บริษัทร่วมค้า 2 วัย สู่ ‘บำนาญ’ สูงอายุ

บริษัทร่วมค้า 2 วัย สู่ ‘บำนาญ’ สูงอายุ

คำถามสำคัญเมื่อประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดก็คือ ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลอย่างไร และประเทศมีความพร้อมมากแค่ไหน นอกจากนี้การดึงเอาศักยภาพและประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด

“ไทยพร้อมยัง..ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยโครงสร้างประชากรปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% แต่ในปี 2583 คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12% ซึ่งจะทำให้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ที่มีผู้สูงวัยถึง 1 ใน 3 ของประชากรประเทศ จึงจำเป็นต้องสร้างหลักประกันรายได้ เพื่อให้กลุ่มผู้สูงวัยมีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อสูงวัย จำเป็นที่ต้องมี “ระบบบำนาญผู้สูงอายุ” มารองรับกลุ่มคนที่สูงวัยเหล่านั้นหรือไม่

ปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนให้มีการออมในรูปแบบของสวัสดิการที่รัฐจัดให้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน กบข.ที่สนับสนุนให้ข้าราชการมีส่วนร่วมในการออมได้ 2 ส่วนคือ การออมภาคบังคับ 3% และการออมภาคสมัครใจที่ขยายได้สูงสุดถึง 30% เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ที่มั่นคงหลังเกษียณ ปัจจุบันมีข้าราชการเป็นสมาชิกทั่วประเทศรวม 1.2 ล้านคน และมีเงินในกองทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ในส่วนของภาคประชาชนก็มีกองทุนสวัสดิการชุมชน พอช. ที่รัฐจัดให้กับประชาชนในระดับชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกันทั่วประเทศกว่า 6.2 ล้านคน มีเงินกองทุนรวมทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท จากเงินของประชาชนที่เก็บสมทบร่วมกันวันละ 1 บาท นำไปใช้จัดสวัสดิการของคนในชุมชน ดูแลร่วมกันตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน, กองทุนผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ ตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 2546 ซึ่งผู้สูงวัยที่มีศักยภาพประมาณ 30% สามารถกู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 3 ปี ไปประกอบอาชีพได้ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. เพื่อสนับสนุนสิทธิ สวัสดิการ รายได้ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงวัยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วยของประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบข้าราชการ หรือประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มีขนาดกองทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาท ใช้ในการซ่อมแซมสุขภาพไปถึง 1 แสนล้านบาท และสร้างเสริมสุขภาพ 4 หมื่นล้านบาท

ทว่าระบบหลักประกันรายได้ของประชาชนไทย อยู่ในรูปแบบของสวัสดิการที่รัฐจัดให้ จำเป็นต้องบูรณาการทุกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรายได้ประชาชนหลังเกษียณ ให้แต่ละกองทุนมีความสอดคล้องกัน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอ และไม่เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว หรือส่งเสริมให้คนทั้งสองวัยมาทำธุรกิจร่วมกันรูปแบบตั้งบริษัทร่วมค้าคน 2 วัย “Intergenerational Business” ใช้ต้นทุนฝีมือและความชำนาญจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงานที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของผู้สูงวัย มาผสมกับไอเดีย และทักษะการใช้เทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่มาสร้างธุรกิจ โดยภาครัฐอาจจะให้การสนับสนุนมาตรการทางด้านภาษี การส่งเสริมการลงทุน และกำหนดกลุ่มธุรกิจที่ควรลงทุนโดยเน้นที่ความยั่งยืนลดโลกร้อน ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนายจ้างและแรงงานสูงวัย