ไขข้อข้องใจ ทำไมยังไม่ทันหมดเดือนแรกของปี แต่หลายคนเริ่มหมดไฟ?

ไขข้อข้องใจ ทำไมยังไม่ทันหมดเดือนแรกของปี แต่หลายคนเริ่มหมดไฟ?

เมื่อก้าวสู่ศักราชใหม่ หลายคนมักตั้งเป้าหมายทำสิ่งใหม่ๆ ไว้มากมาย แต่เพราะอะไรยังไม่ทันจะหมดเดือนแรกของปีกลับหมดไฟเสียอย่างนั้น? ชวนรู้จักภาวะ “January Burnout” พร้อมวิธีแก้ไข

เมื่อก้าวเข้าสู่ปีใหม่ใครหลายคนมักเลือกใช้โอกาสนี้ในการตั้งเป้าหมายและทำมันให้สำเร็จเพื่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดี ไม่ว่าจะเป็น ออกกำลังกาย จัดบ้าน เก็บเงินก้อน หรือ ลงเรียนคอร์สสั้นๆ เพื่อเสริมทักษะตามที่ตัวเองสนใจ ซึ่งบางคนก็สามารถทำได้สำเร็จทุกอย่างที่คิดไว้ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ และมักล้มเลิกไปในช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นปีใหม่ได้ไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ

จากงานวิจัยของ Richard Evans ใน The Profs ประเทศอังกฤษ พบว่ามีหลายคนที่มีภาวะ “January Blues” หรือภาวะซึมเศร้าในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากความรู้สึกสนุกสนานที่ยังตกค้างมาจากวันหยุดยาวในการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับสภาพอากาศที่ค่อนข้างหนาว รวมไปถึงการต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) ก็ยิ่งทำให้หลายคนหดหู่มากขึ้น จนลืมปณิธานปีใหม่ของตัวเองไป และนำไปสู่ภาวะ “January Burnout” หรือ ภาวะหมดไฟ ในเดือนมกราคมในที่สุด

ดังนั้น หากตั้งใจจะทำอะไรแล้วแต่กลับต้องเจอกับภาวะหมดไฟแบบนี้ ทาง Richard Evans ก็มีข้อเสนอแนะหนทางแก้ไขอาการเหล่านี้ให้ดีขึ้น โดยสามารถทำตามง่ายๆ ได้ ดังนี้

  • ตั้งปณิธานปีใหม่ให้อยู่บนความเป็นจริง จับต้องได้ ไม่ต้องยิ่งใหญ่มาก

ผลจากการศึกษาพบว่ามีผู้คนถึงร้อยละ 80 ที่ล้มเลิกปณิธานปีใหม่ทั้งหมดไปในเดือน ก.พ. พร้อมกับเกิดความผิดหวังในตัวเอง เนื่องจากเป้าหมายปีใหม่ของคนส่วนใหญ่มักยากเกินกว่าจะทำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ หรือบางคนอาจมีเป้าหมายที่เหนือความเป็นจริงเกินไปส่งผลให้ไม่ประสบความสำเร็จ

ดังนั้นการวางแผนเปลี่ยนแปลงตัวเองและตั้งเป้าหมายในปีใหม่ จึงควรเริ่มจากเรื่องง่ายๆ และไม่ไกลตัวมาก และที่สำคัญต้องทำได้อย่างต่อเนื่อง สามารถทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ต้องรีบร้อน เช่น หากคิดว่าลดน้ำหนัก 5 กก. ภายในหนึ่งเดือน อาจเปลี่ยนเป็นลดน้ำหนักทีละ 1 กก. ไปเรื่อยๆ โดยไม่กำหนดว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด และเมื่อเวลาผ่านไปพอกลับมามองน้ำหนักตัวปัจจุบันอาจจะลดได้มากกว่าที่ตั้งใจไว้แต่แรกด้วยซ้ำ หรืออาจตั้งเป้าหมายที่ใกล้ตัวและทำได้เรื่อยๆ ตลอดปี เช่น หาเวลากินข้าวกับครอบครัวอาทิตย์ละครั้ง อ่านหนังสือ หรือ ทำอาหาร เป็นต้น และเมื่อสามารถทำเป้าหมายเล็กๆ ให้สำเร็จได้ ก็จะทำให้เรามีกำลังใจทำเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นได้ต่อไป

  • เพิ่ม “วิตามินดี” ให้ตัวเอง โดยการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านบ้าง

การเพิ่มวิตามินดีในกรณีนี้ไม่ใช่การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเดียว แต่หมายถึงการพาตัวเองออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่วันหนึ่งเสียเวลาไปกับหน้าจอค่อนข้างมาก การออกไปหาแสงแดดเพื่อรับวิตามินดีนั้น นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากการทำงานที่เหนื่อยล้ามาทั้งสัปดาห์ด้วย นอกจากนี้การได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับผู้คน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เราหลีกเลี่ยง “ภาวะหมดไฟ” ได้

  • จัดตารางชีวิตในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้ความคิดยุ่งเหยิง

หลังพ้นจากวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ การกลับมาทำงานวันแรกๆ ของใครหลายคนอาจพ่วงมากับความรู้สึกหดหู่ เพราะยังมูฟออนจากวันหยุดและการปาร์ตี้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงของชีวิตวัยทำงานทุกคนก็ต้องทำงานอยู่ดี โดยเฉพาะคนที่ยังคงต้อง WFH อยู่นั้น มีแนวโน้มว่าจะมีความรู้สึกเฉื่อยชาและมีความเครียดมากกว่าคนที่ได้กลับไปทำงานในสังคมออฟฟิศ ดังนั้นการจัดตารางเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อไม่ให้การทำงานกินเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ มากเกินไป โดยไม่รู้ตัว และเกิดภาวะหมดไฟในที่สุด

สำหรับการจัดตารางให้ตัวเองในแต่ละวัน ควรกำหนดเวลาการทำงานและพักเบรคระหว่างวันให้แน่นอน เช่น ต้องเริ่มงานกี่โมง ต้องพักกินข้าว (โดยไม่ทำงานระหว่างกิน) กี่โมง เลิกงานกี่โมง หลังจากนั้นควรให้เวลาตัวเองได้ออกกำลังกาย อ่านหนังสือเล่มโปรด หรือ ดูซีรีส์ได้ด้วย แต่ที่สำคัญอย่าทำงานหรือทำอย่างอื่นจนเลยเวลานอนและกลายเป็นคนนอนดึก เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในอนาคต

  • หาวันหยุดพักผ่อนให้ตัวเองแบบไม่ต้องรอนักขัตฤกษ์

เป็นที่รู้กันดีว่าเดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นั้น แสนจะยาวนาน และสำหรับประเทศไทยนั้นเป็นเดือนที่ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์อีกเลยหลังวันปีใหม่ ทำให้หลายคนรู้สึกห่อเหี่ยวและเฝ้ารอวันหยุดอย่างใจจดใจจ่อจนลืมโฟกัสเรื่องงาน

ดังนั้นการอนุญาตให้ตัวเองได้หยุดพักผ่อนอย่างน้อย 2-3 วัน โดยไม่กระทบกับงานและเพื่อนร่วมงานนั้นสามารถทำได้ และยังช่วยให้เราได้ชาร์จแบตชีวิตไปในตัว เพื่อให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง และอีกทั้งยังช่วยไม่ให้ตัวเองหมดไฟในการทำงานไปง่ายๆ เพราะหากต้องรอถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์ในเดือนต่อๆ ไป อาจมีหลายคนรู้สึกท้อจนเสียสุขภาพจิตไปเลยก็มี

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อแนะนำวิธีการรับมือและแก้ไขภาวะ “January Burnout” ในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งบางคนอาจมีวิธีอื่นนอกเหนือจากนี้ แต่สำหรับใครที่เริ่มรู้สึกหมดไฟแล้วลองทำตามวิธีเหล่านี้ดูก่อนก็ไม่เสียหาย

อ้างอิงข้อมูล : City Matters