เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+: การถูกกีดกันจากการทำงาน | ศลิษา ฤทธิมโนมัย

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+: การถูกกีดกันจากการทำงาน | ศลิษา ฤทธิมโนมัย

การถูกกีดกันจากที่ทำงานเนื่องด้วยเพศสภาพ เป็นสถานการณ์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่ค่อยเป็นข่าวจนทำให้หลงนึกไปว่า สังคมไทยก้าวหน้าจนไม่มีปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ความจริงกลับพบว่าไม่ใช่

ผลการสำรวจโดยธนาคารโลกในปี พ.ศ. 2561 พบว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ยังคงถูกกีดกันจากการได้เข้าทำงานเนื่องจากเพศสภาพของตนในอัตราที่สูง โดยแบ่งเป็นกลุ่มบุคคลแปลงเพศ (Trans) ร้อยละ 77, เกย์ (Gay) ร้อยละ 62.5, และเลสเบี้ยน (Lesbian) ร้อยละ 49 คิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 62.8

หากนำมาคำนวณร่วมกับการประมาณการสัดส่วนของ LGBTQIAN+ ในประเทศไทย (6.5%) จะได้เป็นช่วงของจำนวน LGBTQIAN+ ที่ถูกกีดกันจากการเข้าทำงานเนื่องจากเพศสภาพในประเทศไทยประมาณ 2.0 – 3.3 ล้านคนซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้

ด้านเศรษฐกิจ บริษัทที่ปรึกษาอย่าง Mckinsey ค้นพบว่า การมีพนักงานที่เป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ช่วยเพิ่มผลิตภาพให้บริษัททำกำไรมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึงร้อยละ 35

และการที่แนวโน้มของคนรุ่นใหม่มุ่งไปในทิศทางที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ย่อมหมายความว่าจะส่งผลให้สัดส่วนของพนักงานในบริษัทมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+: การถูกกีดกันจากการทำงาน | ศลิษา ฤทธิมโนมัย

หากกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกกีดกันจากการทำงาน ก็ทำให้องค์กรและประเทศไม่ได้ใช้ศักยภาพของบุคคล เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้บริษัทในทางเศรษฐกิจ หรืออีกนัยหนึ่งคือสูญเสียโอกาสจากทุนมนุษย์ไปอย่างน่าเสียดาย

สำหรับสถานการณ์ของกฎหมายไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน แม้จะมีกฎหมายเฉพาะหลายฉบับที่วางหลักเกี่ยวกับการห้ามเลือกปฏิบัติ แต่พบว่าอาจยังไม่เหมาะสมและเพียงพอในการคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติ

โดยไม่ครอบคลุมถึงการเลือกปฏิบัติหลายกรณี เช่น การเลือกปฏิบัติในภาคเอกชนในมิติการจ้างแรงงานด้วยเหตุอื่นนอกจากเหตุแห่งเพศ

ที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เคยให้ข้อเสนอแนะต่อการลดการกีดกัน LGBT ในสถานที่ทำงานไว้หลายประการ โดยภาครัฐ ควรเริ่มจากการทบทวนนโยบายระดับชาติและกฎหมายแรงงาน และปรับปรุงให้มีความเหมาะสม ควรพูดคุยกับชุมชน LGBTQIAN+

และการเจรจากับองค์กรเพื่อระบุอุปสรรคที่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อติดตามและจัดการกับการเลือกปฏิบัติในเศรษฐกิจนอกระบบ

ในภาคธุรกิจ ควรสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการไม่กีดกันบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการรวมบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงาน

ตัวอย่างบริษัทในต่างประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนพนักงานที่เป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่น่าสนใจ เช่น

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+: การถูกกีดกันจากการทำงาน | ศลิษา ฤทธิมโนมัย

บริษัท Shell ได้รวมเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมด้านความหลากหลายและการรวมเป็นหนึ่งเดียว (D&I) ขององค์กร เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ในทุกประเทศที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ

บริษัท Johnson & Johnson ได้ขยายสวัสดิการการเบิกค่ารักษาพยาบาลให้กับคู่ชีวิตของพนักงานที่เป็นเพศเดียวกัน บริษัท Google ให้สิทธิประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงคู่รักโดยที่ไม่มีการจำกัดเพศ สวัสดิการสำหรับการผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศ และสิทธิลางานเพื่อดูแลบุตรที่รับมาเลี้ยง

และบริษัท Generali มอบสวัสดิการแก่พนักงานทุกเพศสภาพให้มีสิทธิลาสมรสสูงสุด 5 วันต่อปี ลากิจเพื่อดูแลคู่ชีวิต 7 วันต่อปี พร้อมมอบสิทธิในการซื้อประกันสุขภาพกลุ่มให้แก่คู่ชีวิต เป็นต้น

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานหรือการรวมกลุ่มของแรงงาน ก็สามารถช่วยให้แน่ใจว่าแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการทำงาน และจะต้องชี้แจงและระบุปัญหาที่กระทบต่อแรงงานกลุ่มนี้ไว้ในสัญญาและนโยบายของสถานที่ทำงาน

รวมถึงสนับสนุนสมาชิกผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มีการพบปะพูดคุยและให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

แม้เดือน Pride Month เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศจะสิ้นสุดลงไปแล้วสำหรับปีนี้ แต่จะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการมุ่งหน้าผลักดันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริงในสังคม

ผู้เขียนมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนคนไทยทุกคนจะตื่นตัว มีส่วนร่วมและช่วยกันผลักดันประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างมีความหวัง

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+: การถูกกีดกันจากการทำงาน | ศลิษา ฤทธิมโนมัย

เพื่อจุดมุ่งหวังในอนาคตว่าเดือนมิถุนายน จะไม่ใช่การรอคอยอย่างยาวนาน เพื่อให้ได้ปลดปล่อยและแสดงความเป็นตัวเองอย่างเต็มที่เพียงแค่เดือนเดียว แต่เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองความสำเร็จของการผลักดัน

เพื่อให้เกิดสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันในทุกบุคคล ทุกช่วงอายุ และทุกเพศสภาพในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง.