โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เรื่องที่ยังไม่เคลียร์ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เรื่องที่ยังไม่เคลียร์ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ข่าวซีเซียม-137 เป็นภาพสะท้อนขีดความสามารถในการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านพลังงาน ที่ต่ำกว่ามาตรฐานอย่างชัดเจน ทำให้คนไทยหวาดผวากันไปทั้งบ้านทั้งเมือง

เลยเริ่มเกิดคำถามว่า ขนาดซีเซียม-137 จำนวนนิดเดียวยังจัดการไม่ได้ แล้วถ้าวันหนึ่งประเทศไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมา ความหวาดผวาของคนไทยจะพุ่งขึ้นไปถึงระดับไหน?

การเดินหน้าผลักดันให้มีการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่มีการสอบถามเกี่ยวกับความเหมาะสม คำตอบสูตรสำเร็จที่ได้คือ “ความมั่นคงทางพลังงาน” และ “รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต” คำตอบแบบนี้เหมือนกับต้องการบอกให้สังคมไทยยอมรับว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออีกแล้ว

ตารางที่แสดงไว้เป็นค่าการใช้พลังงานต่อหัวของประชากร (Per capita energy consumption) ที่วัดเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ถ้าให้เข้าใจง่ายก็คือจำนวนหน่วยในบิลค่าไฟฟ้า เป็นค่าที่เกิดจากการนำเอาค่า “กิโลวัตต์” และ “ชั่วโมง” มาคูณกัน

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เรื่องที่ยังไม่เคลียร์ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

หากเปรียบเทียบค่าของปี 2508 กับปี 2564 ซึ่งเป็นเวลาห่างกัน 56 ปี จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงที่สุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,897% ตามมาด้วยเวียดนามและอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้น 1,466% และ 909% ตามลำดับ แต่ถ้าดูค่าการใช้พลังงานต่อหัวของประชากร เราอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

หากพิจารณาตัวเลขเหล่านี้ ก็พอจะสรุปได้ว่าความต้องการใช้พลังงานของไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจริง และน่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ในด้านการจัดการพลังงาน การพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีประเด็นสำคัญ 3 ข้อ

1.ปัจจุบันนี้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มควบคู่กับความต้องการที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะการเลือกตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับความด้อยประสิทธิภาพที่ยังคงอยู่ ไม่ควรใช้เป็นเหตุผลในการเลือกใช้เทคโนโลยีสะอาดที่สกปรกที่สุดอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

2.ด้วยระดับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งในด้านต้นทุน ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความยั่งยืน ก

ารยังยึดมั่นถือมั่นอยู่กับเทคโนโลยีที่กำลังจะถูกทิ้ง จึงมิใช่วิสัยทัศน์ที่เหมาะสมของการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ นี่ยังไม่นับขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยงและจัดการผลกระทบจากอุบัติเหตุที่จะตามมา

3.ความเหลื่อมล้ำแอบแฝงซ่อนอยู่ในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กลุ่มคนที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือโรงงานและบ้านเรือนที่มีระดับรายได้ความเป็นอยู่ค่อนข้างดี บ้านคนจนอย่างดีก็มีไฟไม่กี่ดวง ทีวีสักเครื่อง พัดลม กาต้มน้ำ บ้านคนรวยที่มีทั้งแอร์ โทรทัศน์จอแบน อ่างอาบน้ำอุ่นราคาแพงระยับ

รับรองได้เลยว่าไม่ว่าจะเลือกสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหน คนที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้ามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นคนจน

การให้เขามาเสี่ยงเพื่อคนอื่น ในขณะที่ชีวิตแต่ละวันต้องดิ้นรนมากอยู่แล้วมันเป็นการซ้ำเติมเขาหรือเปล่า ทำไมต้องหาเรื่องไปเพิ่มให้เขาอีก ทำไมต้องเอาเงินจำนวนมหาศาลที่ควรใช้ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนมาใช้กับเรื่องแบบนี้

จริงอยู่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถเป็นแหล่งพลังงานที่มั่นคงในระยะยาว แต่ประโยชน์ที่ได้มานี้ต้องแลกด้วยความเสี่ยงที่สูงมาก การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีเพียงเล็กน้อยสามารถสร้างความเสียหายให้กับชีวิตของคนและสัตว์ ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาลในระยะยาว เพราะถึงตอนนี้ ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดการปนเปื้อนได้ในระดับที่น่าพอใจ

นอกจากนี้แล้วดูจากการเกิดปัญหาทำนองนี้ในอดีต ประชาชนที่เดือดร้อนไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากผู้สร้างความเสียหายและภาครัฐอย่างจริงจัง ราวกับกว่ากระบวนการยุติธรรมในบางจุดทำหน้าที่เป็นบอดี้การ์ดให้กับฝ่ายที่ก่อเรื่อง

กว่าเรื่องราวจะจบลงได้ คนที่เดือดร้อนต้องต่อสู้กันเลือดตาแทบกระเด็น ตัวเองเจ็บตัวโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ยังไม่พอ ยังต้องมาลำบากซ้ำซ้อนเพื่อนเรียกร้องสิทธิที่พึงจะได้อีก

คำถามที่ต้องถามกันอย่างจริงจังในสังคมไทยในวันนี้ คงหนีไม่พ้นการประเมินว่าความมั่นคงทางพลังงานด้วยการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มันคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ปลอดภัยทางเทคนิคและเป็นที่ยอมรับของสังคมในระดับไหน?

คุ้มหรือไม่ที่การตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ต้องแลกมาด้วยการนอนผวาของคนในชาติ? ประเด็นร้อนเหล่านี้ รัฐบาลไหนยังคิดจะเดินหน้า อาจจะกลายเป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตายของรัฐบาลนั้นได้เลยทีเดียว