บริการสาธารณสุขในเรือนจำ ปัญหาความท้าทายและทางออก

บริการสาธารณสุขในเรือนจำ ปัญหาความท้าทายและทางออก

เรือนจำที่มีอยู่ในประเทศไทยจำนวน 143 แห่งสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 2 แสนคน แต่ ณ สิ้นปี 2565 มีผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศราว 2.6 แสนคน

ความแออัดดังกล่าว นำมาซึ่งปัญหาการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ อย่างเหมาะสมในสถานที่กักกัน ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่าหลังจากผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวแล้ว จะยังมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่ดีหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการย้อนกลับเข้ามาในสถานราชทัณฑ์อีกอัน เนื่องมาจากการได้รับการรักษาบำบัดที่ไม่เพียงพอ

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) ค.ศ.1957

ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ควบคุมหรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ต้องขัง จะต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนอย่างมีมนุษยธรรม รวมถึงเคารพศักดิ์ศรีความแตกต่างของความเป็นมนุษย์โดยไม่สามารถละเลยได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ 

สำหรับประเทศไทยมีการพัฒนากฎหมายในงานราชทัณฑ์ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในฐานะเพื่อนมนุษย์

โดยกรมราชทัณฑ์ได้ออกพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังทุกคนพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งในประเด็นสำคัญดังนี้

(1) สิทธิการได้รับอาหาร

(2) สิทธิการได้รับเครื่องนุ่งห่มหลับนอน

(3) สิทธิได้รับการรักษาพยาบาลและการรับการรักษาทางการแพทย์

(4) การบริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

(5) สิทธิในการนับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจ

(6) สิทธิในการสื่อสาร และ

(7) การบริการเกี่ยวกับสิ่งบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ โดยไม่จำกัดความแตกต่างระหว่างเพศ วัย เชื้อชาติ และฐานความผิด

บริการสาธารณสุขในเรือนจำ ปัญหาความท้าทายและทางออก

ในส่วนของสิทธิการได้รับการรักษาพยาบาลนั้น เพื่อบรรเทาความแออัดในที่คุมขัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม

ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดบริการด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่องด้วยการมุ่ง “การคัดกรองโรค” และ “การป้องกันการเกิดโรคใหม่และควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค” ของผู้ต้องขังก่อนเข้าเรือนจำ ซึ่งจะทำให้กระบวนการรักษาพยาบาลในระยะถัดไปมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

กลไกการยกระดับระบบบริการด้านสาธารณสุขในเรือนจำสอดคล้องกับหลักการ Modern Health Care ที่เน้นป้องกันก่อนการรักษา และการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-based Health Care) ที่มุ่งให้เกิด Value ของระบบสุขภาพ โดยการพัฒนาคุณภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

(ผู้ต้องขังป่วยน้อยลงเพราะมีการป้องกันที่ดี เมื่อป่วยแล้วเข้าถึงการรักษาได้เร็ว ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา มีความผิดพลาดระหว่างการรักษาน้อยลง ไม่มีปัญหาหลังจากการรักษา และลดการรักษา เมื่อไม่มีการรักษาจะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง) ด้วยหลักการนี้ จึงช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดในการรับบริการด้านสาธารณสุขไปได้ในระดับหนึ่ง

จากการศึกษาวิจัยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากการจัดระบบบริการด้านสาธารณสุขในเรือนจำของผู้เขียน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา ในขั้นต้นพบประเด็นในเชิงบวกคือ ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้นทั้งความถี่และประเภทของการรักษาพยาบาล

การลดอัตราการออกจากเรือนจำ เพื่อไปรับการรักษาในสถานพยาบาลภายนอก การได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลในพื้นที่ และการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ต้องขัง 

บริการสาธารณสุขในเรือนจำ ปัญหาความท้าทายและทางออก

    ทว่าความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ “ช่วงรอยต่อจากเรือนจำสู่สังคมหลังพ้นโทษ” ซึ่งยังไม่มีกระบวนการและแนวทางการดำเนินงานที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า ระบบการติดตามผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งมีแนวโน้มของการกระทำผิดซ้ำอันเนื่องมาจากความสามารถในการควบคุมตนเองจากสภาวะทางจิตบกพร่อง ผู้พ้นโทษที่มีความเจ็บปวดและการเกิดบาดแผลทางใจ (Trauma)

อันเนื่องมาจากการเผชิญความเครียด ความกดดัน และการถูกตีตราจากสังคมมีโอกาสเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้หลังจากพ้นโทษ (Post Traumatic Stress Disorder, PTSD) ตลอดจนการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การหวนกลับใช้ยาเสพติด และการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ

ในหลายกรณีพบว่าผู้พ้นโทษยอมที่จะทำผิดเพื่อที่จะได้กลับเข้ามารักษาตัวในเรือนจำเนื่องจากโอกาสในการเข้าถึงระบบสุขภาพมีมากกว่าภายนอก 

    ดังนั้น หากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นสามารถบูรณาการการดำเนินงานเพื่อสร้างระบบและกลไกที่ไร้รอยต่อในการติดตามผู้พ้นโทษได้

ก็พอที่จะสร้างความมั่นใจแก่สังคมได้ว่า ผู้พ้นโทษจะไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำ หรือสร้างปัญหาให้กับสังคมด้วยเหตุผลทางสุขภาพที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตตามบรรทัดฐานทางสังคม

นอกจากนี้หากการดูแลและติดตามสุขภาพของผู้ต้องขังจากในสู่นอกเรือนจำ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเท่ากับเป็นการสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ

ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่สำคัญของรัฐบาลให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของกลุ่มผู้พ้นโทษได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมอีกด้วย.