เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง

เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง

เปิดบ้าน 'แม่ประนอม ทาแปง' ผู้สืบสานผ้าทอ ซิ่นตีนจกเมืองลอง จ.แพร่ จากผู้ที่หลงใหล การทอผ้าตั้งแต่วัย 12 ปี สู่การได้รับยกย่องเป็น 'ศิลปินแห่งชาติ' สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ)

Key Point : 

  • ‘ผ้าทอตีนจก’ หนึ่งในแหล่งสำคัญ คือ บ้านนามน อ.ลอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ แม่ประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ)
  • แม้จะต้องหยุดเรียนกลางคันในช่วง ป.4 แต่ด้วยความใฝ่เรียน ใฝ่รู้ ทำให้ 'แม่ประนอม' ศึกษาจนจบปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยอุตรดิตถ์
  • ปัจจุบัน บ้านแม่ประนอม เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ สำหรับผู้ที่สนใจ รวมถึง มีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผ้าทอมือที่ชนะการประกวด ผ้าทอโบราณอายุกว่า 200 ปี และผ้าทอตีนจกที่ยาวที่สุดมาไว้ให้ได้ชม

 

แม่ประนอม ทาแปง วัย 69 ปี ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ) ในปี 2553 จากเด็กที่ต้องหยุดเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านไผ่ล้อม อ.ลอง จ.แพร่ ด้วยปัญหาสุขภาพและฐานะทางบ้านที่ยากจน แต่ด้วยความสนใจใฝ่ศึกษา จึงเริ่มเรียนรู้การปั่นเส้นฝ้าย ทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยรับการถ่ายทอดจากครูคนแรก คือ แม่แก้วมูล ผู้เป็นแม่

 

นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้การทอผ้าตีนจนโบราณเมืองลอง จากนางบุญยวง อุปถัมภ์ ผู้เป็นป้า ซึ่งเป็นครูคนที่สอง ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทอผ้า จนแม่ประนอม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ รับเป็นนักเรียนศิลปาชีพ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ทำให้ได้รับการศึกษาศิลปะเชิงช่างทอ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่

 

 

เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

'แม่ประนอม' เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีความพากเพียร ในการศึกษาระบบการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษาตามอัธยาศัย จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยอุตรดิตถ์ และด้วยผลงานการสร้างสรรค์ผ้าทอตีนจกที่งดงาม ทำให้แม่ประนอม ได้รับปริญญาศิลปะศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (คหกรรมศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2546

 

ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลอง

‘เมืองลอง’ หรือ อ.ลอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ แม่ประนอม ปัจจุบันเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรือง กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเมืองลอง คือ ชาวไทยวน หรือ ชาวไทยโยนก ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของภาคเหนือ ได้สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ทั้งด้านการแต่งกายที่มีเทคนิคและศิลปะการทอผ้า

 

บางท้องถิ่นสามารถทอผ้าโดยใช้เทคนิคการจกลายให้เกิดความสวยงามที่เรียกว่า ‘ผ้าตีนจก’ แหล่งสำคัญ อยู่ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ , อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ , บ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และ บ้านนามน อ.ลอง จ.แพร่

 

ในปี 2522 แม่ประนอม ได้มีโอกาสนำผ้าซิ่นตีนจกลายของอำเภอลอง ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานธงประจำรุ่นให้แก่ลูกเสื้อชาวบ้าน จ.แพร่ และต่อมา คณะผู้แทนในพระองค์ได้เดินทางมาที่บ้านและขอพบ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยและมีความประสงค์จะส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าตีนจกให้มากขึ้น

 

โดยคณะผู้แทนพระองค์ได้กรุณามอบทุนดำเนินการให้ จนกระทั่งมีการจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าซิ่นตีนจกขึ้น ในชื่อ ‘กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนามน’ ในปี 2532

 

เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง

 

 

จากสมาชิก 15 คนแรก ขยายสู่กลุ่มทอผ้า กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะผ้าทอตีนจก รวมถึงจัดตั้ง 'กลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ' โดยมีสมาชิกกว่า 400 คน และมีเครือข่ายกว่า 17 จังหวัด กระทั่งได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฟื้นฟูพัฒนาการย้อมสีครามธรรมชาติ เกิดการพัฒนาศักยภาพของกลุ่ม

 

จนสามารถเปิด 'ศูนย์การเรียนรู้ ผ้าจกเมืองลองและการย้อมสีครามธรรมชาติ' ในปี 2551 ปัจจุบัน บ้านแม่ประนอม เปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา และยังมีพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาที่รวบรวมผ้าทอที่ได้รับรางวัลการประกวด และผ้าโบราณอายุกว่า 200 ปี ให้ได้ชมกันอีกด้วย

 

เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง

 

‘แม่ประนอม’ เล่าว่า ผ้าทุกผืนที่นี่ ใช้การทอมือทั้งหมด โดยใช้กี่พื้นเมือง ในส่วนของ ลายผ้า ใช้การแกะลาย ทั้งดูจากผ้าเก่าบ้าง และหากเป็นเด็กรุ่นใหม่ๆ มาเรียน จะมีการพัฒนาใช้คอมพิวเตอร์ทำตารางกราฟให้ลายตรง เป็นการผสมผสาน แต่ส่วนมาก หากเป็นแม่ประนอมทอเอง ลายผ้าเรียกว่าเป็นลายที่ด้นสด ทอจากจินตนาการและความรู้สึก

 

ทั้งนี้ ผ้าทุกผืนที่โชว์ในพิพิธภัณฑ์ จะไม่ได้นำมาขาย แต่หากคนที่สนใจสามารถสั่งทอได้ โดยใช้ระยะเวลาต่อผืนมากกว่า 1 เดือน ราคาอยู่ที่ความยากง่ายและวัสดุ

 

เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง

 

ผ้าทอตีนจก ยาวที่สุดในโลก

ผ้าทอตีนจกที่ยาวที่สุด ‘ลายโคมและช่อน้อยตุงชัย’ เป็นอีกหนึ่งผลงานของแม่ประนอมที่ตั้งโชว์ความสวยงามให้คนที่มาได้เยี่ยมชม

 

แม่ประนอม เล่าว่า ‘ลายโคมและช่อน้อยตุงชัย’ ถือเป็นลายที่มีความเป็นมงคล ‘โคม’ คือ แสงสว่าง และ ‘ตุงชัย’ คือ ชัยชนะ รวมถึงมี ‘นกคุ้ม’ เอาไว้ปกปักรักษาคุ้มครอง ผ้ามีความยาวมากกว่า 100 เมตร ใช้เวลาทอยาวนานกว่า 20 ปี และยังทอต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรงทอ

 

เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง

 

“ที่นี่มีการสืบทอดและเปิดให้ผู้คนได้เข้ามาเรียนรู้ ขั้นตอนตั้งแต่เป็นดอกฝ้าย การทอ จนมาถึงการเป็นผ้าทอให้ได้ชมว่ามีความสวยงามได้อย่างไร เป็นแหล่งเรียนรู้ของกระบวนการทำผ้าจกของชาติพันธุ์ไทยวน ไทยโยนก ตั้งแต่กระบวนการทำเส้นฝ้าย ลวดลายผ้าจกโบราณดั้งเดิม จนถึงพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน เป็นอาชีพ และเป็นการอนุรักษ์ ชุมชนสามารถส่งลูกหลานเรียนสูงๆ ได้ด้วยการทำผ้าจก”

 

 

เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง

 

อนุรักษ์ผ้าโบราณ

นอกจากนี้ แม่ประนอม ยังมีการอนุรักษ์ลวดลายผ้าโบราณ ที่คิดว่าต่อไปในอนาคตจะสูญหายไป เนื่องจากขาดผู้ที่สนใจหรือเอาใจใส่เท่าที่ควร โดยได้ใช้ความมานะพยายามที่จะศึกษาถึงลวดลาย สีสัน และวิธีการทอแบบเก่าๆ ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้น ผลแห่งความพยายามจึงประสบความสำเร็จ มีลวดลายพื้นบ้านโบราณหลายลายที่นางประนอม ทาแปง ได้พยายามบันทึกความทรงจำจนปรากฏเป็นผ้าลวดลายที่งดงามในหลายรูปแบบ

 

"ลวดลายผ้าตีนจกอำเภอลองจะมีหลากหลายลาย ถ้าดูจริงๆ จะมีนับร้อยลาย เช่น ลายหลัก เมื่อคน โบราณ เห็นนกเขาก็จะทอลายนกกินน้ำร่วมต้น เห็นมดแดงหรือมดส้มเขาก็จะทอลายขามดแดง ถ้าเป็นดอกไม้ ก็จะเป็นลายพุ่มดอก ลายผักแว่น ลายดอกมะลิ ส่วนลายใหม่ๆ ที่คิดขึ้นเราก็ประยุกต์ขึ้นมา เช่น ลายหัวใจ ดูลายเหมือนอะไรเราก็เรียกไปตามนั้นตามที่เราประยุกต์ขึ้นมา”

 

เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง

 

 

การผลิตงานส่วนใหญ่จะเน้นการผลิตผลงานเพื่อการอนุรักษ์ผ้าแบบโบราณ โดยศึกษาลวดลายและสีสันจากผ้าโบราณแล้วนำมาทอใหม่เลียนแบบของเดิม ซึ่งมีทั้งลวดลายแท้ๆ ของชาวเมืองลองส่วนหนึ่ง และที่นำเอาลวดลายจากที่อื่นๆ เช่น หาดเสี้ยว หาดสูง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เข้ามาประยุกต์ดัดแปลงจนเกิดความกลมกลืนแทบแยกกันไม่ออก

 

เมื่อพิจารณาแล้ว ผลงานทอผ้าของ แม่ประนอม ทาแปง จะมีลักษณะพิเศษและเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นฝ้ายเส้นเล็กเรียบเสมอกัน สีสันคงที่ไม่เข้มหรือจางเป็นช่วงๆ ลักษณะการทอจะแน่น ทั้งนี้ ผลงานของแม่ประนอมไม่เพียงแค่ให้คนไทยได้ชมเท่านั้น ยังมีโอกาสแสดงผลงานในต่างประเทศ ในรูปแบบการจัดนิทรรศการผ้าทอที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และจีน นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เป็นต้น นับเป็นการสืบสานศิลปะผ้าทอ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง ไม่ให้สูญสลาย ดั่งคำที่แม่ประนอมได้กล่าวไว้ว่า

 

"สืบสานการทอผ้าไว้ เพื่อตระหนักวันสูญสิ้น ฝากฝีมือไว้ในแผ่นดิน เป็นทรัพย์สินแห่งปัญญา”

 

เปิดบ้าน ‘แม่ประนอม ทาแปง’ ศิลปินแห่งชาติ สืบสานซิ่นตีนจกเมืองลอง