“บุหรี่ไฟฟ้า” เช็กความผิด! นำเข้า-ครอบครอง-สูบในที่สาธารณะ

“บุหรี่ไฟฟ้า” เช็กความผิด! นำเข้า-ครอบครอง-สูบในที่สาธารณะ

ตรวจสอบความผิด “บุหรี่ไฟฟ้า” กรณีนำเข้า-ครอบครอง-สูบในที่สาธารณะ ตำรวจชี้แจงแล้ว จะได้รู้เท่าทันไม่ตกเป็นผู้กระทำความผิด

 ผบช.กมค.ให้ความรู้ ด้านกฎหมายเกี่ยวกับ "บุหรี่ไฟฟ้า" เป็นสินค้าห้ามนำเข้าประเทศไทย ดังนั้น ผู้ครอบครอง จึงมีความผิด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ส่วนการสูบในที่สาธารณะ เข้าหลักเกณฑ์ความผิด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากว่า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 และ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2559 กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำผ่านเข้ามาในราชอาณาจักร

ดังนั้น ผู้ที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า จึงมีความผิดฐานรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่า เป็นของที่นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงข้อกำจัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 244 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ท.ไตรรงค์ เปิดเผยว่า สำหรับการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มาตรา 4 วางหลัก ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ เนื่องจากเป็นการนำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย โดยการสูบ ดังนั้น หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ ก็จะมีความผิดฐาน สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท 

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุอีกว่า ขอฝากไว้ว่า เมื่อกฎหมายยังมีสภาพบังคับใช้อยู่ ตำรวจก็ยังต้องบังคับตามกฎหมาย แต่หากสภาพสังคมหรือประชาชนเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายในอนาคต ก็เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายหรือทางสภาต่อไป 

อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่า ประเทศปลายทางนั้น สิ่งใดสามารถนำเข้ามาในประเทศได้ หรือสิ่งใดนำเข้ามาในประเทศไม่ได้ เป็นการแจ้งเตือนให้นักท่องเที่ยวทราบ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดในประเทศปลายทาง