รัฐบาลตั้งคกก. PM 2.5 แห่งชาติ แก้ไขปัญหา PM 2.5 ระหว่างรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

รัฐบาลตั้งคกก. PM 2.5 แห่งชาติ แก้ไขปัญหา PM 2.5 ระหว่างรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

“จักรพล” เผยรัฐบาลตั้งคณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ แก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างจริงจัง พร้อมเดินหน้าทำงานแบบ Quick Win ระหว่างรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาดผ่านสภาฯ

วันนี้ (13 ธ.ค.66) เวลา 13.40 น. ณ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งได้รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรีให้แถลงข่าวประเด็น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ซึ่ง ค่าฝุ่นพิษ สูงมากในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือว่า

นายกรัฐมนตรีให้ความใส่ใจและตั้งใจในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ โดยทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศจะมีวาระหนึ่งที่นำเข้าที่ประชุม คือ การให้ความร่วมมือกันในกลุ่มหมอกควันข้ามพรมแดน พร้อมกับพูดคุยกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) เพื่อยกระดับการพูดคุยเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดน รวมถึงพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของคณะรัฐมนตรี ที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้บรรจุผ่านเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกาในการหารือและนำเข้าวิปรัฐบาลก่อนจะนำเข้าสู่รัฐสภาต่อไป ซึ่งจะทำงานควบคู่กับพระราชบัญญัติอากาศสะอาด (พ.ร.บ.อากาศสะอาด) ของพรรคเพื่อไทยในแง่ของนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายบริหารจะเป็นพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความครบถ้วนมากที่สุดในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ระหว่างการแก้กฎหมายจนแล้วเสร็จนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาฝุ่นพิษอย่างยั่งยืน คือ คณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะเป็นการทำงานแบบ Quick Win ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ระหว่างที่กฎหมายหรือพระราชบัญญัติกำลังพิจารณาอยู่ในสภา

นายจักรพล กล่าวถึง สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าว่า กรุงเทพมหานครติดอันดับ 12 ของโลก เชียงใหม่ ติดอันดับ 23 ของโลก ค่า AQI ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) อยู่ที่ 154 - 156 อยู่ในโซนสีแดง

ทั้งนี้ ทุกปีประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะวางแผนที่จะทำการรับมืออย่างครบถ้วนและครบทุกมิติ ด้วยการเพิ่มมาตรการภาษีบริเวณเขตชายแดนของการนำเข้าสินค้า การใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV การเพิ่มโทษ (Polluters Pay Principle: PPP) ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย มาตรการเหล่านี้จะเป็นการปลุกระดมให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตรกร ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคสังคม ที่ทำการศึกษาและพยายามจะฝ่าฟันปัญหาฝุ่นพิษให้ลุล่วงไปอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นระหว่างการเดินทางช่วงเช้าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยกับภาวะ PM 2.5 จะรุนแรงขึ้นอีกในปลายปีนี้ รวมถึงไตรมาสหนึ่งของปีหน้า อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำทุกวิถีทางให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ ค่า AQI ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) จะสูงระดับนี้ และอยากให้เป็นปีสุดท้ายที่จะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ต้องเผชิญฝุ่นพิษนี้ เราตระหนักดีถึงพิษทางเศรษฐกิจและพิษทางสุขภาพ ยืนยันรัฐบาลจะตั้งใจแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

นายจักรพล กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเปิดแนวกั้นไฟที่จังหวัดเชียงใหม่ และประชุมร่วมผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมทั้งประชุมกับภาคภาคีสังคม พร้อมทั้งมอบนโยบายการดูแลป่า 11 แปลงใหญ่ รวมถึงการเผาพืชผลทางการเกษตรหรือเผาเพื่อเอาผลิตผลต่าง ๆ และการเพิ่มโทษของ Contract Farming ในการที่จะทำสิ่งใดก็ตามที่จะนำมาซึ่ง ฝุ่นควัน

โดยนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการพูดถึงค่าฝุ่นพิษที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากการเผาไร่อ้อยในปริมณฑล ซึ่งได้มีการเฝ้าระวัง และติดตามอย่างเข้มข้นแล้ว ขณะที่ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เดินทางไปร่วมการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ได้มีการใส่สารัตถะในการให้ความสำคัญเรื่อง PM 2.5 เพื่อจะนำมาเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการพูดคุยกับกรอบประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผาและเกิดมลพิษข้ามพรมแดน

ตรงนี้จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับปัญหา PM 2.5 เป็นอย่างมาก โดยมอบหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข เข้ามากำกับดูแลปัญหา PM 2.5 รวมทั้งในส่วนฝ่ายนิติบัญญัติได้มีการพูดคุยพรรคร่วมกับรัฐบาลที่จะพยายามขับเคลื่อนพระราชบัญญัติอากาศสะอาดในภาคของนิติบัญญัติอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งมีการหารือกับนักวิชาการและนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง โดยในวันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.66) จะเดินทางไปที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อทำโมเดลในเรื่องของการเลี่ยงการเผา เปลี่ยนจากการเผาให้เป็นฟางให้เป็นมูลค่าทางหน้าดินให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป

นอกจากนั้น นายจักรพล ได้ตอบข้อซักถามสื่อมวลชนถึงปัญหาฝุ่นพิษที่สูงในวันนี้ว่าไม่ได้เกิดจากจังหวัดปทุมธานี แต่เป็นเขตปริมณฑล โดยฝุ่นพิษที่สูงในวันนี้เกิดจากการเผาเพื่อเตรียมหน้าดินในเรื่องของการทำไร่อ้อย โดยจะมีมาตรการของ ธกส. ในการที่จะเปลี่ยนการเผาให้เป็นทุน รวมถึงมีการพิจารณาเรื่อง คาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพริ้นท์ การเปลี่ยนจากการเผามาเป็นการรับซื้อเพื่อเพิ่มมูลค่าจากการเผาให้มาเป็นมูลค่าแทน

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำได้ทันทีนั้น คือ ใครเผาหรือก่อมลพิษ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับได้เลยซึ่งมีโทษอยู่แล้ว

หากเป็นในต่างจังหวัดก็จะมีเกษตรจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการซึ่งจะทำงานร่วมกับนายอำเภอของแต่ละจังหวัด โดยได้มีการเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานอย่างเข้มข้นในการตรวจจับ ตรวจสอบ เฝ้าระวัง นอกจากนั้นต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยยังไม่เด็ดขาด

โดยในการผลักดันครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย ทั้งในเรื่องของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเข้าใจและมีความเห็นตรงกันในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง ตลอดเวลาที่ผ่านมาปัญหา PM 2.5 ไม่เคยถูกปฏิบัติอย่างจริงจัง หากเราไม่ขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานี้ในทุกมิติก็จะสร้างผลกระทบเป็นอย่างมากเพราะฉะนั้นครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดีในการที่จะขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน