ถอดบทเรียน 4 คดีผู้บริโภคปี 66 ฟ้องแล้วชนะ

ถอดบทเรียน 4 คดีผู้บริโภคปี 66 ฟ้องแล้วชนะ

เปิดตัวอย่าง “ผู้บริโภค” รวมพลังสู้จนชนะคดีกลุ่ม (class action) ที่ศาลสั่งค่ายรถยนต์ชื่อดังคืนเงินผู้บริโภค กรณีผู้บริโภคถูกหลอกขายคอร์สสุขภาพ และความคืบหน้าอีกหนึ่งคดีกลุ่มกรณี “กระทะโคเรียคิง” โฆษณาเกินจริง ที่ศาลพิพากษากลางเดือน พ.ย.นี้

โดยคดีผู้บริโภคทั้ง 4 คดีนี้เป็นผลงานความสำเร็จในการเดินหน้าทางกฏหมายที่รวมถึงการดำเนินคดีกลุ่มขั้นศาลของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ในปีงบประมาณ 2566 ที่ได้รับการร้องเรียนกว่า 1.6 หมื่นเรื่องโดยสภาผู้บริโภคสามารถแก้ปัญหาสำเร็จได้กว่า 79% 

​ตลอดปีงบประมาณ 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกว่า 16,142 เรื่อง จากทั้ง 8 ด้าน อาทิ ด้านสินค้าและบริการ ด้านขนส่ง และยานพาหนะ ด้านบริการสุขภาพ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้แล้วกว่าร้อยละ 79.52 

​ในการถ่ายทอดสดหัวข้อ “รวมพลังผู้บริโภค สู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” ผ่านทางรายการ “เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร” ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจสภาองค์กรของผู้บริโภค และ ยูทูบ tccthailand  โดยสภาผู้บริโภค มีผู้บริโภคที่ต่อสู้ร่วมกับสภาผู้บริโภคจนประสบความสำเร็จชนะคดีมาร่วมรายการเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ และเป็นบทเรียนให้กับผู้บริโภค

นายฉัตรชัย พุ่มพวง ผู้บริโภคที่ชนะกรณีถูกหลอกขายคอร์สดูแลสุขภาพ เล่าประสบการณ์ว่า มีเจ้าหน้าที่คลินิกสุขภาพแห่งหนึ่งที่ดูน่าเชื่อถือโทรมาเชิญชวนไปตรวจสุขภาพฟรีจึงเข้าไปรับการตรวจสุขภาพ โดยคลินิกสุขภาพดังกล่าวได้นำเลือดไปตรวจ และแจ้งผลว่าเลือดข้นมีปัญหาเรื่องไขมันพอกตับ ควรจะมีการดูแลสุขภาพ โดยได้แนะนำแพ็กเกจดูแลซึ่งเสนอราคาตั้งแต่หลายแสนบาท มาจนถึงระดับหลายหมื่นบาท โดยเจ้าหน้าที่พยายามโน้มน้าว ปรับลดราคาแพ็กเกจเหลือ 8,000 บาท จึงตัดสินใจเข้ารับการรักษา

 

ส่วนขั้นตอนในการรักษาจะมีเจ้าหน้าที่คล้ายพยาบาลมาฉีดวิตามินให้ หลังจากเดินทางกลับบ้านได้ปรึกษาเพื่อนที่เป็นแพทย์พร้อมเล่าวิธีการรักษา ด้วยการให้วิตามิน ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นวิตามินอะไร เพื่อนที่เป็นหมอจึงบอกว่าไม่มีวิธีการรักษาแบบนี้และแพทยสภากำลังเตือนว่าอาจจะเป็นการรักษาหลอกลวง จึงหาข้อมูลและรีบติดต่อมาที่สภาผู้บริโภค

นายฉัตรชัย กล่าวว่า หลังจากที่ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นแพทย์และได้คุยกับเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค จึงได้เจรจาขอเงินคืน ในครั้งแรกคลินิกไม่ยอม แต่เมื่อถามถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการรักษาซึ่งไม่มีการรับรองวิธีการรักษาแบบนี้ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่พยาบาลที่มาเจาะเลือดและฉีดวิตามินอาจไม่ใช่พยาบาลวิชาชีพ ทางคลินิกจึงยอมคืนเงิน 8,000 บาท

“อยากเตือนผู้บริโภคว่า หากมีอะไรที่มาบอกว่า ฟรีให้ยับยั้งชั่งใจก่อน และหาข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจรักษา เพราะไม่อย่างนั้นจะตกเป็นเหยื่อเพราะผมเองก็ไม่รู้เขาฉีดอะไรเข้าไปในร่างกาย และต้องใจแข็ง อย่าสงสารพนักงานขายที่พยายามโน้มน้าว” นายฉัตรชัย กล่าว

ถอดบทเรียน 4 คดีผู้บริโภคปี 66 ฟ้องแล้วชนะ

ส่วนกรณี นางสาวพิชชาภัทร์ เกษนุ่ม ผู้บริโภคต่อสู้กรณีการรักษาด้วยคีเลชั่น กล่าวว่า คุณพ่อและคุณแม่ถูกเชิญชวนให้ไปรักษาสุขภาพด้วยการทำคีเลชั่นในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งคนในครอบครัวจะใช้บริการโรงพยาบาลแห่งนี้ทั้งหมด โดยติดต่อมาให้คุณพ่อไปตรวจสุขภาพฟรีเหมือนเป็นสิทธิ์การรักษาของ โรงพยาบาลแห่งนี้

นางสาวพิชชาภัทร์ กล่าวว่า คุณพ่อกับคุณแม่ของเธอไปรับการตรวจ โดยมีพยาบาลเจาะเลือดและบอกว่าผลตรวจเลือดต้องรอหนึ่งสัปดาห์ ทำให้แปลกใจ จึงได้ปรึกษาเพื่อนที่เป็นหมอและเภสัชกร เนื่องจากการเจาะเลือดโดยทั่วไปใช้เวลาแค่ 1 วันเท่านั้น และเมื่อตรวจสอบเอกสารสัญญา พบรายละเอียดการรักษามีเพียงแค่การให้วิตามิน 30 ครั้งแบ่งเป็นคุณพ่อ 15 ครั้งและคุณแม่ 15 ครั้งมีค่าใช้จ่าย 1.4 แสนบาทโดยจ่ายบัตรเครดิตเต็มจำนวน แต่ผ่อน 0% ระยะเวลา 10 เดือน

นางสาวพิชชาภัทร์ ได้นำรายละเอียดในการรักษา เช่น การให้วิตามินผิวใส วิตามินกระดูกพรุนไปปรึกษากับเพื่อนที่เป็นหมอเนื่องจากคุณพ่อมีปัญหาเรื่องตับ เพื่อนที่เป็นหมอบอกว่า คุณพ่อไม่สามารถรับการรักษาด้วยโปรแกรมนี้ได้เพราะจะทำให้มีปัญหากับตับและสุขภาพทันที

“เราได้ติดต่อโรงพยาลบาลเพื่อขอดูรายละเอียดสัญญา ซึ่งในเอกสารสัญญาไม่มีวิธีการรักษามีเพียงการให้วิตามินแต่เราต้องการรักษาไม่ใช่แค่ให้วิตามินทั่ว ๆ ไป และเราไม่เคยเจอแพทย์เลย พบเพียงพนักงานขายเท่านั้น เราขอทราบชนิดวิตามินก็ไม่สามารถให้ราละเอียดได้ บอกเพียงว่าเป็นสูตรที่แพทย์ปรุงเองจึงคิดว่าต้องสู้แล้ว โดยขอยกเลิกสัญญาแต่รพ.ไม่ยอม จึงได้หารือกับหลายฝ่ายรวมถึงสภาผู้บริโภค และต่อสู้จนได้เงินคืนครบตามจำนวน 1.4 แสนบาท”

ถอดบทเรียน 4 คดีผู้บริโภคปี 66 ฟ้องแล้วชนะ

นางสาวพิชชาภัทร์ ได้เตือนผู้บริโภคว่า อย่าหลงเชื่อของฟรี ให้ระวังก่อนตัดสินใจรักษาและปรึกษาคนในครอบครัวก่อน นอกจากนี้ในการทำสัญญา หากมีการเขียนด้วยดินสอ อย่าลงลายมือ รวมถึงหากมีการเซ็นสัญญาเราต้องได้สัญญาคู่ฉบับด้วยทั้ง 2 ฝ่าย รวมไปถึงเมื่อเจอปัญหาถูกเอาเปรียบอย่าปล่อยผ่านเพราะถ้าต่อสู้ก็จะเปลี่ยนแปลงได้

ด้านนายโฆษิต ธีระวรกุล ผู้บริโภคชนะคดีฟ้องค่ายรถยนต์ กล่าวว่า เขาได้ซื้อรถยี่ห้อหนึ่งแล้วใช้รถมาประมาณ 1 ปีกว่า เกิดอาการเครื่องยนต์สั่นเร่งไม่ขึ้น จึงเข้าศูนย์บริการซึ่งได้รับการดูแลดี เปลี่ยนอะไหล่ มีรถให้ใช้ระหว่างซ่อม แต่หลังจากนั้นกลับมาใช้ได้หนึ่งหมื่นกิโลเมตร รถยนต์ของเขาเกิดปัญหาเดิม

แต่ครั้งนี้ทางศูนย์กลับไม่แก้ไขเหมือนครั้งที่แล้ว จึงได้หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตถึงปัญหาของรถยี่ห้อนี้ และพบกับผู้ใช้รถยนต์ที่มีปัญหาเดียวกัน จึงรวมกันไปหาสำนักงานใหญ่ของค่ายรถยนต์ยี่ห้อนี้และได้เจอกับผู้บริหารถามสาเหตุและแนวทางแก้ไข แต่คำตอบที่ได้คือการโทษผู้บริโภคว่าใช้รถอย่างไรเติมน้ำมันหลอดหรือเปล่า จึงรวมตัวกันไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ไม่คืบหน้า จึงได้ติดต่อมาที่สภาผู้บริโภค ทำเป็นคดีกลุ่มมีโจทย์นำฟ้อง 9 ท่าน แต่มีผู้เสียหาย 200 ราย ใช้เวลาต่อสู้ 6 ปี

จนล่าสุด ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้ผู้บริโภคชนะ โดยกำหนดให้บริษัทฯ ต้องชดใช้ราคาค่าซ่อมตามจริง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 1,800 บาท รวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจรายละ 30,000 บาท อีกทั้งบริษัทฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง

นายโฆษิต กล่าวว่า การรวมตัวของผู้บริโภคทำให้มีพลังในการต่อรองกับบริษัท แต่น่าเสียดายที่ความยุติธรรมมาช้า เพราะมีผู้บริโภคหลายรายที่รอไม่ไหวต้องถอยออกไปบางส่วนจึงอยากให้มีการพิจารณาที่เร็วขึ้นในคดีความเสียหายของผู้บริโภค 

ถอดบทเรียน 4 คดีผู้บริโภคปี 66 ฟ้องแล้วชนะ

ส่วนกรณีของนางสาวกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง ผู้บริโภคที่ฟ้องคดีกระทะโคเรียคิง โฆษณาเกินจริงเล่าว่า เธอซื้อกระทะโคเรียคิงโดยหุ้นกับเพื่อนร่วมงาน หลังจากดูโฆษณาเพราะเป็นกระทะทอดไร้น้ำมันในราคา 3,300 แบบซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง แล้วพบว่ากระทะไม่ได้มีสรรพคุณตามกล่าวอ้าง จึงได้ฟ้องบริษัทว่าโฆษณาเกินจริง จึงได้ร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค โดยมีผู้เสียหายจากการซื้อกว่า 72 ราย โดยศาลได้รับฟ้องคดีกลุ่มเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องอาญานางสาวกัลยทรรศน์ คดีเบิกความเท็จ โดยระบุว่าเธอไม่ได้เป็นผู้เสียหายในการซื้อ “กระทะโคเรียคิง” แต่คดีดังกล่าวศาลอาญา พิพากษา “ยกฟ้อง” ให้เธอชนะ และรับรองเป็นผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิงที่โฆษณาเกินจริง

นางสาวกัลยทรรศน์ กล่าวว่า เธอเชื่อในพลังของผู้บริโภค เพราะหากรวมกันขึ้นมาต่อสู้แล้วก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้แม้ว่าคดีของเธอจะต่อสู้มานาน แต่ขณะนี้ศาลแพ่งได้ดำเนินการสืบพยานเรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดนัดฟังคำพิพากษา ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

ถอดบทเรียน 4 คดีผู้บริโภคปี 66 ฟ้องแล้วชนะ

ด้าน นาวสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค แต่ต้องขอบคุณผู้บริโภคที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ทำให้เห็นถึงพลังที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เช่น กรณีปัญหารถยนต์ ขณะนี้สภาผู้บริโภคกำลังผลักดันกฎหมายที่เรียกว่า ความรับผิดต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง โดยไม่ต้องมาถกเถียงกันอีกต่อไป เช่น ในรถยนต์ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ หากมีการซ่อม 2 ครั้ง รถยนต์ไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน ค่ายรถยนต์ควรจะชดเชยรถคันใหม่หรือได้เงินคืนเต็มจำนวน

ส่วนปัญหาที่ผู้บริโภคกล่าวถึงกระบวนการต่อสู้ที่ใช้เวลานานนั้น นางสาวสารีเห็นด้วยและรับที่จะนำมาพิจารณาเพื่อหาทางออกให้ระยะเวลาในการพิจารณาและช่วยเหลือปัญหาของผู้บริโภครวดเร็วขึ้นได้อย่างไร

นอกจากนี้ นางสาวสารี กล่าวว่า อยากเห็นผู้บริโภคลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่ปล่อยผ่านเรื่องราวของตัวเอง โดยสามารถมาติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สภาผู้บริโภค ผ่านองค์กรสมาชิกจำนวน 311 องค์กร ใน 43 จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้บริโภคเข้ามาตรวจสอบข้อมูล และขอความช่วยเหลือได้ที่ เว็บไซต์สภาองค์กรผู้บริโภค