‘กัญชา’ การแพทย์เพื่อเศรษฐกิจ

‘กัญชา’ การแพทย์เพื่อเศรษฐกิจ

แม้ว่าปัจจุบัน "กัญชา" จะไม่ได้เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 แล้ว แต่การซื้อและจำหน่ายก็ยังจำเป็นต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่ก็ต้องติดตามต่อว่า พ.ร.บ.กัญชากัญชง ที่จะออกมาหลังจากนี้จะเน้นไปที่ “ห้ามสูบ หรือใช้ในเชิงสันทนาการ” เข้มงวดหรือไม่ หลังภูมิใจไทยเตรียมยื่นต่อสภาอีกครั้ง

หากดูจากนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหน้า 11 ระบุไว้ว่า “การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ” และคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “อนุทิน ชาญวีรกุล” ที่ว่าเร็วๆ นี้พรรคภูมิใจไทยจะยื่นกฎหมายควบคุมกัญชงกัญชาสู่สภาอีกครั้งหนึ่ง หากดูตามรูปการณ์แล้วเช่นนี้มีโอกาสน้อยมากที่ “กัญชา” จะกลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 แต่มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้า “กัญชาทางการแพทย์เพื่อเศรษฐกิจ” ต่อไป

ขณะนี้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด สิ่งที่สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้สถานะปัจจุบันของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% และช่อดอกที่กำหนดให้เป็นสมุนไพรควบคุม 5 กรณีห้ามจำหน่ายเพื่อการค้าและสถานที่ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา รวมถึง การห้ามโฆษณาเพื่อการค้าในทุกช่องทาง

ทุกส่วนของกัญชายกเว้นช่อดอก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กรณีนำไปปรุงเป็นอาหารที่มีหน้าร้าน หรือในร้านอาหาร จะมีประกาศของกรมอนามัย ควบคุมการใช้กัญชาเป็นส่วนผสม จะต้องมีการแสดงรายการเมนูที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอย่างชัดเจน มีคำแนะนำในการบริโภคอย่างชัดเจนว่าใครที่ เป็นกลุ่มต้องห้ามรับประทาน เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีประวัติแพ้มีคำแนะนำเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์กรณีที่มีการวางขายใบกัญชาตามท้องถนน

การใช้ประโยชน์ช่อดอกกัญชาจะต้องขออนุญาตก่อน เพราะเป็นสมุนไพรควบคุม โดยผู้ใดประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ต้องได้รับใบอนุญาต และ ต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และให้รายงานข้อมูลนั้นต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออกต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

5 กรณีห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า ห้ามจำหน่าย ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร ห้ามจำหน่าย ให้กับนักเรียนนิสิตหรือนักศึกษา ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรอง ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ใช้ในการรักษาสัตว์ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์

สถานที่ห้ามขายช่อดอกกัญชา ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก ห้ามโฆษณาสมุนไพรควบคุมในทุกช่องทางเพื่อการค้า ซึ่งต้องติดตามว่า พ.ร.บ.กัญชากัญชง ที่จะออกมาหลังจากนี้จะมีเนื้อหา “ห้ามสูบ หรือใช้ในเชิงสันทนาการ” อย่างเข้มงวดหรือไม่