ประจำเดือนมากะทันหันไม่เป็นไร ไต้หวันผุดแคมเปญ มีร้านค้าให้ผ้าอนามัยฟรี

ประจำเดือนมากะทันหันไม่เป็นไร ไต้หวันผุดแคมเปญ มีร้านค้าให้ผ้าอนามัยฟรี

ปัญหาประจำเดือนมากะทันหันจนเลอะ ถือเป็นเรื่องใหญ่ของใครหลายคน แต่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป หลังไต้หวันผุดไอเดียเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าที่สนใจให้บริการผ้าอนามัยฟรีได้เข้าร่วม เพื่อให้ทุกคนหาผ้าอนามัยได้ทัน

Key Points:

  • ปัจจุบันนี้การเข้าถึง “ผ้าอนามัย” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ด้านสุขอนามัยของผู้มีรายได้น้อยทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพราะมีราคาแพง หาซื้อได้ยาก ทำให้ต้องใช้อย่างประหยัดหรือหาวัสดุอย่างอื่นมาใช้แทน
  • “With Red” เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในไต้หวันแห่งแรก ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้มี “ประจำเดือน” และยังทำสื่อการสอนรวมทั้งหลักสูตรให้คนทั่วไปเข้าใจว่าการมีรอบเดือนคือเรื่องปกติ
  • ล่าสุด With Red จัดทำแคมเปญร่วมกับร้านค้าหลายแห่งในไต้หวัน เพื่อจัดให้มีผ้าอนามัยและกางเกงในสำหรับผู้ที่ “รอบเดือนมากะทันหัน” ได้เข้าไปใช้บริการฟรี

ประจำเดือน” แม้เป็นเรื่องธรรมชาติของผู้ที่มีเพศกำเนิดหญิงทุกคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึง “ผ้าอนามัย” ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความยากจนที่พบเจอได้ทั่วโลก ซึ่ง “ไต้หวัน” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

นอกจากเรื่องของค่าใช้จ่ายแล้ว อีกปัญหาที่ผู้มีประจำเดือนต้องพบก็คือ “การถูกตีตราจากสังคม” เนื่องจากหลายคนยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้และมองว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสกปรก โดยเฉพาะกับคนที่ประจำเดือนมากะทันหันในช่วงที่อยู่นอกบ้านและไม่มีผ้าอนามัยติดตัว

จากปัญหาเหล่านี้ทำให้ วีวี หลิน (Vivi Lin) เกิดแนวคิดก่อตั้ง “With Red” ขึ้นมาในฐานะองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) แห่งแรกของไต้หวัน ที่เน้นไปยังการแก้ปัญหาความยากจน และขจัดการตีตราในกลุ่มผู้มีประจำเดือน

ล่าสุด With Red มีแคมเปญที่ร่วมมือกับร้านค้าและร้านอาหารหลายแห่ง ในการเตรียม “ผ้าอนามัย” และ “กางเกงใน” ไว้สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมากะทันหัน โดยสามารถสังเกตได้จากสติกเกอร์ที่ติดไว้หน้าร้านพร้อมข้อความ “เป็นมิตรต่อผู้มีประจำเดือน”

ประจำเดือนมากะทันหันไม่เป็นไร ไต้หวันผุดแคมเปญ มีร้านค้าให้ผ้าอนามัยฟรี

ภาพจาก With Red

  • “With Red” องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่อยากให้ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมดา

สิ่งที่ทำให้ “วีวี หลิน” เริ่มมองเห็นปัญหาการเข้าถึง “ผ้าอนามัย” เกิดขึ้นตอนอายุ 18 ปี ช่วงที่เธอเริ่มทำงานกับองค์กรไม่แสวงหากำไรในเนเธอร์แลนด์ และได้พบเห็นความยากจนที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ลี้ภัยในยุโรปและชุมชนต่างๆ ที่ผู้คนไม่ได้มีรายได้สูงมากนัก

ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดข้อหนึ่งซึ่งเป็นผลพวงจากความยากจนก็คือ ผู้มีประจำเดือนบางคนไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อผ้าอนามัย ทำให้ต้องหาสิ่งของอย่างอื่นมาใช้แทน เช่น ใบไม้ หรือใช้ผ้าอนามัยแผ่นเดียวนานหลายชั่วโมง ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัยตามมา แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่สามารถส่งเสียงเรียกร้องได้ดังพอจนไปถึงผู้มีอำนาจ

นอกจากนี้ วีวี เปิดเผยกับ Hive life ว่า ตอนที่เธอมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 11 ปี ด้วยความที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย ทำให้เธอพยายามปกปิดเอาไว้ จนแม่ของเธอเริ่มสังเกตถึงความผิดปกติและพยายามคุยกับเธอให้เข้าใจเรื่องประจำเดือนมากขึ้น

แต่เมื่อเธอเอาเรื่องนี้ไปคุยกับเพื่อนๆ และครูที่โรงเรียน กลับแทบไม่มีใครคุยกับเธอเลย เธอจึงเริ่มหยิบยกเรื่องนี้มานำเสนอ และเริ่มต้นเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อการมีประจำเดือน

ปัจจุบันนอกจาก “With Red” จะมีการวางแผนสนับสนุนระยะยาวเพื่อจัดให้มีชุดผลิตภัณฑ์สุขอนามัยส่วนบุคคล เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนจนถึงอายุ 18 ปี ยังมีการทำสื่อการสอนและหลักสูตรสำหรับให้ความรู้เกี่ยวกับ “ประจำเดือน” ให้นักเรียนทุกเพศทำความเข้าใจอีกด้วย เพื่อที่จะได้ปฏิบัติต่อผู้มีประจำเดือนได้อย่างไม่แปลกแยก และไม่มองว่าพวกเธอเหล่านั้นดูน่ารังเกียจ

ประจำเดือนมากะทันหันไม่เป็นไร ไต้หวันผุดแคมเปญ มีร้านค้าให้ผ้าอนามัยฟรี

วีวี หลิน ขณะอบรมให้กับนักเรียน (Hive life)

แม้ว่าทุกวันนี้ในไต้หวันผู้คนจะเริ่มมองว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งเมื่อมีใครสักคนประจำเดือนมากะทันหันจนเลอะกางเกงหรือกระโปรงก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหญ่

  • “ประจำเดือน” มากะทันหันไม่เป็นไร เข้าไปรับผ้าอนามัยจากร้านร่วมแคมเปญได้ฟรี

อีกปัญหาน่าหนักใจสำหรับผู้มีประจำเดือนก็คือ “ประจำเดือนมากะทันหัน” แม้ว่าบางคนจะมาตรงรอบทุกครั้งทำให้สามารถกำหนดวันคร่าวๆ ได้ แต่ก็ไม่เสมอไป แน่นอนว่าเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น นอกจากทำให้หมดความมั่นใจแล้ว เรื่องความสะอาดก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน และในบางครั้งก็อยู่ในจุดที่ไม่สามารถหาซื้อผ้าอนามัยได้

With Red มองว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้หากมีผ้าอนามัยในพื้นที่ชุมชนมากพอ จึงเกิดเป็นแคมเปญ “Period Friendly Space” หรือ พื้นที่ที่เป็นมิตรต่อผู้มีประจำเดือน โดยเปิดโอกาสให้ร้านค้าต่างๆ เข้ามาร่วมแบ่งปันพื้นที่สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมากะทันหันหรือใครก็ตามที่ไม่มีผ้าอนามัยใช้จริงๆ สามารถเข้าไปใช้บริการห้องน้ำได้ฟรี โดยจะมีผ้าอนามัยและกางเกงในบริการอยู่ภายในร้าน

สำหรับจุดสังเกตร้านค้าที่เข้าร่วมแคมเปญก็คือ “สติกเกอร์” ที่ติดอยู่หน้าร้านพร้อมข้อความ “เป็นมิตรต่อผู้มีประจำเดือน” โดยสามารถกดค้นหาสถานที่ที่อยู่ใกล้ที่สุดได้จากกูเกิล

แม้ว่าไอเดียผ้าอนามัยฟรีจากร้านค้าที่ร่วม Period Friendly Space จะยังมีอยู่แค่ในไต้หวัน แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อให้คนในสังคมได้ช่วยเหลือผู้ที่ประจำเดือนมากะทันหันได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเมื่อเรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็ทำให้หลายคนออกความเห็นว่า อยากให้มีแคมเปญแบบนี้ในประเทศของตัวเองบ้าง

คลิกที่นี่ เพื่อดูแผนที่ร้านค้าที่เข้าร่วมแคมเปญ

อ้างอิงข้อมูล : Hive life และ With Red