‘ซีอีโอดัง’ เตือน ‘สภาวะฟองสบู่เอไอ’ แม้อาจดึงฟันด์โฟลว์กว่า 33 ล้านล้านบาท

‘ซีอีโอดัง’ เตือน ‘สภาวะฟองสบู่เอไอ’ แม้อาจดึงฟันด์โฟลว์กว่า 33 ล้านล้านบาท

“Emad Mostaque” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Stability AI เตือน ในอนาคตอาจเกิด “ฟองสบู่” ในอุตสาหกรรม AI แม้ยังเชื่อว่าในอนาคตอาจสร้างเม็ดเงินลงทุนได้สูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33 ล้านล้านบาท)

Key Points

  • เอแมด  มอสตาเก ซีอีโอ บริษัท สเตบิลิตี้ เอไอ เตือน ในอนาคตอาจเกิด “ฟองสบู่” ในอุตสาหกรรม AI ในอนาคต
  •  แต่ เอแมด  มอสตาเก มองว่าปัจจุบันทั้งโลกยังไม่เข้าสู่สภาวะฟองสบู่ดังกล่าว
  • ในอนาคตอุตสาหกรรมเอไออาจสร้างเม็ดเงินลงทุนได้สูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33 ล้านล้านบาท)
  • หากเทคโนโลยีเอไอพัฒนาถึงขีดสุด นักลงทุนอาจเริ่มลดการลงทุนในหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ แล้วไปหุ้นบริษัทที่พัฒนาเอไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานล่าสุดว่า เอแมด  มอสตาเก (Emad Mostaque) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัทสเตบิลิตี้ เอไอ (Stability AI) กล่าวในประเด็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับนักวิเคราะห์จากยูบีเอส (UBS) ว่า 

มีความเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมเอไอจะสร้างมูลค่าทางการลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33 ล้านล้านบาท) แต่ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเอไอก็อาจนำไปสู่ สภาวะ “ฟองสบู่” ลูกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 

นอกจากนี้ มอสตาเก ยังตั้งชื่อให้กับฟองสบู่ลูกนี้ว่าเป็น “ดอท เอไอ บับเบิล” (Dot AI Bubble) ซึ่งคล้ายกับ “ดอท คอม บับเบิล” (Dot Com Bubble) ซึ่งเป็นภาวะการเก็งกำไรอันเกินควรของตลาดหลักทรัพย์ภาคเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ.2543 อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังไม่ก้าวเข้าสู่ฟองสบู่ลูกนี้

“ในขณะนี้เรายังอยู่ในระยะเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเอไอเท่านั้น และยังไม่พร้อมสู่การใช้งานในวงกว้างแบบรอบด้านเช่น ในภาคธนาคาร แต่ในอนาคตสักวันหนึ่งต้องได้นำไปใช้อย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ บริษัท สเตบิลิตี้ เอไอ เป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลัง “สเตเบิล ดิฟฟิวชัน” (Stable Diffusion) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาระบบเอไอที่ได้รับความนิยมมากกว่าแพลตฟอร์มโอเพ้นเอไอ (OpenAI) โดยสเตเบิล ดิฟฟิวชัน จะช่วยให้ผู้ใช้สร้างภาพเสมือนจริงได้ด้วยการป้อนข้อความ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วมากกว่าล้านคน และระดมทุนได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ 

นอกจากนี้ด้วยความสามารถในการสร้างภาษา และเนื้อหาภาพที่เหมือนมนุษย์ตั้งแต่เริ่มต้น ส่งผลให้ เอไอผู้สร้าง (Generative AI) ถือเป็นเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่ของคนหลายกลุ่ม ทั้งนักวิชาการ ผู้บริหารในห้องประชุม หรือแม้แต่นักเรียน 

โดยเอไอเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นคุณลักษณะทั่วไปของการท่องเว็บออนไลน์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และผู้ช่วยสำหรับกิจวัตรในบ้าน 

นอกเหนือจากการใช้งานของผู้บริโภคแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังถูกนำไปใช้ทางการแพทย์, การขนส่ง, หุ่นยนต์, วิทยาศาสตร์, การศึกษา, การเงิน, การป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมอื่นด้วย

ขณะที่เอไอผู้สร้างเป็นส่วนประกอบของแชตบอตต่างๆ เช่น ChatGPT, Google Bard และ Microsoft Bing Chat หรือแม้กระทั่งเอไอที่สามารถสร้างรูปภาพ อย่าง DALL-E เป็นต้น 

ทั้งนี้ มอสตาเก กล่าวเพิ่มเติมว่า จำนวนเงินลงทุนทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเอไออยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากนวัตกรรมดังกล่าวมีความสำคัญมากกว่า 5G ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานสำหรับความรู้ และบรรดาธนาคารอย่างยูบีเอส (UBS) จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ เนื่องจากจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทุกคน (Mass Market) ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เขายังประเมินว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการพัฒนาเอไอ ซึ่งหลายอุปกรณ์ก็ยังไม่พร้อมที่จะนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

“ที่สำคัญ ผมมองว่าบริษัทที่ใช้เอไอในทางที่ไม่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจจะได้รับการลงโทษโดยตลาดหุ้น” 

 

“ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ ที่ผ่านมา Google สูญเสียเงินถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ภายในหนึ่งวัน หลังจากที่ Bard AI Chatbot แสดงข้อมูลที่ไม่ถูกต้องท่ามกลางงานเปิดตัวสินค้า” 

ทั้งนี้ มอสตาเก กล่าวทิ้งท้ายว่า เทคโนโลยีเอไอไม่ใช่เรื่องแต่งในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป และแม้จะยังมีโอกาสในการใช้ในโลกการลงทุนน้อยอยู่ แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าบรรดานักลงทุนต้องหันมาให้ความสนใจนวัตกรรมดังกล่าว 

เมื่อถึงเวลานั้น นักลงทุนจะย้ายการลงทุนจาก “บริษัทผลิตชิปที่ดีที่สุด” ไป “บริษัทที่เป็นเจ้าของเอไอที่มีประสิทธิภาพที่สุด” เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล 

 

 

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์