ทำไม "อกหัก" แล้วทรมานเหมือนติดยา ? เปิดคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา

ทำไม "อกหัก" แล้วทรมานเหมือนติดยา ? เปิดคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา

ความรักคือสิ่งสวยงาม แต่หากรักถึงทางตันจนต้องจบความสัมพันธ์ลง ย่อมทิ้งความเจ็บปวดและทรมานไว้ บางคนมองว่าอาการ “อกหัก” เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง แต่จริงๆ แล้วมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเพราะสมองสั่งการต่างหาก

เมื่อยามมีความรัก ใครหลายคนมักจะรู้สึกว่า ไม่ว่าจะทำอะไรชีวิตก็มีความสุขรื่นเริงเสมอ โลกนี้เป็นสีชมพูไปหมด แต่หากวันใดความรักนั้นจบลง กลับรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบพังทลาย มีแต่ความเจ็บปวดและทรมาน แม้ว่าอาการ “อกหัก” จะเป็นเรื่องของหัวใจและความรู้สึก แต่รู้หรือไม่? ต้นเหตุของอาการเหล่านี้มาจาก “สมอง” สั่งการ ซึ่งอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาว่ามีความคล้ายกับอาการของคนติดยาเสพติด 

เนื่องจากความรักเป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นความรักของพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน หรือคนรัก เมื่อมีความรักคนเราจะรู้สึกมีความสุข สดชื่น และได้รับพลังด้านบวกมากขึ้น จนเป็นที่มาของชุดคำพูดที่ว่า “คนเรารักด้วยใจไม่ใช่สมอง” แต่นั่นอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด!

  • “ความรัก” กับสารเคมีใน “สมอง” เป็นของคู่กัน

อารมณ์และความรู้สึก แม้จะเป็นส่วนประกอบสำคัญของ “ความรัก” แต่ความจริงแล้ว “สารเคมีในสมอง” ก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน

ซึ่งสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความรักแบ่งได้ 3 ประเภท ได้แก่

1. ความใคร่ 

เกิดจากสัญชาตญาณ หรือแรงขับภายในที่ดึงดูดซึ่งกันและกัน โดยมี “ฮอร์โมนทางเพศ” คอยขับเคลื่อน สำหรับผู้ชายจะมีฮอร์โมนเพศชาย คือ “เทสโทสเตอโรน” ส่วนผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศหญิง คือ “เอสโตรเจน” โดยฮอร์โมนทั้งสองมีศูนย์กลางการควบคุมอยู่ในสมองส่วน “ไฮโปทาลามัส” ซึ่งเป็นสมองส่วนที่อยู่ด้านล่างของกลีบสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดันเลือด ความต้องการพื้นฐานของร่างกาย 

2. ความหลงใหล 

มักถูกเรียกอีกอย่างว่า “การตกหลุมรัก” ซึ่งทำให้มนุษย์ตกอยู่ในภวังค์แห่งความรัก อาจทำอะไรโดยที่ไม่รู้ตัว โดยการทำงานของสมองจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มสารเคมีหลายชนิด ได้แก่ “โดปามีน” (Dopamine) เป็นสารแห่งความสุขที่จะหลั่งออกมาหลังรู้สึกพึงพอใจ “อีพิเนฟริน” (Epinehrine) หรือ อะดรีนาลีน กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น เขินอาย เวลาเจอคนที่ชอบ และ “เซโรโทนิน” (Serotonin) ส่งผลต่อการแสดงออก เช่น การเผลอยิ้ม การหลบตาคนที่ชอบ เป็นต้น (รวมถึงการร้องไห้เมื่ออกหักด้วย)

3. ความผูกพัน 

จะเกิดในความสัมพันธ์ระยะยาว ถูกกระตุ้นจากฮอร์โมน 2 ชนิดคือ “ออกซิโตซิน” (Oxytocin) ฮอร์โมนด้านความสัมพันธ์ หากคู่รัก หรือคนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอยู่เสมอ จะทำให้สมองหลั่งสารชนิดนี้ออกมามาก และ “วาโสเปรสซิน” (Vasopressin) เป็นฮอร์โมนที่มีส่งผลต่อคู่รัก ทำให้เกิดความรู้สึกอยากใช้ชีวิตร่วมกัน

นอกจากฮอร์โมนต่างๆ ที่เป็นปัจจัยให้เกิด “ความรัก” แล้ว ส่วนประกอบของความรักยังมีทฤษฎีร่วมด้วย เรียกว่า “ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก” (Triangular Theory of Love) โดย โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเยล ได้อธิบายองค์ประกอบของความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความรักไว้ 3 ประเด็น ดังนี้

- ความสนิทสนม (Intimacy) : เป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ที่ทำให้คนรู้สึกผูกพันกัน เกิดความเข้าใจ เกิดความเอื้ออาทรกัน โดยความรู้สึกนี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเป็นเวลานาน และเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของทุกความสัมพันธ์

- ความใคร่หลงหรือความเสน่หา (Passion) : เป็นแรงขับภายใน เรียกว่า แรงดึงดูดทางเพศ

- ความผูกพัน (Commitment) : เป็นการตัดสินใจ หรือเป็นองค์ประกอบในด้านความคิดที่มีการผูกมัด หรือมีการทำสัญญาต่อกันว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันในระยะยาว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ผ่านมา

  • การมีความรักเปรียบเสมือนการเสพยาเสพติด ?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “การเสพติด” เกิดขึ้นจากการใช้ยาเสพติดมีฤทธิ์สั่งให้สมองกระตุ้นการหลั่ง Dopamine ออกมาจำนวนมาก ทำให้ผู้เสพรู้สึกมีความสุขเมื่อได้เสพ และจะรู้สึกซึมเศร้า โหยหา เกรี้ยวกราด เมื่อขาดยา ทำให้ผู้เสพต้องการใช้ยาเสพติดอีกหลายครั้ง จนร่างกายเลิกที่จะผลิต Dopamine ด้วยตัวเอง

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “ความรักไม่ต่างจากยาเสพติด” นั้นไม่ใช่เพียงแค่วาทกรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการทดลองมาแล้ว โดยนักประสาทวิทยา Lucy Brown และ Helen Fisher พวกเขาได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาเกี่ยวกับสมองของผู้ที่ “อกหัก” แต่กำลังโหยหาและต้องการคืนดีกับคนรักเก่า เพื่อเปรียบเทียบกับ “ผู้ต้องการยาเสพติด”

วิธีการทดลองคือ ให้อาสาสมัครดูภาพของคนรักเก่า ก่อนจะสแกนสมองด้วยเครื่อง MRI ผลการทดลองพบว่า สมองส่วน Ventral Tegmental และ Nucleus Accumbens มีการตอบสนอง คล้ายกับสมองของผู้ที่อยากยาเสพติด! 

โดยสมองส่วนนี้ ทำหน้าที่ประสานงานของระบบให้รางวัล สร้างความพึงพอใจ และ เสพติด รวมถึงสั่งให้หลั่งสารสื่อประสาท Dopamine ทำให้เรารู้สึกพอใจ มีความสุข ดังนั้นเมื่อเราได้เจอคนรัก จึงมีความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันการใช้ยาเสพติด

  • เมื่อความรักจากไป เหตุใดจึงทรมาน

เนื่องจาก “การตกหลุมรัก” นั้นเป็นอารมณ์หรือภาวะที่เกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากในด้านกายภาพการตกไม่จำเป็นต้องออกแรงเพียงแค่ปล่อยไปตามแรงโน้มถ่วง เปรียบเสมือนความต้องการของตัวเอง แต่ทว่าการ “อกหัก” หรือการต้องปีนขึ้นมาจากหลุมนั้นต้องใช้ความพยายามและต้องสู้กับแรงต้านนั่นเอง ดังนั้นในช่วงที่สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความรัก และความผูกพันออกมามาก ก็เป็นไปได้ว่าที่อาจมีช่วงเวลาหนึ่งที่สมองจะหยุดหลั่งสารเหล่านี้ออกมา เพราะสมองมีการพัฒนาตลอดเวลานั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมวันนี้รักแต่พรุ่งนี้ไม่รัก รวมไปถึงนิสัยและพฤติกรรมของแต่ละคนที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วย

สำหรับใครที่กำลังอกหัก อาจพบว่านอกจากอาการเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านไหนก็มาจาก “สมอง” เป็นหลัก ซึ่งส่งผลกระทบดังนี้

- ความเจ็บปวดทางร่างกาย : จากผลการสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบพิเศษในบางงานวิจัยพบว่า การผิดหวังในความรัก การถูกปฏิเสธ การอกหัก และการเลิกกับคนรัก กระตุ้นให้สมองทำงานแบบเดียวกันกับขณะที่มีอาการบาดเจ็บทางร่างกาย อาจรู้สึกคล้ายเจ็บปวดทางร่างกายไปด้วย แต่จะรุนแรงเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และบรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไป

- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ : คนอกหักจะเกิดอารมณ์ซึมเศร้า และนั่นส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย อาจทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงจนร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย บางรายที่เครียดอย่างรุนแรงอาจมีอาการแน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว และปวดท้องด้วย

  • อกหัก พักเสียใจได้แล้วต้องไปต่อ

แม้ว่าการทำใจและการก้าวผ่านช่วงเวลาที่แสนเศร้านั้นจำเป็นต้องให้เวลาตัวเอง แต่หากเรามีสติและจัดการอารมณ์ตามที่ควรจะเป็นได้ เราก็จะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ด้วยตัวเอง รวมถึงยังเปิดโอกาสให้ได้พบกับคนผู้คนใหม่ๆ อีกด้วย ส่วนใครที่ยังตัดใจไม่ได้สักที ลองดูคำแนะนำเหล่านี้ที่อาจช่วยได้ 

1. อย่าจมปลัก ลุกขึ้นมาและก้าวต่อไป การคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านไปแล้วไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา แต่ควรเปิดใจเผชิญหน้ากับความจริง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันจบไปแล้ว จะช่วยให้กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง

2. ปล่อยวาง เพื่อจะได้กลับมารักตัวเองและมีความสุขด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ควรรีบคบหรือคุยกับใครคนใหม่ทันที แต่ควรใช้เวลาระหว่างนี้หาความสุขและสำรวจตัวเอง ทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ครั้งก่อน

3. ร้องไห้ให้พอ ข้อนี้สำคัญมาก ต้องไม่กลัวที่จะร้องไห้ เพราะการร้องไห้ออกมานั้นจะช่วยระบายความเจ็บปวดได้และทำให้รู้สึกโล่งใจมากขึ้น ส่งผลให้สมองหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมา ทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยให้เลือดสูบฉีดได้ดียิ่งขึ้น

4. พาตัวเองออกมา อยู่ให้ห่างจากคนรักเก่า เลิกติดต่อหรือเว้นระยะห่างให้มาก หันไปใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนแทน เพื่อเลี่ยงการจดจ่อและนึกถึงแต่เรื่องเก่าๆ ที่ทำให้เราเจ็บช้ำ

5. ดูแลสุขภาพกายให้ดี เพราะมันช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตให้แช็งแกร่งขึ้นได้อีกทาง หันไปออกกำลังกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เดิน ปั่นจักรยาน เป็นต้น เพราะจะช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนิน และสารนอร์อิพิเนฟริน ทำให้กระตุ้นการทำงานของสมองและปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นได้

6. ไม่ปล่อยให้ตัวเองว่าง พยายามหากิจกรรมทำตลอดเวลา เพื่อมุ่งความสนใจไปที่สิ่งอื่นและป้องกันการเกิดความคิดฟุ้งซ่าน เช่น จัดห้องใหม่ ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ หรือออกไปดูหนังฟังเพลงกับเพื่อนๆ เป็นต้น

7. สร้างสังคมใหม่ หากลุ่มเพื่อนใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมที่จะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ เช่น เรียนดำน้ำ เรียนศิลปะ หรือเรียนดนตรี หรือกีฬาที่ไม่ต้องเล่นคนเดียว เป็นต้น

8. ไม่ปิดกั้นตัวเองจากความรัก การอกหักอาจทำให้กลัวการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น การเยียวยาแผลใจที่ถูกควรรักษาเพื่อให้สามารถเปิดใจมีความรักที่ดีได้อีกครั้ง ไม่ใช่การปิดใจและปฏิเสธความสัมพันธ์ครั้งใหม่

ถึงแม้จะมีเรื่องของวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ท้ายที่สุดแล้วความรักไม่ว่าจะเป็นรูปแบบก็จำเป็นต้องมีอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อเราเข้าใจทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวกับความรักแล้ว แม้จะเสียใจกับความรักที่ผิดหวัง แต่เชื่อว่าใช้เวลาไม่นานก็จะตั้งสติได้ และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ในที่สุด

----------------------------------

อ้างอิง : พบแพทย์, Better You, สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลเพชรเวช