COVID-19 ไวรัสแห่งความเหนื่อยล้าแบบรวมหมู่ | กุลลินี มุทธากลิน

COVID-19 ไวรัสแห่งความเหนื่อยล้าแบบรวมหมู่ | กุลลินี มุทธากลิน

Byung-Chul Han นักปรัชญาชาวเกาหลี ชี้ให้เห็นว่าโควิด 19 เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นวิกฤตการณ์ทางสังคม ทำให้เราเห็นอาการทางพยาธิวิทยาที่มีก่อนเกิดโควิด-19 ชัดเจนยิ่งขึ้น

อาการดังกล่าวก็คือ ความเหนื่อยล้า (tiredness) ก่อนโรคระบาด ทุกคนรู้สึกเหนื่อยล้า ความเหนื่อยล้าติดตัวเราไปทุกที่และทุกเวลาเสมือนหนึ่งเงาของเราเอง

ในหนังสือ the Burnout Society ซึ่งเขียนขึ้นก่อนหน้าโควิด 19 อธิบายความเหนื่อยล้าว่า เป็นความเจ็บป่วยของสังคมมุ่งความสำเร็จของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ ที่ตรรกของการมุ่งความสำเร็จบังคับให้ผู้คนต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่มีหยุดหย่อน โดยเชื่อว่าพวกเขามีเสรีภาพและเป็นนายของตัวเองอย่างแท้จริง 

ในช่วงที่มีโรคระบาด ผู้คนรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น ความเกียจคร้านที่รุมเร้าผู้คนระหว่างช่วงล็อกดาวน์ทำให้เราเหนื่อยล้า บางคนอาจจะคิดว่าผู้คนจะกลับมาค้นพบความงดงามของความสันโดษและการพักผ่อนอีกครั้ง ชีวิตอาจจะดำเนินไปช้าลง แต่ในความเป็นจริง ช่วงเวลาของการล็อกดาวน์เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยล้าและหดหู่แบบรวมหมู่

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือผู้ป่วยที่หายดีจากโควิด-19 ยังคงมีอาการเรื้อรังในระยะยาวมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออาการอ่อนเพลียเรื้อรัง แต่ไวรัสไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยโควิดเหนื่อยล้าเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อคนที่มีสุขภาพดีด้วยเช่นกัน 

นักปรัชญาอย่าง Slavoj Zizek สัมผัสได้ถึงการแพร่ระบาดของความเหนื่อยล้าดังกล่าวเช่นกัน ในหนังสือ Pandemic!: COVID-19 Shakes the World ของเขาถึงกับอุทิศบทที่ 2 ให้กับหัวข้อที่บอกว่า “ทำไมเราถึงเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา”

COVID-19 ไวรัสแห่งความเหนื่อยล้าแบบรวมหมู่ | กุลลินี มุทธากลิน

 แม้ Zizek ตั้งข้อสงสัยว่าความเหนื่อยล้า และการขูดรีดตัวเองของแรงงานในโลกตะวันตกในยุคเสรีนิยมใหม่ ยังไม่ใช่เป็นภาพสะท้อนที่เป็นตัวแทนของแรงงานในระบบทุนนิยมทั้งหมด

เนื่องจากสภาพเดิม ๆ ของแรงงานในระบบการผลิตแบบฟอร์ดถูกรับช่วงไปโดยแรงงานในโลกที่สามอีกหลายล้านคน ซึ่งถูกขูดรีดจากทุนในรูปแบบที่เราคุ้นชิน รวมถึงแรงงานบริการจากโลกที่สาม ซึ่งเข้ามารับช่วงทำงานบริการและดูแลในด้านต่าง ๆแทน 

    ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 การทำงานที่บ้านแบบที่เรียกว่า WFH ที่ผู้คนโดยเฉพาะแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสามารถทำงานร่วมกันได้จากบ้านผ่านอีเมล์และการประชุมทางไกลแม้จะอยู่ในช่วงของการล็อกดาวน์ กระบวนการทำงานดังกล่าวเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีผู้คนอื่น ๆที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านในทุ่งนา โรงงาน ร้านค้า โรงพยาบาล หรือขนส่งสาธารณะ

การทำงานในพื้นที่นอกบ้าน ที่ไม่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโดยผู้คนหรือแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าว ทำให้ผู้คนอีกส่วนหนึ่งสามารถกักตัวทำงานได้อย่างปลอดภัยภายในบ้าน ทำให้แม้แต่ความเสี่ยงจากการตายและการตายก็ยังไม่เป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน

Byung-Chul Han ระบุว่าในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส ค่ายแรงงานในยุคเสรีนิยมใหม่ก็คือ โฮมออฟฟิศ แต่สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือการทำงานที่บ้านกลับเหนื่อยล้ากว่าการทำงานในสำนักงาน

สถานการณ์ดังกล่าวไม่สามารถอธิบายได้ในแง่ของการขูดรีดตัวเองมากขึ้นของแรงงาน แต่สิ่งที่ทำให้เหนื่อยล้าก็คือความโดดเดี่ยว การนั่งอยู่ในชุดนอนอย่างไม่รู้จบสิ้นหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผู้คนต้องเผชิญหน้ากับตัวตนของเขาเอง ถูกบังคับให้ครุ่นคิดและคาดเดาเกี่ยวกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา

พื้นฐานของความเหนื่อยล้าดังกล่าวก็คือ ego tiredness การทำงานที่บ้านเพิ่มความเข้มข้นให้ผู้คนต้องรัดรึงกับตัวตนของตนเองมากขึ้น ขณะที่การทำงานในสำนักงานจะมีผู้คนอื่น ๆ ที่เบี่ยงเบนความสนใจจากอัตตาของตนเองออกไป

COVID-19 ไวรัสแห่งความเหนื่อยล้าแบบรวมหมู่ | กุลลินี มุทธากลิน

ผู้คนที่ทำงานแบบ WFH จึงเหนื่อยล้าเพราะขาดการติดต่อทางสังคม การกอดทักทาย การสัมผัสกับผู้คนอื่น ๆ ภายใต้เงื่อนไขของการล็อกดาวน์ ผู้คนเริ่มตระหนักว่าบางที คนอื่นอาจไม่ใช่นรก อย่างที่นักอัตถิภาวนิยมอย่างซาร์ตกล่าวไว้ 
การไม่มีพิธีกรรม เช่น การทักทายผู้คน การสัมผัส และการติดต่อพูดคุย

เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำงานที่บ้านแบบ WFH เกิดความเหนื่อยล้า เนื่องจากพิธีกรรมก่อให้เกิดชุมชนไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬา การชมคอนเสิร์ต การไปร้านอาหาร การชมภาพยนตร์ในโรงหนัง การไปโบสถ์ พิธีกรรมต่าง ๆเหล่านี้ถูกยกเลิกหรือควบคุมเนื่องจากความจำเป็นในการเว้นระยะห่างทางสังคม

ความจำเป็นดังกล่าวทำลายชีวิตทางสังคมและทำให้ผู้คนเหนื่อยล้า ทำให้คนอื่น ๆ ถูกลดสถานะไปเป็นพาหะของไวรัสซึ่งต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพเอาไว้ ไวรัสจึงขยายวิกฤติของผู้คนในปัจจุบัน ทำลายชุมชนซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทำการแยกผู้คนออกจากกัน ทำให้คนโดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงามากยิ่งขึ้น

โควิด-19 ยังเผยให้เห็นถึงผลกระทบด้านลบของยุคดิจิทัล การสื่อสารแบบดิจิทัลเป็นการสื่อสารที่ถูกลดทอนให้เหลือเพียงด้านเดียว ขาดการสบตา และขาดการมีอยู่จริงของอีกฝ่าย

โควิด-19 ทำให้รูปแบบการสื่อสารดังกล่าวกลายเป็นบรรทัดฐาน การสื่อสารแบบดิจิทัลเป็นการสื่อสารที่ปราศจากเสียงสะท้อนและความสุข จึงทำให้ผู้คนเหนื่อยล้ามากขึ้น 

ในการประชุมผ่าน zoom สิ่งที่เราทำคือการจ้องที่หน้าจอ การไม่มีสายตาของอีกฝ่ายจากการที่ไม่สามารถมองหน้ากันได้อย่างแท้จริงทำให้เราเหนื่อยล้า

COVID-19 ไวรัสแห่งความเหนื่อยล้าแบบรวมหมู่ | กุลลินี มุทธากลิน

ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักว่าการมีอยู่จริงของบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข พิธีกรรมการสื่อสารระหว่างผู้คนจึงเป็น ยาถอนพิษความเหนื่อยล้า

การระบาดของไวรัสยังเป็นกระจกส่องให้ผู้คนเห็นว่า เราอยู่ในสังคมแห่งการเอาชีวิตรอดบนพื้นฐานของความกลัวตาย

ในปัจจุบันการเอาชีวิตรอดสัมบูรณ์ราวกับว่าเราอยู่ในภาวะสงครามอย่างถาวร พลังชีวิตทั้งหมดถูกใช้ไปเพื่อยืดอายุ สังคมแห่งการเอาชีวิตรอดดังกล่าวสูญเสียความรู้สึกที่ดีไปทั้งหมด ความเพลิดเพลินถูกเสียสละเพื่อสุขภาพ ความเข้มงวดของกระบวนทัศน์การไม่สูบบุหรี่ (หรือการดื่มเหล้าในสังคมไทย) เป็นการยืนยันถึงความคลั่งไคล้การเอาชีวิตรอด

ยิ่งมีชีวิตอยู่นานเท่าไร ผู้คนก็ยิ่งกลัวตายมากขึ้นเท่านั้น การระบาดของโควิด 19 นำความตายซึ่งเราได้ควบคุมมันไว้อย่างระมัดระวังให้กลับมาปรากฎอีกครั้ง ความตายอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้คนกังวลใจ

ในภาวะความคลั่งไคล้การเอาชีวิตรอด มนุษย์ลืมไปว่าชีวิตที่ดีคืออะไร แต่เพื่อความอยู่รอดมนุษย์เต็มใจสละทุกสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีค่า ไม่ว่าจะเป็นความเป็นกันเอง ชุมชน และความใกล้ชิด และแม้แต่การจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสุดโต่งก็ยังเป็นที่ยอมรับ

มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้ถูกคุกคามจากแบคทีเรียหรือไวรัสเหมือนในอดีต การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดที่ดุเดือดนี้ทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นค่ายกักกัน ที่ชีวิตหยุดนิ่งเพื่อเอาชีวิตรอด

COVID-19 ไวรัสแห่งความเหนื่อยล้าแบบรวมหมู่ | กุลลินี มุทธากลิน

โคโรนาบลูส์ (corona blues) คือชื่อที่ชาวเกาหลีตั้งให้กับโรคซึมเศร้า ที่แพร่ระบาดในช่วงการระบาดของโควิด-19 ภายใต้การกักกันโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ภาวะซึมเศร้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น 

โควิด-19 จึงสะท้อนให้เห็นพยาธิสภาพของมนุษย์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ผ่านความเจ็บป่วยทางด้านระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า สมาธิสั้น โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว และอาการหมดไฟ ขณะที่ความเหนื่อยล้าแบบปัจเจกสะท้อนให้เห็นถึงความเหนื่อยล้าแบบรวมหมู่ของสังคม

อีกไม่นานเราอาจจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอที่จะต่อกรกับไวรัสได้ แต่เรายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโรคซึมเศร้าและความเหนื่อยล้าแบบรวมหมู่ นอกจากว่ามนุษย์จะประสบผลสำเร็จในการค้นหารูปแบบใหม่ของเศรษฐกิจและชีวิต ที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสแห่งความเหนื่อยล้า.