คนมีลูก มีสิทธิได้ 2 เด้ง เงินอุดหนุนบุตร-เงินสงเคราะห์บุตร

คนมีลูก มีสิทธิได้ 2 เด้ง เงินอุดหนุนบุตร-เงินสงเคราะห์บุตร

คนที่มีลูก มีสิทธิได้รับ 2 เด้ง เงินอุดหนุนบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร หากเข้าเกณฑ์คุณสมบัติทั้ง 2 ส่วน  รวมถึงสิทธิสวัสดิการอื่นๆ และสิ่งที่รัฐต้องเพิ่มเติมหากต้องการกระตุ้นให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น

Keypoints:

  • สิทธิสวัสดิการที่คนมีลูกได้รับจากรัฐ ไม่ได้มีเพียงเงินอุดหนุนบุตร ยังมีอีกหลายส่วนครอบคลุมตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ คลอดและหลังคลอด
  • เงินอุดหนุนบุตร ต่างจากเงินสงเคราะห์บุตร  เกณฑ์คนที่ได้รับแตกต่างกัน  และหากเข้าทั้ง 2 เกณฑ์ สามารถรับได้ทั้ง 2 ส่วน    
  •  สิทธิสวัสดิการที่คนต้องการให้รัฐสนับสนุนเพิ่มเติม และรัฐควรนำมาพิจารณา หากต้องการส่งเสริมให้คนมีบุตรมากขึ้น ท่ามกลางอัตราเด็กเกิดใหม่ของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

        ท่ามกลางอัตราเด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากราว 1 ล้านคนต่อปี เหลือประมาณ 5 แสนรายต่อปี การให้สิทธิสวัสดิการ แก่คนที่มีลูกมากขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐควรต้องเร่งพิจารณา และไม่ใช่จะนึกถึงแต่เพียงเรื่องเพิ่ม “เงินอุดหนุนบุตร” เท่านั้น  มีมิติอื่นๆที่ควรจะต้องให้ควบคู่ด้วย 

สิทธิปัจจุบันที่คนมีลูกได้รับ 
1.ผู้ประกันตน

  •        ผู้ประกันตน ม.33 และ 39 และ 40 (ทางเลือกที่ 3) ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรประกันสังคม (แรกเกิด - 6 ปี) เดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน อายุบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนครั้งละไม่เกิน 3 คน  และ 200 บาท (สำหรับมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3)  อายุบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 2 คน
  •       ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าตรวจ-ฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตรจากการมีลูกได้ ค่าตรวจและค่าฝากครรภ์ ในอัตราเหมาจ่าย 5 ครั้ง รวม 1,500 บาท  ค่าคลอดบุตร เหมาจ่าย 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง
  • เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน แต่หากมีบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธินี้

2. ข้าราชการ

  • ข้าราชการมีสิทธิลาคลอดบุตรได้ 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนและมีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน
  • ลูกจ้างประจำ มีสิทธิลาได้ 90 วันและมีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องโดยรับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำการและรวมอยู่ในวันลากิจส่วนตัว 45 วันทำการ
  • พนักงานราชการ มีสิทธิลาได้ 90 วัน ได้รับค่าตอบแทนระหว่างลาคลอดบุตรจากส่วนราชการ 45 วันทำการและอีก 45 วัน ได้รับจากประกันสังคม 

    3.เงินสำหรับผู้มีรายได้น้อย
  • เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจากรัฐ(แรกเกิด-6ปี)ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/ปี โดยจะช่วยเหลือเป็นเงินให้กับผู้ปกครองจำนวน 600 บาท/เดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี 
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มอบเงินสงเคราะห์ให้กับ ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและเดือดร้อนด้านการเงินจนไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้ โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,000 บาท/คน/เดือน หากมีลูก 2 คนขึ้นไปหรือมีสิทธิได้เงินสูงสุด 3,000 บาท/เดือน

    4.ทุกคนที่มีลูก
  • สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท แต่หากเป็นลูกคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 61 หรือหลังจากนี้ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 60,000 บาท และค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินท้องละ 60,000 บาท

มีสิทธิรับทั้งเงินสงเคราะห์บุตร-เงินอุดหนุนบุตร

   เงินสงเคราะห์เป็นสิทธิที่ผู้ประกันตนจะได้รับเป็นรายเดือน  โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ ดังนี้

  1. ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
  2. จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
  3. ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
  4. อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

    การหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร
  • เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
  • บุตรเสียชีวิต
  • ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

สถานที่ยื่นเรื่อง

  1. สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่
  2. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข

      ส่วนเงินอุดหนุนบุตร หรือเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นส่วนที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นำจ่ายให้แก่ครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จำนวน 600 บาทต่อเดือน

        ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติการรับทั้งเงินอุดหนุนบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร สามารถรับได้ทั้ง 2 ส่วน  รวมเป็นเงิน  1,400 บาทต่อเดือน   

คนมีลูก มีสิทธิได้ 2 เด้ง เงินอุดหนุนบุตร-เงินสงเคราะห์บุตร  

เงินอุดหนุนบุตรต.ค.โอนแล้ว

      กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) แจ้งว่า  เงินอุดหนุนบุตร เดือนต.ค. 2566 ได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแล้ว 

สามารถตรวจสอบการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

  • เว็บไซต์กรมกิจการเด็กและเยาวชน http://csgcheck.dcy.go.th
  • แอปพลิเคชัน “เงินเด็ก”
  • แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ"

        สำหรับผู้ปกครองที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเด็กมีสัญชาติไทย พ่อ แม่ ผู้ปกครองสามารถยื่นคำร้องในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิดและผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง (ไม่จำเป็นต้องเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน) ดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต
  • เมืองพัทยา ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
  • ส่วนภูมิภาค ลงทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล
  • ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” ทั้งนี้ผู้ปกครองต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่าน แอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครองก่อน

       และเมื่อตรวจสอบสิทธิผ่านแล้ว จะได้รับเงินมีผล ตั้งแต่เดือนที่ลงทะเบียนรับเงิน

     สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน โทร 08 2091 7245, 08 2037 9767, 08 3431 3533, 06 5731 3199 หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

สิทธิสวัสดิการที่รัฐควรเพิ่มให้คนมีลูก
         ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “มีลูกกันเถอะน่า”  ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2566เรื่องมาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 65.19 สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก รองลงมา ร้อยละ 63.66 รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี

 ร้อยละ 30.00 ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก

ร้อยละ 29.47 เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก

 ร้อยละ 21.91 มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด
 ร้อยละ 19.92 อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว

 ร้อยละ 17.18 พัฒนาและอุดหนุนการเงิน ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก

ร้อยละ 9.85 มีบริการฟรี ศูนย์ผู้มีบุตรยาก

ร้อยละ 7.48 เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก

ร้อยละ 5.50 รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น

ร้อยละ 4.89 รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย

 ร้อยละ 2.75 รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใดๆ