ระวังสัตว์พิษ ‘หน้าฝน’ งู ตะขาบ แมลงก้นกระดก เปิดวิธีป้องกันทุกบ้านต้องรู้

ระวังสัตว์พิษ ‘หน้าฝน’ งู ตะขาบ แมลงก้นกระดก เปิดวิธีป้องกันทุกบ้านต้องรู้

“หน้าฝน” ระวัง! “สัตว์มีพิษ” หนีน้ำท่วมเข้ามาหลบในบ้าน ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัว “กรมอนามัย” เปิดวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษเข้าบ้านและหากโดนพิษแล้วต้องปฐมพยาบาลอย่างไรบ้าง? เช็กที่นี่!

หน้าฝน” เป็นช่วงที่ “สัตว์มีพิษ” หนีน้ำท่วมและอาจเข้ามาหลบในบ้านเรือนของประชาชนได้ โดยเฉพาะบ้านที่ต้นไม้พุ่มไม้เยอะ ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือริมคลองต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะเจอสัตว์มีพิษหนีน้ำเข้ามาในบ้านได้บ่อย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัวได้

ทางหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จึงออกมาเผยแพร่ข้อมูลและแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังสัตว์มีพิษต่างๆ เป็นพิเศษในช่วงหน้าฝน โดยให้ข้อมูลตั้งแต่วิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสัตว์พิษ รวมถึงหากโดนพิษแล้วต้องรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมข้อมูลที่ทุกบ้านต้องรู้มาให้แล้ว ดังนี้ 

 

  • สัตว์มีพิษที่มักมาพร้อม "หน้าฝน" มีอะไรบ้าง? 

"กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข" เปิดเผยว่า ช่วงหน้าฝนมักจะมีสัตว์มีพิษเข้าบ้านเรือนเพื่อหนีน้ำท่วม โดยเฉพาะหากบ้านไหนไม่ได้ตัดแต่งต้นไม้ สวน หรือไม่จัดระเบียบในบ้านจนมีซอกหลืบหรือกองสิ่งของ ก็ยิ่งทำให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาได้ โดยแมลงและสัตว์มีพิษที่มักพบบ่อยในฤดูฝนมี 4 ชนิด ได้แก่ งู ตะขาบ แมงป่อง และแมลงก้นกระดก

ขณะที่ข้อมูลจาก "สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร" ก็ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน และแนะนำให้ระวังสัตว์มีพิษอื่นๆ เพิ่มเติมอีก 3 ชนิด ได้แก่ กิ้งกือ แมงมุมมีพิษบางชนิด และปลิง ที่มักไหลมากับแหล่งน้ำธรรมชาติ

ระวังสัตว์พิษ ‘หน้าฝน’ งู ตะขาบ แมลงก้นกระดก เปิดวิธีป้องกันทุกบ้านต้องรู้

 

  • วิธีป้องกันสัตว์มีพิษไม่ให้เข้าบ้านช่วงหน้าฝน ทำแบบนี้!

สำหรับวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายจากสัตว์มีพิษในหน้าฝน กรมอนามัย แนะนำว่า ให้ประชาชนทำความสะอาดบ้านแยู่เสมอ และจัดระเบียบสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกตัวบ้าน ไม่ให้มีมุมอับชื้น หรือไม่ให้มีมุมวางกองสิ่งของรกรุงรัง เพราะพื้นที่ที่เป็นจุดอับชื้นหรือมีซอกหลืบต่างๆ มักจะเป็นแหล่งหลบซ่อนอาศัยของแมลงและสัตว์มีพิษต่างๆ ได้

นอกจากนี้ คนในบ้านก็ควรคัดแยกขยะก่อนทิ้ง และทิ้งขยะหรือเศษอาหารในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์มีพิษและแมลงเหล่านั้น

ส่วนบริเวณภายนอกบ้าน แนะนำให้ประชาชนตัดแต่งต้นไม้ พุ้มไม้ และสนามหญ้าต่างๆ ให้โล่งเตียน หากลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านควรตัดแต่งไม่ให้รกรุงรัง พร้อมกำจัดเศษใบไม้ใบหญ้าทุกครั้ง ไม่ควรกองทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เป็นที่อาศัยของสัตว์มีพิษได้

ระวังสัตว์พิษ ‘หน้าฝน’ งู ตะขาบ แมลงก้นกระดก เปิดวิธีป้องกันทุกบ้านต้องรู้

 

  • เปิดวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากโดนพิษจากสัตว์มีพิษ

1. งู 

มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะ รก และมีแหล่งอาหาร เช่น หนู โดยให้สำรวจบริเวณรอบบ้าน ปิดช่องทางที่หนูและงูสามารถเข้ามาได้ รวมทั้งตรวจสอบระบบท่อไม่ให้มีรูรั่วหรือรอยแตก ควรตรวจสอบรองเท้าก่อนใส่ เนื่องจากงูอาจหลบซ่อนอยู่ หากพบงูอยู่ในบ้านให้โทร 199 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจัดการ

วิธีปฐมพยาบาลกรณีถูกงูกัด : ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรขันชะเนาะ เคลื่อนไหวขาหรือแขนที่ถูกกัดน้อยที่สุด โดยใช้ไม้กระดาน กระดาษแข็งๆ รองดามไว้ จากนั้นให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากทำได้ขอนำซากงูที่กัดไปด้วย หรือจดจำลักษณะงูที่กัด เพื่อแจ้งแพทย์ให้การรักษาถูกต้อง รวดเร็ว 

2. ตะขาบ 

พบได้ทั่วไปในแถบร้อนชื้น มีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่ 3-8 เซนติเมตร ลำตัวแบนราบ มีปล้อง 15-100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ มีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งดัดแปลงมาจากปล้องแรกของลำตัว เขี้ยวพิษเชื่อมต่อกับต่อมพิษ เมื่อโดนกัดจะมีอาการปวด คัน บวมแดงบริเวณที่ถูกกัด

วิธีปฐมพยาบาลกรณีถูกตะขาบกัด : ให้ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบน้ำอุ่นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวม หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากพบว่ามีอาการบวมหรือปวดเพิ่มขึ้นให้รีบไปพบแพทย์

ระวังสัตว์พิษ ‘หน้าฝน’ งู ตะขาบ แมลงก้นกระดก เปิดวิธีป้องกันทุกบ้านต้องรู้

3. แมงป่อง 

มีรูปร่างคล้ายปู ลำตัวมีขนาดยาว 2-10 เซนติเมตร ประกอบด้วยส่วนหัวและอกรวมกัน ส่วนท้องลักษณะยาวและแบ่งเป็นปล้องๆ ส่วนปากมีลักษณะเป็นก้ามขนาดใหญ่คล้ายก้ามปูไว้สำหรับจับเหยื่อ ส่วนหางมีปลายหางยกขึ้น ปล้องสุดท้ายมีต่อมพิษอยู่ เป็นอวัยวะสำหรับใช้ต่อยสัตว์อื่นเพื่อป้องกันตัว ผู้ที่ถูกแมงป่องต่อยจะปวดบวมบริเวณที่ถูกต่อย โดยมากจะมีอาการในวันแรกและมักหายได้เอง 

วิธีปฐมพยาบาลกรณีถูกแมงป่องต่อย : ให้ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบเย็นครั้งละประมาณ10 นาที เพื่อลดอาการบวม หากบวมมาก มีไข้สูง หรือมีอาการแพ้พิษหรือมีอาการรุนแรง เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ต้องรีบไปหาหมอ

4. แมลงก้นกระดก 

มีลำตัวเป็นปล้องๆ มีสีดำสลับสีแดง หรือสีแดงอมส้ม ห้ามตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่า ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไป หากสัมผัสโดนตัวแมลง พิษของมันจะทำให้ปวดแสบปวดร้อน มีอาการคัน ผิวไหม้ ผื่นแดง และเป็นตุ่มน้ำ

วิธีปฐมพยาบาลกรณีถูกแมลงก้นกระดกต่อย : ให้จุ่มหรือแช่บริเวณที่โดนแมลงในน้ำเย็น 5-10 นาที สลับกับการเป่าให้แห้ง หากมีอาการอักเสบรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที

------------------------------------------

อ้างอิง : กรมอนามัย, สำนักอนามัย กทม., Thaihealth