'เอไอ'ไทยพร้อมแค่ประยุกต์ใช้ ไร้สร้างใหม่ขึ้นเอง ปี70ขาดคนกว่า 3 แสน

'เอไอ'ไทยพร้อมแค่ประยุกต์ใช้ ไร้สร้างใหม่ขึ้นเอง ปี70ขาดคนกว่า 3 แสน

ราชบัณฑิตเผยสถานการณ์เอไอไทย คนเคยใช้แต่ยังขาดความรู้ว่าคืออะไร  วงการมหาวิทยาลัย-รัฐพร้อมเรื่องเอไอแค่การประยุกต์ใช้ ไร้การคิดสร้างใหม่ขึ้นเอง ย้ำไม่ต้องกลัวโดนแย่งงาน คาดปี 70 ไทยขาดคนสร้างเอไอกว่า 3 แสน

เมื่อเร็วๆนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร การเสวนาวิชาการเรื่อง “ยุคเอไอมาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม?” จัดโดยสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตสภา ร่วมกับ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “ความพร้อมของประเทศไทยในการรับมมือโลกยุคปัญญาประดิษฐ์” โดยศ.ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิต  อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า  เอไอไม่ใช่ยาวิเศษ แก้ปัญหาทุกอย่างไม่ได้   

         สถานการณ์ปัจจุบันเอไอของไทย ในส่วนของมหาวิทยาลัยตื่นตัวเรื่องเอไอมา 20 กว่าปีแล้ว  จนปัจจุบันเกือบทุกเรื่องจะมีอัลกอลิทีมด้านเอไอสอดแทรกอยุ่แม้แต่เครือข่ายคอมพิวเตอร์  ซึ่งทั้งอาจารย์และนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีความพร้อม อยากจะทำเอไอมาก แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือจะเป็นการเน้นประยุกต์อัลกอลิทึมที่มีอยู่แล้วกับสาขาต่างๆ  เช่น เรื่องของการประหยัดพลังงาน เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ดังนั้น งานวิจัยใหม่อย่างเรื่องของพลังงานที่นำมาใช้จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และไม่ลุยปัญหาใหม่ที่เป็นแกนแท้ของสาขา ปัญหาเชิงทฤษฎีอัลกอลิทึมใหม่

  รัฐบาลก็มีการตื่นตัว และมีแผนปฏิบัติการที่จะประยุกต์ใช้เอไอ แต่ไม่ได้คิดที่จะสร้างของใหม่ขึ้นมา ขาดเป้าหมายของงานวิจัยที่ชัดเจนว่าประเทศจะไปทางไหน จะรออัลกอลิทึมของต่างชาติ หรือจะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีคุมทิศทางด้านนี้ของโลก ซึ่งควรจะต้องแก้ไขปรับปรุง ส่วนประชาชนก็ตื่นตัว เคยใช้เอไอแต่ไม่รู้คืออะไร เช่น พูดในไลน์แล้วเปลี่ยนเป็นตัวอักษรก็คือเอไอแต่คนไม่รู้ บางคนใช้ในทางที่สร้างความเดือดร้อน ไม่รู้เบื้องหลังว่าโปรแกรมทำงานอย่างไร และกลัวที่จะมาแย่งงานทำ ดังนั้น รัฐบาลควรสอนให้ประชาชนรู้ว่าเบื้องหลังเอไอทำงานอย่างไร รู้ถึงความสามารถของเอไอเพื่อจะได้รู้เท่าทันถึงอันตรายและประโยชน์

    “อย่างแชทจีพีที ส่วนตัวคิดว่าอันตรายระดับหนึ่ง อย่างเช่นหากนักเรียนส่งรายงานของตนเองที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ให้ตรวจสอบจะถูกเก็บข้อมูลทันที แล้วข้อมูลวิจัยจะรั่วไปต่างประเทศทันที โอกาสโดยขโมยความคิดจะสูงมาก แต่อีกด้านก็มีประโยชน์ในด้านธุรกิจ ส่วนที่กังวลว่าเอไอจะมาแย่งงานไม่ต้องไปกลัว เพราะเอไอทำไม่ได้หลายเรื่อง และที่ว่าจะมาทำลายล้างมนุษย์ ส่วนตัวมองว่าทั้งหมดอยู่ที่คน หากเป็นคนดีก็จะไม่สร้างโปรแกรมทำลายล้าง คนชั่วจะสร้างแปรแกรมที่ทำลายล้าง ซึ่งเครื่องไม่รู้เรื่องแต่อยู่ที่คนสร้าง”ศ.ดร.ชิดชนก กล่าว

\'เอไอ\'ไทยพร้อมแค่ประยุกต์ใช้ ไร้สร้างใหม่ขึ้นเอง ปี70ขาดคนกว่า 3 แสน

      ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมมากุล ราชบัณฑิต รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า ใน 2 ปีที่ผ่านมา งบประมาณวิจัยด้ายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อยู่ที่ 304.7 ล้านบาท แยกเป็นการทำวิจัยราว 54.49 ล้านบาทให้นักวิจัยชั้นสูง  และพัฒนา/เพิ่มทักษะ ราว 250 ล้านบาท  ทั้งนี้ ความพร้อมด้านการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย จากการศึกษา พบว่า หากมหาวิทยาลัยยังมีการผลิตคนด้านดิจิทัลเช่นนี้ ตามสัดส่วนที่เป็นอยู่ ในปี 2570 ไทยจะขาดบุคลากรระดับที่นำดิจิทัลไปสร้างโมเดลไม่ใช่ระดับของการใช้งาน ราว 6 แสนคน  โดยกว่าครึ่งจะเป็นด้านเอไอ

    ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ  ผอ.กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ NECTEC อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวว่า  ในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ.2565-2570 พิจารณาจากบริบทความพร้อมและการประยุกต์ใช้เอไอในประเทศไทยใน 4 ด้าน คือ 1.ด้านกำลังคน  ขาดศูนย์กลางเพื่อรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กำลังคนที่มีความสามารถไม่เพียงพอ และศักยภาพทางเทคโนโลยีมีจำกัด

2.ด้านการประยุกต์ใช้งานของภาคธุรกิจ การใช้งานเอไอในภาคธุรกิจยังจำกัด งานวิจัยและนวัตกรรมในประเทศไทยยังไม่พร้อมไปสู่การใช้งาน ความปลอดภัยในการประยุกต์ใช้งานยังไม่เพียงพอ มาตรการส่งเสริมการใช้งานยังไม่เพียงพอ
3.ด้านจริยธรรม กฎหมาย กฎระเบียบและมาตรฐาน หลักเกณฑ์จริยธรรมเอไอยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ขาดกฎหมายและกฎระเบียบที่เหมาะสม ขาดการวางแผนและเตรียมความพร้อมทางด้านสังคมในมิติต่างๆ

และ4.ด้านปัจจัยสนับสนุนของประเทศ ขาดศูนย์กลางในการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ ขาดยุทธศาสตร์เอไอประเทศ และขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้งานระดับประเทศ