ศูนย์ทรัพยากรมนุษย์สูงวัย : บทเรียนจากญี่ปุ่น

ศูนย์ทรัพยากรมนุษย์สูงวัย : บทเรียนจากญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น ประเทศที่วันนี้มีผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปเกือบ 30% ของประชากรได้วางแผนรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัยล่วงหน้ามากว่า 40 ปีแล้ว ในปี พ.ศ. 2517 มีการตั้งศูนย์ทรัพยากรมนุษย์สูงวัย (Silver Human Resource Centers: SHRCs) ขึ้นเป็นครั้งแรก

จากปีที่ก่อตั้งจนถึงปี 2562 มีจำนวน 1,335 ศูนย์ทั่วประเทศ รวมสมาชิกกว่า 710,000 คน เฉพาะในโตเกียวมีศูนย์ที่ว่านี้ถึง 58 แห่ง มีสมาชิกราว 80,000 คน (Vorralak Dheeranantakul, 2021) ศูนย์ทรัพยากรมนุษย์สูงวัย จะทำหน้าที่หางานให้ผู้สูงวัยที่พ้นจากงานประจำแล้วแต่ยังแข็งแรงทำงานได้

โดยเป็นตัวกลางระหว่างผู้ว่าจ้างซึ่งมีทั้งเอกชน รัฐบาล หรือบุคคลทั่วไปกับผู้สูงวัยที่ต้องการงาน ผู้ว่าจ้างจะติดต่อศูนย์พร้อมแจงรายละเอียดงานและเงื่อนไขการทำงาน ศูนย์จะพิจารณาว่าการว่าจ้างเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่ แล้วจึงติดต่อผู้ที่อยากจะทำงาน หลังจากทำงานเสร็จก็เรียกเก็บเงินจากผู้ว่าจ้าง และจ่ายเงินให้ผู้ทำงานต่อไป 

ศูนย์ให้บริการฟรีกับผู้สูงวัย การจัดตั้งศูนย์ต้องขออนุญาตและอยู่ในการควบคุมขององค์การปกครองท้องถิ่น เมื่อได้รับอนุญาตจะได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงานจากองค์กรปกครองท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง

ผู้สูงวัยที่จะเข้าสู่ระบบการว่าจ้างนี้จะต้องสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์เท่านั้น เสียค่าสมัครราว 600-3,000 เยนต่อเดือนขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละศูนย์

งานที่หาให้เป็นงานในชุมชนและเป็นงานชั่วคราว โดยให้ผู้สูงวัยมีโอกาสหมุนเวียนกันทำงานเดือนละ 8-10 วัน ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ทั้งงานที่เป็นช่วงเวลาตามตกลงอย่างงานพนักงานบริการ พนักงานเก็บเงิน พนักงานขาย และงานแบบครั้งเดียวจบ เช่น ทำสวน เลี้ยงเด็ก ทำความสะอาด แจกใบปลิว ฯลฯ

หน้าที่ของศูนย์นี้ไม่จำกัดเพียงหางานให้เท่านั้น บางศูนย์มีการอบรมเพิ่มทักษะการทำงานให้ จัดกิจกรรมทางสังคมให้สมาชิก จัดกิจกรรมจิตอาสา รวมไปถึงการขายสินค้าจากฝีมือผู้สูงวัยด้วย

   การดำเนินงานของศูนย์ทรัพยากรมนุษย์ผู้สูงวัย มีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้ผู้สูงวัยมีงานทำหลังเกษียณ (65 ปี) ทำให้มีสังคม ได้พบปะผู้คน และที่สำคัญคือได้ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง เฉพาะที่ศูนย์ในโตเกียวมีสมาชิกถึง 82% ที่ได้รับการว่าจ้าง

แต่ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ศูนย์คลายกฎให้ผู้สูงอายุทำงานได้มากขึ้น โดยอ้างว่าปัจจุบันผู้สูงอายุดูแลตัวเอง แข็งแรงพอที่จะทำงานได้มากและยาวนานขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งคือสมาชิกเรียกร้องให้มีการจ้างงานแบบประจำมากกว่าจ้างชั่วคราวอย่างปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความมั่นคงและรายได้ แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีระบบบำนาญสำหรับผู้สูงวัย แต่ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาเงินบำนาญไม่พอใช้

ศูนย์ทรัพยากรมนุษย์สูงวัย : บทเรียนจากญี่ปุ่น

การจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรมนุษย์สูงวัยที่มีญี่ปุ่นเป็นต้นแบบนี้ สมควรจะได้รับการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในประเทศไทยที่บัดนี้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่แล้ว

การให้ผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรงมีงานทำจะช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว แต่ทั้งนี้จะเหมาทำแบบญี่ปุ่นเห็นจะไม่ได้ ต้องพิจารณาเป็นพื้นที่ๆ ไป เพราะในสังคมญี่ปุ่นนั้นคนสูงวัยผ่านการทำงานเป็นลูกจ้างองค์กรเป็นส่วนใหญ่ ผิดกับประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร

การริเริ่มสามารถทำได้โดยทดลองกับพื้นที่ที่มีสภาพเป็นเมืองก่อน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการโดยใช้งบประมาณที่มีอยู่ จะส่งเสริมให้เป็นการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) ก็ยังได้

ทั้งนี้ ศูนย์เช่นนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณมากมายนัก ขออย่าได้เริ่มด้วยการสร้างอาคารที่ทำการโดยเด็ดขาด เพราะตัวอย่างอาคารขายสินค้าโอทอปทิ้งร้างมากมายเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดพอแล้ว และต้องไม่เริ่มด้วยการพาคณะไปดูงานที่ญี่ปุ่นให้สิ้นเปลืองงบประมาณ

การทำงานของศูนย์สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การสมัครสมาชิกทำได้ออนไลน์ เพียงแต่ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นแอดมิน หากจะมีการอบรมพบปะทางสังคมสามารถใช้สถานที่ขององค์กรส่วนท้องถิ่นที่สร้างกันใหญ่โตโอฬาร หรือสถานที่ของวัด โรงเรียน ฯลฯ ก็ได้

ที่สำคัญคือ ต้องเผยแพร่บริการนี้ออกไปให้กว้างขวาง เข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว สร้างฐานข้อมูลผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างให้เพียงพอและมีคุณภาพ คัดกรองผู้ว่าจ้างและผู้ทำงานอย่างเป็นระบบ สร้างความมั่นใจว่าจ้างแล้วจะได้ผู้สูงวัยที่ทำงานได้จริง รัฐบาลอาจจะมีมาตรการจูงใจให้องค์กรต่างๆ ว่าจ้างผู้สูงอายุมากขึ้น 

มีงานวิจัยหลายแหล่งที่สนับสนุนการทำงานของศูนย์ทรัพยากรมนุษย์สูงวัยว่า ช่วยทำให้ผู้สูงอายุตระหนักในคุณค่าของตัวเอง มีความหวังที่จะมีชีวิตยืนยาวต่อไป และมีเป้าหมายใหม่ๆ ในชีวิตแม้จะอยู่ในช่วงสูงอายุแล้วก็ตาม

เหล่านี้รวมๆ เรียกว่าทำให้ผู้สูงวัยมี “อิคิไก” (Ikigai) ในภาษาญี่ปุ่นซึ่งจะได้ขยายความมากขึ้นในบทความถัดไปในคอลัมน์นี้ โปรดติดตาม.