาษี หากแต่เป็นผลของระดับภาษีว่าสูงเกินไปกว่าสภาพเศรษฐกิจหรือไม่ เพียงใด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการป้องกันและปราบปรามที่มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ถ้ากำหนดระดับภาษีให้เหมาะสมกับกำลังซื้อ และปราบปรามการลักลอบนำเข้าอย่างเข้มงวด ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาบุหรี่เถื่อนลงได้

รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาของประเทศไทยคือโครงสร้างภาษีหลายอัตรา และระดับภาษีที่สูงถึงราว 79% ของราคาขายปลีกบุหรี่ ซึ่งสูงกว่าในประเทศใกล้เคียง เช่น ฟิลิปปินส์ (56%) เวียดนาม (39%) ทำให้ผู้ประกอบการแข่งกันด้วยราคาเป็นหลัก และทำให้บุหรี่เถื่อนตีตลาดได้มากขึ้น จึงเชื่อมั่นว่าหากปรับเป็นโครงสร้างภาษีอัตราเดียวตามที่แนวทางของกรมสรรพสามิต

หนุนสรรพสามิตเดินหน้าโครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว

โดยกำหนดอัตราภาษีมูลค่าที่ไม่สูงมากนักและสอดรับกับกำลังซื้อผู้บริโภค เช่นที่ 25% นอกจากจะยกระดับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลแล้ว จะไม่ทำให้เกิดการขยายตัวของบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น และยังจะเป็นประโยชน์กับทั้ง ยสท. ชาวไร่ยาสูบ รายได้ภาษี และสาธารณสุขได้ด้วย