โคบอลต์-60 ถึง ซีเซียม-137 กลไกกำกับดูแล ‘หละหลวม’

โคบอลต์-60 ถึง ซีเซียม-137 กลไกกำกับดูแล ‘หละหลวม’

แม้ว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศไทยเคยพบกับปัญหา "โคบอลต์-60" ถูกนำออกจากที่จัดเก็บจนสร้างความเสียหายและมีผู้ป่วยรุนแรงมาแล้ว แต่ก็ยังไม่นำมาสู่การถอดบทเรียนกรณี "ซีเซียม-137" ที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกัน

กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี ซึ่งต่อมา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมประเมินว่า วัสดุกัมมันตรังสี ดังกล่าวถูกหลอมไปหมดแล้ว หลังตรวจพบระดับรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็ก (ฝุ่นแดง) ซึ่งเป็นของเหลือใช้ (by-product) จากกระบวนการหลอมโลหะ เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2543 ที่มีการนำวัตถุส่วนหัวของเครื่องโคบอลต์-60 ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่ไม่ใช้แล้ว ออกมาจากสถานที่เก็บที่ไม่มีการควบคุมดูแล นำไปเก็บในลานจอดรถร้าง จนมีคนเก็บของเก่ามาพบ และได้นำไปแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปขายแก่ร้านรับซื้อของเก่า ทำให้รังสีแผ่ออกมา จนมีผู้ป่วยรุนแรง 10 ราย ในจำนวนนี้มี 3 รายเป็นผู้ทำงานในร้านรับซื้อของเก่า นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านในรัศมี 50-100 เมตร รวม 1,614 คน ต้องเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน

ก่อนหน้านี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ตรวจสอบและการตรวจวัดระดับปริมาณรังสีในพื้นที่โรงงานหลอมโลหะที่เกิดเหตุพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในเตาหลอมโลหะจำนวน 1 เตา จากทั้งหมด 3 เตา พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในระดับต่ำ (ระดับรังสี 0.07- 0.10 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง) พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ในระบบการดูดฝุ่น (Dust Filter) และระบบกรองฝุ่น (อัตราปริมาณรังสีเท่ากับ 1.2-1.7 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง) และมีฝุ่นจำนวนหนึ่งที่อยู่ในระบบกรองฝุ่นโลหะปนเปื้อนซีเซียม-137 จากการหลอมโลหะเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค. 2566

ผู้เชี่ยวชาญภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า ซีเซียม -137 ที่เกิดเหตุมีค่าความแรงรังสี (activity) ปัจจุบันอยู่ที่ 41.4 mCi ซึ่งเมื่อเทียบกับความแรงรังสีเริ่มต้นวัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 อยู่ที่ 80 mCi ในทางอุตสาหกรรมถือว่าอยู่ในระดับต่ำเพราะจากที่หาข้อมูลมีการใช้งานตั้งแต่ 1-10,000 mCi เปรียบเทียบปริมาณรังสีซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2529 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 27 kg หรือ 2.35×109 mCi เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุ 56.76 ล้านเท่า ปริมาณรังสีซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา (Fukushima Daiichi) เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 17 PBq = 4.60×108 mCi เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุนี้ 11 ล้านเท่า โดยประมาณ 24% จากเหตุการณ์นี้ถูกปล่อยลงสู่ทะเลโดยตรง

ที่สำคัญปัจจุบันยังอยู่ในขึ้นตอนการพิสูจน์ว่าซีเซียมที่ถูกหลอมเป็นชิ้นที่สูญหายไปจริงหรือไม่ อยู่ระหว่างรอกระบวนการพิสูจน์ ซึ่ง หากเทียบกับยาพาราเซตามอล จะมีขนาด 1 ใน 1,000 เท่าของเม็ดยาเท่านั้น ขณะเดียวกันว่ากันว่าทางการแพทย์ยังสามารถใช้ “Prussian blue” มารักษาภาวะพิษจากซีเซียม ในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมอยู่ภายในร่างกาย  (Internal contamination) ของคนไทยเท่านั้น ซึ่งการรักษาต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์

แม้จะเกิดขึ้นห่างกันกว่า 20 ปีทั้ง 2 กรณีคล้ายกันคือมีวัสดุกัมมันตรังสีหลุดรอดออกจากการควบคุมดูแล สะท้อนปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งต้องมีการสืบสวนและตรวจสอบเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ก่อนการสูญหายระบบการเก็บรักษาวัตถุกัมมันตรังสีการกำกับดูแลระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า แม้ว่าผลกระทบจากกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ไม่เทียบเท่ากับ เชอร์โนบิล แต่ก็มีค่าครึ่งชีวิตถึง 30 ปี ที่สำคัญจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัย “สารกัมมันตรังสี” เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยขึ้นอีก