เสียงจากภาคประชาสังคม สะท้อนนโยบายที่ต้องการจากพรรคการเมือง

เสียงจากภาคประชาสังคม สะท้อนนโยบายที่ต้องการจากพรรคการเมือง

หลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไทยชุดที่ 25 ไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา และได้มีการประกาศการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566​ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยครั้งที่ 27 จะจัดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้

Keypoint:

  • ฝากพรรคการเมืองดูแลภาคธุรกิจให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนรอบด้าน  ออกกฎหมายการต้านฟ้องการกลั่นแกล้งประชาชน การเลือกปฎิบัติ กลไกคุ้มครองผู้ให้เบาะแสคอรัปชั่น
  • ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนหากไร้ซึ่งความเป็นธรรมทางสังคม กรีนพีช แนะอย่าใช้กระแสNet Zeroเป็นข้ออ้างในการทวงคืนผืนป่า หรือจ่ายค่าไฟอย่างไม่เป็นธรรม
  • 3 แนวทางนโยบายสวัสดิการสังคมของพรรคการเมืองไทย แนวเสรีนิยม อนุรักษืนิยม และแนวสวัสดิการทั่วหน้า ประชาชนตัดสินใจให้ดีก่อนเลือกพรรค

วันนี้ (4 เม.ย.2566 ) เป็นวันแรกที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่ กกต.ประกาศจะเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 4-7 เม.ย. โดยมีหัวหน้าพรรคและตัวแทนมาลงทะเบียนเพื่อจับหมายเลขประจำพรรคจำนวน 49 พรรค เพื่อใช้ในการหาเสียงนั้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพรรคการเมืองแต่ละพรรค ได้มีการลงพื้นที่หาเสียงในแต่ละจังหวัด และนำเสนอนโยบายทั้งด้านเศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุ การศึกษา และภาคสังคมที่มีความเหมือนและแตกต่างกันออกไป 

ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน กรุงเทพ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม 16 องค์กร ได้ร่วมกันจัดงาน แถลงข่าว “เลือกตั้ง 2566: ฟังเสียงนโยบายจากภาคประชาสังคม (Civil Society's Agenda for the 2023 Thailand Election)  เพื่อสะท้อนไปยังพรรคการเมืองต่างๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รัฐบาลหนุนองค์กรภาคประชาสังคม ร่วมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาประเทศ ไฟเขียวแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1

สธ. - สปสช. ยัน "ภาคประชาสังคม" จัดบริการป้องกัน "เอชไอวี" ได้ตามปกติ

ภาคประชาสังคมเรียกร้อง 'ภาครัฐ' เร่งแก้ปัญหาสิทธิแรงงาน หลังสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพี


 

5 เรื่องที่ต้องการจากพรรคการเมือง

“สฤณี อาชวานันทกุล”  กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่าขณะนี้ทุกคนกำลังอยู่ในยุคที่ไม่ว่าจะบริษัทขนาดไหน ภาคส่วนใดต่างมีการอ้างถึงความรับผิดชอบต่อสังคม มีนโยบายเรื่องความยั่งยืน  มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจริงๆ แล้วการรับผิดชอบต่อสังคม นั่นคือ เรื่องของสิทธิมนุษยชน

สิ่งที่อยากนำเสนอพรรคการเมืองมีทั้งหมด 5 เรื่อง คือ

1.อยากให้มีการบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทย มีการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน รวมไปถึงห่วงโซ่อุปทาน และซัพพลายเชนของบริษัทด้วย

2.อยากให้ศึกษาการนำกลไกตลาดคาร์บอน มาลดปัญหา ความเสี่ยงเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย และควรใช้มาเป็นแรงจูงใจให้แก่เกษตร หรือผู้ที่อยู่กับป่า

3.การออกกฎหมายการต้านฟ้องการกลั่นแกล้งสิทธิมนุษยชน และประชาชน รวมถึงควรยกเลิกกฎหมายอาญาเรื่องนี้ ควรเหลือเพียงกฎหมายแพ่งเท่านั้น

4.การออกกฎหมายป้องกันการเลือกปฎิบัติ เพื่อสร้างแรงกดดัน และสนามแข่งที่เท่าเทียมกัน

5.กลไกคุ้มครองผู้ให้เบาะแสคอรัปชั่น คือ  การมองหาแนวทาง หรือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐ เอกชน มีกลไกคุ้มครองแก่ผู้ให้เบาะแสได้

“รูปแบบการทำงานของรัฐที่ผ่านมาในเรื่องนี้ เข้าใจว่ามีความตั้งใจดี แต่ในทางปฎิบัติขณะนี้ยังไม่ได้เป็นการทำในสิ่งที่ควรทำ ซึ่งภาคประชาสังคมสามารถจะช่วยรัฐได้ อยากให้ภาครัฐมอบการกำกับภาคธุรกิจที่มีความชัดเจน และยกระดับความรับผิดชอบมนุษยชน"  สฤณี กล่าว

 

ทวงความเป็นธรรมให้แก่สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ อยากถามแคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ ถึงการยกเลิกปฏิบัติการข่าวสารสารสนเทศหรือ Information Operation (IO) ว่าจะดำเนินการเมื่อใด เพราะที่ผ่านมาการจัดตั้งการปฎิบัติการดังกล่าวเป็นการใช้ภาษีของประชาชน แต่ดันมาจำกัดข้อมูลต่อประชาชน และอยากให้มีการจัดการเครื่องมือสอดแนมที่ละเมิดสิทธิของประชาชน

ขณะที่ “ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย   กล่าวว่าในฐานะที่ทำงานรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรม ซึ่งไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนหากไร้ซึ่งความเป็นธรรมทางสังคม เงื่อนไขที่สำคัญคือประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิสิ่งแวดล้อม พลเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดยปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ มีทั้งเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีมลพิษพลาสติก ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน รวมถึงสิทธิมนุษยชนทางทะเลและชายฝั่ง  

"สิ่งที่สังคมไทยยังขาดอยู่ คือ ความเป็นธรรม ซึ่งตอนนี้มีการใช้ Net Zero ในการเป็นข้ออ้างการทวงคืนผืนป่า หรือจ่ายค่าไฟอย่างไม่เป็นธรรมเป็นผลพวงมาจากความถดถอยการจัดการโครงสร้างพลังงานไทย ไม่มีการถ่วงดุล  เราทุกคนถูกละเมิดในเรื่องของสิทธิจากการรับมลพิษเข้าไปสู่ร่างกาย หรือการจัดการพื้นที่ชายฝั่งในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้น อยากให้มีการรับรองสิทธิของชุมชนที่พึ่งอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งตัวแทนจากทุกภาคส่วน มีมาตรการในการจะดูเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ในเรื่องของการฟื้นฟูวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มุ่งส่งเสริม สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"ธารา กล่าว

นอกจากนั้น ในส่วนของการชดเชยคาร์บอนขณะนี้กลายเป็นเครื่องมือฟอกเขียวที่บริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาแย้งคาร์บอนในไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ  ภาครัฐที่ต้องมีบทบาทตรวจสอบ สอดส่องการฟอกเขียวที่กำลังจะเกิดขึ้น และอยากให้มีการผลักดัน  กฎหมายการรายงานข้อมูลการปล่อยอากาศมลพิษของภาคธุรกิจ

รวมถึงการดูแลคนชุมชนท้องถิ่น การจัดการขยะมีส่วนร่วมในการออกแบบ และกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยอาศัยความรับผิดชอบของผู้ผลิต ขณะที่โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น  ควรจะยุติไว้ก่อน จนกว่าจะมีการทบทวนใหม่

"จากการเดินสายในนามของกรีนพีชได้มีโอกาสไปพุดคุยกับพรรคการเมืองจำนวน 3 พรรค ซึ่งขอเลือกถามแคนดิเดตจากพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า การปลูกต้นไม้ ลดคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปิดตลาดคาร์บอน จะรับประกันได้อย่างไร ว่ากลุ่มคนตัวเล็กๆ หรือกลุ่มคนที่อยู่ในเขตป่า กลุ่มชาติพันธุ์ จะไม่ได้รับผลกระทบต่อเรื่องนี้ หรือจะมีกลไกช่วยถ่วงดุล ตรวจสอบ นโยบายเหล่านี้ อย่างไร และอีกคำถามคือ จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานมากน้อยขนาดไหน"ธารา กล่าว

ถามพรรคการเมืองถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

“ปิยนุช โคตรสาร” ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย   กล่าวว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชน ซึ่งอยากเสนอให้พรรคการเมืองนำเสนอของภาคประชาสังคมไปสู่นโยบายของพรรค โดยสิ่งแรกที่อยากให้มีการดำเนินการ คือ ระงับการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสดงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันพ.ศ... และระงับการเสนอร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ..

รวมถึงพิจารณา และกลั่นกรองกลุ่มคดีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา หรือฟ้องร้องตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ประกาศและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการยุติการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงโดยสนับสนุน นับตั้งแต่ชุมชนเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563 ถึงปัจจุบันโดยทันที  และควรมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เร่งรัดทดทวนและยกเลิกประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสร้างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนพ.ศ...

"อยากให้มีการยุติการบังคับใช้โทษการประหารชีวิต  และให้มีการขึ้นทะเบียนขอสัญชาติ อย่างเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งให้เร่งรัดพิจารณาและออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ  รวมถึงการเข้าถึงและการเยียวยา อยากให้ครอบคลุมนักสิทธิมนุษยชน  ส่วนการค้ามนุษย์ อยากเสนอให้มีการทบทวนกฎหมาย   ให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนโดยมีประสิทธิภาพ และขอให้ทบทวนห้ามใช้ศาลทหารในคดีพลเรือน"ปิยนุช กล่าว

สิ่งที่อยากจะถามแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวในพื้นที่ รวมถึงพ.ร.บ.ความมั่นคงในการไม่เลือกปฎิบัติ อยากทราบถึงมุมมอง ในเรื่องเหล่านี้ 

 9 ข้อเสนอรัฐสวัสดิการกับการเลือกตั้งปี 2566

'นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์'ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)    กล่าวว่ารัฐสวัสดิการและการเลือกตั้งในปี 2566 เมื่อดูภาพรวมของพรรคการเมืองจะเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ

1.แนวเสรีนิยม กลไกตลาด นำเงินเข้าสู่ระบบ สร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ สวัสดิการเป็นภาระบุคคล การออม-การลงทุนบุคคล/กลุ่ม นำเงินบุคคลสู่ความเสี่ยงโดยกลุ่มทุน  ขาดหลักการสร้างหลักประกันทางสังคม การคุ้มครองทางสังคม สวัสดการทางการศึกษา สุขภาพ แรงงาน หลักประกันรายได้

2.แนวอนุรักษ์นิยม แนวคิดความมั่นคงของภาครัฐ เน้นสวัสดิการภาครัฐคู่ขนาดกับระบบสงเคราะห์ เป็นระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง และกล่าวได้ว่าช่วยคนจนแล้ว สวัสดิการสงเคราะห์ทำให้รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายพิสูจน์ความจน การละเมิดสิทธิ ตีตราคน เน้นความสงสาร 

3.แนวคิดสวัสดิการถ้วนหน้า สวัสดิการเกิดจากหลักสิทธิมนุษยชน ใช้ระบบถ้วนหน้า เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างความเท่าเทียมเป็นธรรม ต้องพัฒนาระบบภาษีให้มีบทบาทในการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในสังคม 

'นิติรัตน์' กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ความยากจน ในปี 2565 หนี้สินครัวเรือน 14.9 ล้านล้านคิดเป็น 86.8% ของ GDP หนี้สินเฉลี่ย 205,679 บาท เพิ่มขึ้น12%จากปี 2562 กลุ่มยากจนที่สุด 10-20% ซึ่งขณะนี้คนจนวิกฤติ หนี้สินเพิ่มขึ้น โดยพ่อแม่ที่มีฐานะในครึ่งล่าง 50% ลูกมีโอกาสอยู่แบบเดิม 65% หรือตกไปอยู่จนสุด 35% มีโอกาส 15%อยู่กลุ่มบนสุด  หากเกิดในกลุ่มคนรวยสุด 25% ของประเทศ จะมีโอกาส 46% ที่จะมีชีวิตเช่นเดิม

ส่วนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ปี 2564 ครัวเรือนที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมสูงสุด ครอบครัว 31.2% ของประเทศ ส่วนแบ่งรายได้กลุ่มรวยที่สุด 33.43% กลุ่มยากจนที่สุด 2.04% ต่างกัน 16.4 เท่า  ส่วนแบ่งทรัพย์สินทางการเงินกลุ่มรวมที่สุด ร้อยละ 54.1สูงกว่ากลุ่มจนที่สุด 30.2 เท่า ผู้ถือครองที่ดินมากที่สุด 631,263 ไร่ โฉนด 61.48% เป็นผู้ถือครองที่ดินมากที่สุด 10% ผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดกับผู้ถือครองน้อยที่สุดครอบครัวต่างกัน 855 เท่า 

ขณะที่สถานการณ์ความเปราะบาง เด็กจำนวนมาก ที่เข้าไม่ถึงการศึกษา ผู้ว่างงานของประเทศ 546,600 คน ผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ได้เบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท 10.8 ล้านคน ต่ำกว่าเส้นความยากจน 3-4 เท่า ไม่มีการปรับเพิ่มนับตั้งแต่ปี 2554 คนพิการ 2 ล้านคน อยู่ในครัวเรือนจากจน 11.01% จากครัวเรือนยากจน 15.29%  

"สถานการณ์งบประมาณ รายจ่ายปี 2566 ด้านสวัสดิการสังคม ประชาชน 14.12% แต่สวัสดิการข้าราชการ 15.36%  รายจ่ายบุคลากร 24.99% ซึ่งจะเห็นได้ว่า งบสวัสดิการของประชาชนน้อยกว่างบของข้าราชการ ดังนั้น สิ่งที่อยากเสนอรัฐสวัสดิการกับการเลือกตั้ง มีทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่ 1. เงินอุดหนุนเด็กเกิดไม่อด ลดรายจ่าย  2.การศึกษาฟรี ยกเลิกหนี้ มีเงินเดือน3.ระบบสุขภาพรวมสามกองทุนมาตรฐานเดียว 4.ที่อยู่อาศัย คุณภาพเข้าถึงได้ 5. แรงงานมีคุณค่ามีเวลา ดูแลครอบครัว 6.ประกันสังคมครอบคลุมคุ้มค่า 7.บำนาญถ้วนหน้า อิสรภาพ วัยเกษียณ 8.สวัสดิการเสมอหน้า เท่าเทียม และ 9.ปฎิรูปภาษี มีเงินเพิ่ม เติมงบสวัสดิการ"นิติรัตน์ กล่าว

สิ่งที่อยากถามแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ใน2 ประเด็น คือ ถามแพทองธาร ชินวัตร ถึง  สิทธิลาคลอด 180 วันจะเป็นไปได้หรือไม่ และจะมีสวัสดิการอะไรมาดูแลหญิงตั้งครรภ์ ส่วนอีกคำถาม อยากถามเศรษฐา ทวีสิน เรื่องการจัดเก็บภาษีความมั่นคั่ง ภาษีคนรวยเพื่อนำมาใช้ในการช่วยเหลือประเทศ จะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญ และเดิมพันสูง คือ เดิมพันระหว่างความหวังและความสินหวังของคนรุ่นใหม่ และหลายๆ เดิมพันอยากให้ดูรายละเอียด นโยบายแต่ละพรรคการเมืองก่อนจะตัดสินใจเลือกพรรคนั้นๆ 

3 ประเด็นหลักที่ผู้พิการต้องการ 

“อธิพันธ์ ว่องไว” หัวหน้าโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา  กล่าวว่าเราเป็นเสียงเล็กจากกลุ่มผู้พิการ ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ คือ กาลพลิก เป็นการเปลี่ยนปัญหาคนพิการที่มีจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น โดยมีข้อเสนอแนะนโยบายด้านสิทธิของึนพิการต่อพรรคการเมือง มี 3 ประเด็นหลักๆ คือ .1เรื่องสะพานลอย  2.ฟุตบาท และ3.ป้ายรถเมล์ เพราะการเดินทางสำหรับคนพิการในประเทศไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระได้ อยากเสนอให้มีลิฟท์ขึ้นลงสะดวก มีกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้พิการ ซึ่งสะพานลอยในเมืองไทย มีเพียงเมืองพัทยาเท่านั้นที่มีสะพานลอยคนพิการแห่งแรกในไทยเท่านั้น

ขณะที่ฟุตบาทของประเทศไทย  มีเสาไฟอยู่ตรงกลาง ไม่มีทางลาด เราต้องลงไปเข็นบนถนน เพื่อแข่งกับรถบนถนน และฟุตบาทมีความสูง ผู้พิการไม่สามารถเข็นไปสำหรับผู้พิการได้ ดังนั้น อยากเสนอให้มี Braille Block ที่ตอบโจทย์การใช้งาน ทางเลือกเชื่อมระหว่างถนนและฟุตบาท ความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร และไม่มีสิ่งกีดขวาง

ต่อมาเรื่องของป้ายรถเมล์ คือ ป้ายรถเมล์ขึ้นไม่ได้ หรือรถเมล์ไม่ค่อยจอดรับคนพิการ ข้อเสนอ อยากให้มีจอ LED บอกทางที่ตอบโจทย์คนพิการทุกประเภท มีกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัย

“นโยบายเพื่อคนพิการต้องมาจากทัศนคติด้านการสงเคราะห์ เพื่อค่าแรงผู้ช่วยคนพิการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เพื่อเพิ่มแรงจูงในให้เกิดผู้ช่วยคนพิการมากขึ้น กลไกผู้ดูแลคนพิการไม่ควรขึ้นอยู่กับอสม.เพียงอย่างเดียวพัฒนากองทุนคนพิการ ให้ใช้งานตอบโจทย์คนพิการอย่างเต็มประสิทธิภาพ”อธิพันธ์ กล่าว

ปัญหาเด็กและเยาวชนที่อยากให้ผู้ใหญ่ได้ยิน

“นัสรี พุ่มเกื้อ” หัวหน้าพรรคโดมปฎิบัติ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานเชิงนโยบาย กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม จะมีความเกี่ยวข้องกับทุกคน เช่น อากาศ ทุกคนจะเติบโตได้อย่างไร ซึ่งหากประเทศมีอากาศที่เป็นพิษ หรืออยู่ในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย  สำหรับปัญหาของเด็กและเยาวชนในขณะนี้ มี 7 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่

1. กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เช่น ทรงผม หรือเครื่องแต่งกาย

 2.เยาวชนไทยขาดทางเลือกและไม่ได้รับการสนับสนุนให้เติบโต เนื่องจากรูปแบบการเติบโต จะเป็นรูปแบบเดิมๆ เรียนหนังสือและออกไปทำงาน แต่ไม่ได้เห็นบทบาทหรือแนวทางที่เด็กและเยาวชนค้นหาตัวเอง และไปตามแนวทาง หรือความชอบของตัวเองได้

3.สุขภาพจิต และเยาวชนที่ถูกละเลย  เช่น มีการฆ่าตัวตายในสถานศึกษา แต่ไม่มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญอยู่ในพื้นที่ของเด็กที่จะช่วยเหลือเด็กได้

4. ขาดระบบช่วยเหลือที่ดีในสังคมเปราะบาง

5.สภาเด็กและเยาวชน ไม่ได้สะท้อนเสียงเยาวชนอย่างแท้จริง

6.การศึกษาดีๆ ไม่ใช่สิ่งที่เด็กและเยาวชนจะได้รับ แต่กลายเป็นทางเลือกหรือสินค้าของครอบครัว ซึ่งคนที่เข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีกว่าได้ คือคนที่มีเงินมากกว่า

7.เด็กและเยาวชนไร้ตัวตน และไร้การเยียวยา

"สิ่งที่เราต้องการ คือ รับฟัง และให้เรามีตัวตน โดยอยากให้มีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อเด็กและเยาวชน เช่น ยกเลิกระเบียบทรงผม ต้องการสนับสนุนทางเลือกให้แก่เด็กและเยาวชนในทุกด้าน ทุกความชอบ และความสนใจของเด็ก อยากให้มีการใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง  ต้องการให้รัฐเปลี่ยนแปลงระบบเครือข่ายเพื่อรองรับเด็กและเยาวชนมากขึ้น สภาเด็กและเยาวชนให้ยึดโยงกับเด็กและเยาวชน อีกทั้งเราต้องการการศึกษาที่ดี และเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดหา ทำให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี ต้องการให้มีสิทธิในการแสดงออก และพูดอะไรมีคนฟัง" นัสรี กล่าว

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเด็กและเยาวชน แต่เป็นการกำหนดชีวิตของพวกเขาในอนาคต อยากให้ทุกคนให้ความสนใจ และสำคัญกับเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไทยย้ายประเทศ ไปอยู่ที่อื่น ส่วนสิ่งที่อยากถามถึงแคนดิเดตทุกพรรคการเมือง คือ มีนโยบายในการยกเลิกระเบียบทรงผมหรือไม่?