2 สิ่งที่ 'เกษตรกร'ไม่ควรทำ หากไม่อยากเทผลผลิตบนถนนซ้ำๆ

2 สิ่งที่ 'เกษตรกร'ไม่ควรทำ หากไม่อยากเทผลผลิตบนถนนซ้ำๆ

เทผลผลิตบนถนน คงจะไม่เกิดขึ้นกับ “สวนนายปาน”และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย เพราะที่นี้ใช้กลยุทธ์ “ตลาดนำผลผลิต” ทำให้สามารถกำหนดราคาขายได้เอง แม้นำส่งห้างใหญ่อย่างแม็คโคร  พลิกรายได้จากกรีดยางพาราเดือนละ 5,000 บาทเป็น 50,000 บาท

Keypoints:

  • โมเดลสวนนายปานและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย ภายใต้กลยุทธ์ 'ตลาดนำผลผลิต' แนวทางแก้ปัญหาเกษตรกรนำผลผลิตเทถนน 
  • ข้อแนะนำที่เกษตรกรควรและไม่ควรทำ เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญปัญหาซ้ำๆเรื่องผลผลิตล้นตลาดที่จะวางขาย จนราคาตกต่ำ และสิ่งที่ภาครัฐควรสนับสนุนที่ถูกทาง
  • แผนรองรับภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญที่เริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น จากผลผลิตทางการเกษตรในปีนี้ ที่มีขนาดของผลเล็กลง 
           ทันทีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์(ไฟฟ้า) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  “สมชัย หนูนวล” หรือปาน ก็ตัดสินใจกลับสู่บ้านเกิดอ.เขาชัยสน จ.พัทลุงโดยไม่ลังเลและไม่ได้ยื่นสมัครงานที่ไหน เพราะหัวใจของเขาอยู่ที่ “การเกษตร" และเรียนต่อในระดับปริญญาโทสาขาการจัดการธุรกิจเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนสำเร็จ
    2 สิ่งที่ \'เกษตรกร\'ไม่ควรทำ หากไม่อยากเทผลผลิตบนถนนซ้ำๆ
          สมชัย วัย 42 ปี เจ้าของสวนนายปาน และประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย เล่าว่า ช่วงแรกที่กลับมาบ้านหันไปทางไหนก็มีแต่ยางพาราและปาล์ม จึงรับซื้อน้ำยางสดและยางแผ่นรมควัน แต่เจอปัญหาที่ควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศไม่ได้ วันฝนตกไม่มีงานทำและมีระยะเวลาผลัดใบอีกราว 3 เดือน ยิ่งกลไกราคา เกษตรกรก็ไม่สามารถกำหนดได้ ราคาขึ้นลงไม่รู้ว่าใครกำหนด จึงคิดว่า “ธุรกิจนี้คงไม่ยั่งยืน”
              เปลี่ยนมาเลี้ยงไก่ เพราะรอบผลิตสั้น 30 วันก็ขายได้เงิน ก็ประสบปัญหาขี้ไก่ขายไม่ได้ในช่วงฤดูฝน  เกิดเป็นจุดพลิกสำคัญ “ปลูกกล้วยหอมทอง”ด้วยฐานคิดที่ว่านำขี้ไก่กระสอบละ 20 บาทไปใส่ต้นกล้วย ผ่านไป 8 เดือนได้ผลผลิตขายกล้วยหวีละ 20 บาท ก็ได้ต้นทุนค่าขี้ไก่กลับมาส่วนที่เหลือถือเป็นกำไร

กล้วยได้วางขายแม็คโคร   
       เริ่มต้นศึกษาการปลูกกล้วยหอมทองและได้รู้จักผู้ที่ปลูกกล้วยส่งให้ร้านสะดวกซื้อ ยุคแรกจึงปลูกเองร่วมกับพี่ที่เลี้ยงไก่ด้วยกัน 4-5ไร่ ส่งผลผลิตให้ร้านสะดวกซื้อ ไปได้ดี และระหว่างนั้นได้โพสต์เฟซบุ๊คเรื่องการปลูกกล้วยหอมทองเป็นเชิงให้ความรู้ จนไปเข้าตาฝ่ายจัดซื้อของแม็คโคร สาขาพัทลุง ได้รับการเรียกไปพูดคุย สอบถามปริมาณการปลูก และมาติดตามดูการปลูกที่ส่วนที่อ.บางแก้ว จ.พัทลุงซึ่งเริ่มปลูกมะละกอขนาบด้วย

        “เป็นจุดที่ทำให้มีโอกาสนำกล้วยเข้าห้าง และตั้งเป้าหมายว่าภายใน 2 ปีจะต้องติดตลาดภาคใต้ให้ได้ หมายความว่าขอดูแลตัวเอง กล้วยจากภาคอื่นจะได้ไม่ต้องลงมา” สมชัยกล่าว 

ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
       เมื่อเป้าหมายชัดเจน จึงชักชวนเพื่อนๆคนรู้จักที่มีที่ดินมาร่วมกันปลูก จากนั้นสำนักงานเกษตรอ.บางแก้วได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรเล็กๆที่ปลูกกล้วยหอมทอง จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ปัจจุบันมีสมาชิก 89 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 500 ไร่ในจ.พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา และไกลสุดอ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี 

     “จากครั้งแรกที่ได้นำกล้วยหอมทองเข้าแม็คโคร ส่งให้ได้เพียง 12 หวี แต่ก็เป็นความตื่นเต้นและภาคภูมิใจว่ากล้วยได้เข้าห้าง ปัจจุบันที่ผ่านไปราว 3-4 ปี ต้องนำส่งกล้วยเข้าแม็คโครวันละ 1 ตัน"สมชัยกล่าว  


     เริ่มวางขายจากสาขาพัทลุง ขยายไปสาขาหาดใหญ่ ตรัง สตูล อ่างนางจ.กระบี่ ถลาง ภูเก็ต กะรน ป่าตองและ ราไวย์ จ.ภูเก็ต จึงค่อยๆตัดโควต้ากล้วยจากภาคอื่นๆลงได้ทีละนิด เพราะผลผลิตจากภาคใต้สามารถดูแลส่วนี้ได้ จาก 19 สาขาภาคใต้ขณะนี้วางขายแล้ว 11 สาขา อีก 8 สาขาที่ส่งไม่ประจำเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอ

ตลาดต้องนำผลผลิต
       สมชัย เล่าย้อนว่า เลือกปลูกกล้วยหอมทองเพราะเกษตรกรปลูกง่ายที่สุดและปลูกมานานแต่เป็นแบบวิถีดั้งเดิม ไม่ใช่เชิงธุรกิจ จึงนำหลักเศรษฐศาสตร์และวิชาการเรื่องการปลูกกล้วยเชิงธุรกิจเข้ามาเสริมให้สมาชิก ทำให้กลุ่มเติบโตได้เร็ว อย่างเช่น  ระยะการปลูกต้อง2X2  เมตร  มีระบบน้ำ ต้องปาดหน่อทิ้งไม่ไว้เป็นกอเพื่อให้ต้นแม่สมบูรณ์และออกเครือลุกที่ใหญ่  ต้องใส่ปุ๋ย ต้องค้ำต้นค้ำเครือ เป็นเรื่องการจัดการแปลง ไม่ให้ปลูกกล้วยหอมทองแล้วกลายเป็นกล้วยเล็บมือนาง
     กลยุทธ์สำคัญที่สมชัย สวนนายปานและกลุ่มวิสาหกิจฯนำมาใช้ คือ “ตลาดต้องนำผลผลิต”  สมชัย อธิบายโดยยกตัวอย่างว่า ตรุษจีนปี 2567ราว 10 ก.พ.2567 ย้อนกลับไป 8 เดือนช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.2566 ต้องปลูกกล้วยที่จะขายในวันนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยตั้งเป้าจะขาย 100 ตัน ต้องมีกล้วยตัดราว 1,000 เครือ
2 สิ่งที่ \'เกษตรกร\'ไม่ควรทำ หากไม่อยากเทผลผลิตบนถนนซ้ำๆ
        และปัจจุบันที่ส่งผลผลิตกล้วยวันละ 1 ตัน ก็จะเฉลี่ยให้เกษตรกรตัดกล้วยมาส่งให้กลุ่มวิสาหกิจฯรวมกันแล้วไม่เกิน  1 ตัน รวมถึง การวางแผนปลูกก็จะต้องต่อเนื่องให้มีผลผลิตต่อเนื่อง  ช่วงที่เป็นเทศกาลอาจจะมีการระดมปลูกเพื่อรองรับ
รายได้เพิ่มมั่นคงยั่งยืน
     ผลที่เกิดขึ้น สมชัย บอกว่า เกษตรกรในกลุ่มมีรายได้มั่นคง วันนี้เกษตรกรหลายรายเลิกจากอาชีพกรีดยางพารามปลูกกล้วยหอมทองอย่างเดียว เพราะตัวเลขรายได้จากเดิมกรีดยางได้เดือนละ 4,000-5,000 บาท มาเป็น 50,000-60,000 บาทต่อเดือน หรือบางเดือนอาจจะมากกว่านี้
 

 “เกษตรกรมีตลาดที่แน่นอน มีการขายได้ในราคาที่นำตลาด รายได้มั่นคง วิถีชีวิตดีขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น  และกลุ่มวิสาหกิจฯมีผลผลิตขายต่อเนื่อง รายได้ต่อเนื่อง ปลายปีมีปันผลให้สมาชิก เมื่อตลาดเห็นว่าสามารถส่งผลผลิตให้ได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่ตัดกลุ่มเราออกไป ก็มอบตลาดให้เรา ความมั่นคงก็เกิดขึ้น เป็นห่วงโซ่”สมชัยกล่าว


       ความมั่นคงที่ยั่งยืนระยะยาวเห็นได้จากช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ธุรกิจอื่นๆอาจจะมีการหยุดชะงัก แต่ธุรกิจปลูกกล้วยนี้ โตขึ้น 200 %  จากการที่อาหารเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องกินทุกวัน และในช่วงเทศกาลตรุษจีนยังมีการไหว้สารทจีน รวมถึงวันพระวันเจ้า ซึ่งหนึ่งในผลไม้ที่ใช้ไหว้คือกล้วย จึงไม่ใช่ไม้ผลที่เป็นกระแสเหมือนทุเรียนแต่เป็นผลไม้ที่มีการใช้อยู่ตลอด 0โอกาสกล้วยหอมทองยังกว้าง 

     เพราะฉะนั้น การปลูกกล้วยหอมทองยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อย่างที่กล่าวเฉพาะสาขาแม็คโครในภาคใต้ ผลผลิตในปัจจุบันสามารถส่งมอบให้ได้เพียง 10 สาขาเพราะผลผลิตในภาคใต้ไม่เพียงพอ อีก 8 สาขายังต้องนำผลผลิตจากภาคอื่นลงมาเสริม ไม่รวมถึง ตลาดการนำไปแปรรูปที่กลุ่มยังไม่ได้ทำ และความชื่นชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
     ยังมีตลาดส่งออกที่จะไปในนามของ Product of Thailand จากที่กลุ่มเคยทำส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและเยอรมันระยะหนึ่ง แต่ต้องหยุด เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงจึงไม่สามารถส่งได้อย่างต่อเนี่อง  
     “ตลาดยังไม่ตันและยังกว้าง เพราะกล้วยเป็นไม้กึ่งล้มลุก ระยะปลูก 8 เดือน และไม่ใช่พืชกระแสที่คนจะแห่โค่นยางพาราแล้วมาปลูกกล้วย 100 % จะเป็นการปลูกแบบพืชแซม ขณะนี้มีไม่ถึง 50 %ที่ปลูกกล้วยเชิงเดี่ยว”สมชัยกล่าว 
2 สิ่งที่ \'เกษตรกร\'ไม่ควรทำ หากไม่อยากเทผลผลิตบนถนนซ้ำๆ
แม็คโครมั่นคงเกษตรกรมั่นคง
     นอกจากนี้ สวนนายปานและกลุ่มวิสาหกิจฯยังมีการปลูกมะละกอพันธุ์เรดเลดี้ และรับซื้อไม้ผลอื่นๆจากทั่วประเทศ เพื่อส่งผลผลิตให้กับแม็คโครด้วย ภายใต้แบรนด์ “สวนนายปาน” ด้วยแนวคิดว่า ไม้ผลบางชนิด พื้นที่ภาคใต้ปลูกแล้วต้นทุนอาจจะสู้พื้นที่ภาคอื่นไม่ได้ จึงไม่ส่งเสริมให้ปลูก แต่จะเป็นการรับซื้อและส่งต่อ เช่น เมลอนจากสุพรรณบุรี แก้วมังกรจากภูเรือ  เป็นต้น
           ปัจจุบัน สวนนายปานและกลุ่มวิสาหกิจฯ ถือได้ว่าผลผลิตบางตัวสามารถกำหนดตลาด และราคาได้เอง เท่ากับเป็น “เจ้าตลาด”
        “ตราบใดที่แม็คโครยังอยู่ กลุ่มเกษตรกรเรายังขายผลผลิตได้ นี่คือความมั่นคงของเกษตรกรที่มีความเชื่อมั่นต่อตลาด”สมชัยกล่าว 

สิ่งที่รัฐ-เกษตรกรไม่ควรทำ
     เกษตรกรทั่วประเทศประสบปัญหาเดียวกันหมด คือ “ตลาด”  อย่างตอนนี้ที่มังคุดมีผลผลิตล้น จนราคาตกต่ำ กลุ่มวิสาหกิจฯก็มีการรับซื้อส่งให้แม็คโครวันละ 2 ตัน เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง
      ข้อเสนอที่จะทำให้เกษตรกรในภาพรวมเกิดความมั่นคงยั่งยืน สมชัย บอกว่า เกษตรกรต้องทำ 2 อย่าง คือ 

1.ไม่ปลูกพืชกระแส เพราะไม่เคยทำให้เกษตรกรร่ำรวยแต่นายทุนร่ำรวย

และ 2.อย่าลงไปเล่นในสินค้าที่ภาครัฐส่งเสริม เพราะรัฐจะส่งเสริมตามงบประมาณที่มีเมื่อหมดก็คือจบ

    ส่วนของภาครัฐ ต้องไม่ทำให้กลไกตลาดบิดเบี้ยว ซึ่งการประกันราคา การจำนำ การชดเชยต่างๆ จะทำให้เกษตรกรรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว 
     เพราะฉะนั้น ทางออกที่ง่ายที่สุด คือ ภาครัฐไปช่วยเหลือในส่วนของปัจจัยการผลิตแล้วปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เกษตรกรก็ไม่ตามไปปลูกพืชกระแสหรือพืชที่รัฐส่งเสริม โดยเกษตรกรต้องมีตลาดก่อนที่จะปลูก
    โมเดลสวนนายปานเรื่องของ “ตลาดนำผลผลิต” และให้เกษตรกรอยู่ในระบบ Contract Farming ที่ทำและสำเร็จแล้ว สามารถนำไปเป็นต้นแบบให้กลุ่มเกษตรกรอื่นๆ โดยปลูกพืชชนิดอื่น และคุยกับตลาดก่อนที่จะปลูก
     อย่างเช่นมังคุดหรือไม้ผลอื่นๆ ไม่ควรต้องมีภาพปัญหาการเทผลผลิตทิ้ง เพราะหน่วยงานเกษตรที่มีเจ้าหน้าที่เกษตรอยู่ทุกตำบล มีข้อมูลอยู่แล้วว่าออกดอกเมื่อไหร่ ผลผลิตน่าจะออกสู่ตลาดปริมาณเท่าไหร่ ควรนำข้อมูลหารือกับพาณิชย์เพื่อที่จะนำไปหาตลาดหรือพ่อค้าที่จะรับซื้อ โดยที่พาณิชย์ต้องไม่เข้ามารับซื้อเองโดยใช้งบประมาณภาครัฐ ไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกร 

2 สิ่งที่ \'เกษตรกร\'ไม่ควรทำ หากไม่อยากเทผลผลิตบนถนนซ้ำๆ
แผนรองรับผลกระทบเอลนีโญ

     หอการค้าไทย คาดการณ์ว่า เอลนีโญ จะสร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทยในปี 2566 เสียหายราว 4.8 หมื่นล้านบาท 
        ในส่วนของไม้ผล สมชัย กล่าวว่า ภาพรวมเริ่มเห็นผลกระทบแล้ว เห็นได้จากเงาะที่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25-28 ลูกต่อกิโลกรัม แต่ในปีนี้เงาะที่รับซื้อมาจะอยู่ที่ 34-35ลูกต่อกิโลกรัม แสดงว่าได้รับผลจากภัยแล้ง ทำให้ขนาดลูกเล็กลง  หรือลองกองก็เช่นกัน 
      สำหรับการปลูกกล้วยหอมทองของกลุ่มฯ ที่จะมีนโยบายอยู่แล้วว่า หากไม่มีแหล่งน้ำจะไม่ส่งเสริมให้ปลูก กรณีเกษตรกรที่มีแหล่งน้ำเดียวมีเฉพาะสระ ไม่มีแหล่งน้ำที่ 2 เป็นบาดาล คลองหรือชลประทานเข้ามาเติม ทำให้เจอปัญหาโดยในปี 2566 ผลผลิตเสียหายไปนับ 10,000 ต้น จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาก็ดีขึ้น ก็จะทำให้เกษตรกรต้องการที่จะปลูกเพิ่ม
     ดังนั้น ในปี  2567  กรณีเกษตรกรที่จะเข้ามาปลูกเป็นแปลงใหม่ จะต้องเพิ่มเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้มีแหล่งน้ำอย่างน้อย 2 แหล่งเป็นต้นทุน มิฉะนั้นจะไม่อนุมัติให้ปลูก เพราะคาดการณ์ว่าเกษตรกรจะต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญแน่นอน

      “หากเกษตรกรเสียหาย สวนนายปานก็เสียหาย ตลาดก็เสียหาย  กระทบเป็นลูกโซ่ จึงเริ่มมีการวางแผนรองรับ หลายแปลงปลูกเริ่มมีการเจาะบาดาล ขุดสระเพิ่ม และลดปริมาณการปลูกลง”สมชัยกล่าว